ทำ “พื้นที่เล็กๆในบ้าน” ให้เป็นพื้นที่ของ “(ครอบ)ครัว”

เพื่อนผู้อ่านหลายคนอาจจะนึกกลุ้มใจอยู่กับบ้านของตัวเองที่มีพื้นที่จำกัด สมาชิกในบ้านก็ต่างความต้องการ บ้างก็อยากจะมีพื้นที่ทำงาน พื้นที่รับแขก พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่อ่านหนังสือ หรือพื้นที่ทำงานอดิเรกต่างๆ เนื้อหาในตอนนี้เราเลยขอคุยกันถึงการจัดพื้นที่บ้านให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันได้ โดยเฉพาะการจัดสรรพื้นที่เล็กๆ ในบ้านให้เป็นพื้นที่ของทุกคน ทำกิจกรรมได้หลากหลายในพื้นที่จำกัดภายในบ้าน นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ทำอะไรร่วมกันเพิ่มขึ้น กระชับความสัมพันธ์ของคนในบ้านได้อีกด้วย  (อ่านบทความ นวัตกรรมเพื่อบ้านแห่งความสุข ครบชุดได้ที่นี่)

 

การจัดวางพื้นที่ใช้งานร่วมกัน 

เรามาเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ที่ทุกบ้านมีกันก่อน นั่นคือ “ครัว” เราจะขอแนะนำการจัดพื้นที่เล็กๆ นี้ให้ใช้งานได้คุ้มค่า จากพื้นที่ “ครัว” ให้เป็นพื้นที่ของ “ครอบครัว” ปกติพื้นที่ครัวที่เรามีอยู่ในบ้านจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทำอาหารเท่านั้น แต่เราจะแนะแนวการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นมากกว่านั้น สามารถเป็นได้ทั้งห้องนั่งเล่น ทำงาน อ่านหนังสือ สังสรรค์ หรือแม้แต่พื้นที่กิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวได้อีกด้วย

เริ่มจากการจัดพื้นที่ครัวให้เป็นแบบ “ครัวเปิด” หรือถ้าให้เข้าใจชัดเจนขึ้น คือ การเชื่อมต่อพื้นที่ครัวกับส่วนอื่นๆ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกัน เช่น ส่วนรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้น ดึงดูด  และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมหรือปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแล้ว  ยังเป็นการช่วยให้เกิดการใช้งานพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำกิจกรรมได้หลากหลาย และประหยัดพื้นที่อีกด้วย

รูปที่ 1 แสดงแนวคิดการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้าน กระตุ้นให้คนในบ้านมีปฎิสัมพันธ์ร่วมกันมากขึ้น

 

รูปที่ 2 แสดงการจัดห้องโครงการ Magnolias Ratchadamri Boulevard ให้มีการเชื่อมต่อกันของพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่ทานอาหาร และส่วนเตรียมอาหาร

 

ก) พื้นที่นั่งเล่น ทานอาหาร ส่วนเตรียมอาหารเชื่อมต่อกัน และยังเป็นจุดที่เห็นการเข้า-ออก และขึ้น-ลงของคนในครอบครัวด้วย

ข) พื้นที่ห้องนอน มองเห็นไปยังโถงกลาง ดูแลคนในบ้านได้แล้วยังทำให้ห้องดูกว้างขึ้นอีกด้วย (แสดงแนวคิดการใช้พื้นที่ต่างๆ ในบ้านเชื่อมต่อกันของโครงการ Whizdom the Exclusive)

การเลือกสีสัน 

การศึกษาข้อมูลด้านจิตวิทยาสี พบว่า สีที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ สร้างบรรยากาศการสังสรรค์ ได้แก่ สีส้ม นอกจากนั้นสีส้มยังอยู่ในกลุ่มของสีโทนร้อนที่กระตุ้นระบบน้ำย่อย เพิ่มความอยากอาหาร ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งเด็กเล็กในบ้านที่มักทานอาหารยาก และช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้กับคุณตา คุณยายในบ้านของเราอีกด้วย

การเลือกแสงสว่าง 

“แสง” ที่เราอยากจะแนะนำนี้ แบ่งเป็น “แสงธรรมชาติ” และ “แสงไฟบนโต๊ะอาหาร”  ช่วงเวลากลางวัน แสงสว่างที่เหมาะสมที่สุด คือ แสงธรรมชาติ เพราะส่งผลต่อฮอร์โมน ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ดังนั้น เราควรจัดพื้นที่ใช้งานช่วงเวลากลางวันให้มีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่มีแสงสว่างตลอดวันโดยไม่ได้รับแดด

ส่วนแสงไฟ เน้นส่วนที่เป็นโต๊ะอาหาร ควรเลือกหลอดที่มีสีส้ม หรือ Warm White หลอดชนิดนี้จะเน้นสีของอาหารให้ดูน่ารับประทาน กระตุ้นความอยากอาหารให้กับเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวของเราได้ดี

สวนครัว

จากแนวคิดหลักของเราที่จะทำให้พื้นที่ “ครัว” ให้เป็นพื้นที่ของ “ครอบครัว” นั้น เราสามารถดึงพื้นที่นอกบ้านเข้ามาร่วมด้วยได้ โดยจัดวางตำแหน่งห้องครัวให้เชื่อมต่อกับ “พื้นที่สวน” และตกแต่งสวนด้วยพืชผักสวนครัวก็จะเป็นการส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว ตั้งแต่การเลือกผักที่จะปลูก การดูแล เก็บเกี่ยวผลผลิต ไปจนถึงการคิดเมนู และการประกอบอาหาร ปัจจุบันมีรูปแบบและอุปกรณ์ตกแต่งสวนครัวให้สวยงามได้แม้จะมีพื้นที่น้อย  นอกจากนั้นการเปิดพื้นที่ครัวสู่สวนภายนอกยังช่วยในเรื่องการระบายอากาศและกลิ่นจากการประกอบอาหาร  แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นทิศต้นลมเพราะกลิ่นอาหารจะถูกพัดเข้าไปในทุกส่วนของบ้าน

รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างสวนครัวที่ใช้พื้นที่น้อยและต้นทุนน้อย เพื่อทำสวนขนาดเล็กหลังบ้านได้ (อ้างอิง:แนวคิดสวนของคุณมีชัย วีระไวทยะ)

จากแนวคิดการทำ “พื้นที่เล็กๆ ในบ้าน” ให้เป็นพื้นที่ของ“(ครอบ)ครัว” ตามที่เสนอแนะตอนนี้ เพื่อนๆ ไม่จำเป็นต้องไปทุบบ้านสร้างใหม่กันนะคะ เพียงแค่ลองจัดพื้นที่ในบ้านให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราแนะนำไป หาพื้นที่ต่อเชื่อมกับครัวให้ทุกคนในครอบครัวสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ บางทีอาจจะทำให้เกิดความอบอุ่นอย่างประหลาดจากการทำอะไรร่วมกันนะคะ เพื่อนๆ ลองนำไปใช้ดูกันนะคะ

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด