%e0%b8%9b%e0%b8%812-loft

สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพามาแง้มดูหนังสือเล่มใหม่ “อยู่ นอก กรอบ” กันสักนิด เป็นหนังสือที่จะพาเราไปชมโครงการอสังหาฯ ที่มีความแตกต่าง อย่างสร้างสรรค์รอบโลกกันเลยทีเดียว ..สำหรับหัวข้อที่ยกมาให้อ่านกันในวันนี้จะเกี่ยวกับ “ที่มาของการตกแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์” ที่หลายๆคนคงความอยากรู้ถึงที่มาที่ไปว่าสไตล์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมถึงถูกเรียกว่า “Industrial Loft” 

ทางทีมงานก็ได้ค้นหาคำตอบมาจากหลายๆ แหล่งความรู้ ก็ตรงกันนะคะว่า …การตกแต่งแบบ “Industrial Loft Style” เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสไตล์ที่มีความสวยโดยแสดงเนื้อแท้ของวัสดุ หรือเนื้อแท้ของวัสดุที่ปราศจากการตกแต่ง ด้วยการโชว์ผิวของวัสดุก่อสร้างมาจากการเปลี่ยนแปลงโกดังให้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งในบทความนี้ถ้าพาไปชมที่มาอย่างเดียวคงไม่น่าตื่นเต้น จึงจะพาไปดูตัวอย่างอาคารโกดังจริงที่ถูกดัดแปลงด้วย จะเป็นอย่างไรไปชมกันเลย 😀 

การแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์เป็นคำเรียกสั้นๆ ที่ติดปาก โดยคำว่า “Loft” แปลตรงตัวตามภาษาอังกฤษได้ว่า ห้องใต้หลังคา ซึ่งห้องใต้หลังคาถ้าเคยได้เห็นตามภาพยนต์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้เป็นห้องเก็บของ มีลักษณะของห้องใต้หลังคาที่คงโครงสร้างเดิมไว้ไม่ได้ตกแต่ง ซึ่งจริงๆแล้วเรียกเต็มๆว่า “Industrial Loft Style” นั่นเอง ที่มาของสไตล์นี้มาจากการปรับโกดังมาเป็นที่อยู่อาศัยโดยยังคงลักษณะและโครงสร้างของโรงงาน ถึงตรงนี้คงอยากจะเห็นโกดังที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นที่อยู่อาศัยกันแล้วใช่ไหมคะ เราจะพาย้อนยุคไปดูกันค่ะ

ย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ช่วงปี 1939-1945) ภายหลังจบสงครามเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่สภาวะตกต่ำ โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งปิดตัวลง อาคารโรงงานและโกดังหลายๆแห่งจึงถูกปิดไว้ บ้างก็ถูกทิ้งร้างไม่มีการใช้งาน แต่โครงสร้างของอาคารยังคงอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ ในยุคนั้นเองที่ที่อยู่อาศัยในเมืองกลับมีราคาที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ พวกกลุ่มคนที่ไม่มีกำลังทรัพย์พอจะหาซื้อหรือเช่าได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำเอาอาคารเหล่านี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ทำเป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นที่มาของการนำโกดังหรือโรงงานเก่าที่ถูกทิ้งร้างแล้วมาทำเป็นที่อยู่อาศัยจนเป็นจุดเริ่มต้นของแต่งบ้านสไตล์แบบลอฟท์ในปัจจุบัน

ด้วยโครงสร้างของเดิมที่เป็นโกดัง หรือ Warehouse จึงนิยมสร้างด้วย เหล็ก อิฐและปูนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเพียงโรงงาน การก่อสร้างจึงไม่ได้มีการฉาบเรียบ ก็ปล่อยให้เห็นอิฐและปูนจริงๆ ไม่ได้เน้นความสวยงามและความเรียบร้อยในการก่อสร้างแต่อย่างใด ถ้าพูดถึงลอฟท์คงพลาดไม่ได้ที่พูดถึงย่าน So Ho ในมหานคร New York เพราะเป็นย่านที่มีอาคารโรงงานเก่าในยุคศตวรรษที่ 19 อยู่เป็นจำนวนมาก

โรงงานเก่าในย่าน So Ho ที่หลงเหลือแต่โครงสร้างถูกนำมาแปลงดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยสไตล์ลอฟท์ ทำให้เกิดความโดดเด่นจากโครงสร้างของโกดังที่สูงกว่าบ้านปกติ โล่งๆ ไม่กั้นห้องเยอะ และเปิดเผยวัสดุจริงของโครงสร้างทั้งเหล็ก หิน ปูน จนเป็นที่มาของคำว่า “New York Loft” การตกแต่งสไตล์ Industrial Loft กลับมาบูมสุดขีดในช่วงยุค 60s เพราะเหล่าศิลปิน ดีไซเนอร์ นักเขียน และสถาปนิกในยุคนั้นต่างก็หลงใหลในห้องโล่งกว้างและอิสระในการใช้สอยพื้นที่ รวมทั้งบรรยากาศเหมาะแก่การนำมาใช้เป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงาน ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัยได้จริงด้วย

ช่วงปี 1940s โรงงานแถบย่าน SoHo เริ่มถูกรีโนเวทเปลี่ยนโรงงานเก่าให้เป็นบ้านเป็นที่แรกๆ โกดังและโรงงานในยุคนั้นจะมีลักษณะเพดานสูง เปิดโล่ง ไม่มีการกั้นห้อง (Open Plan) จึงมีพื้นที่ใช้สอยเชื่อมกันไม่เป็นสัดส่วน และมักมีชั้นลอยอยู่ใต้หลังคาซึ่งแต่เดิมเอาไว้เก็บสินค้า และนั่นเป็นที่มาของคำว่า ‘Loft’ นั่นเอง

ซึ่งอิทธิพลจากจากการดัดแปลงโกดังเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางในมหานครนิวยอร์กส่งผลให้ การตกแต่งบ้านตั้งอยู่บนพื้นฐานของความประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด เฟอร์นิเจอร์จึงมีน้อยชิ้น เน้นเท่าที่จำเป็นในการใช้งานจริง และได้คงเค้าโครงเดิมของโกดังทั้งผนังอิฐไม่ฉาบเรียบและผนังปูเปลือยไม่ทาสี ไม่มีฝ้าเพดานทำให้มองเห็นท่อน้ำเหล็กที่เป็นงานระบบภายในอาคาร ส่วนพื้นเป็นปูนขัดมันหรือใช้พื้นไม้ไม่ปูกระเบื้อง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะพิเศษของสไตล์ลอฟท์ที่ทำให้มีเสน่ห์และแตกต่าง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าอาคารโรงงานและโกดังเก่าที่ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ จะมีหน้าตาอย่างไร จึงได้นำตัวอย่างอาคารที่ถูกดัดแปลงจริงมาให้ดูกัน อาคารแรกเป็นโกดังเก่าใน San Francisco’s South Beach neighborhood, in U.S.A. ที่เคยใช้เป็นโกดังเก็บพันธบัตรและค่าธรรมเนียมถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นอพาร์ทเมนท์ ซึ่งมีเอกลักษณ์มากจนถูกจัดว่าเป็น Landmark แห่งหนึ่งในย่านนี้ก็ว่าได้ นั่นคืออาคาร The Oriental Warehouse  

อาคารนี้ถูกดัดแปลงเป็นอพาร์ทเมนต์เรียบร้อยแล้ว พื้นที่ภายในอาคารถูกแบ่งออกเป็นห้องย่อยๆ เชื่อมกันด้วยทางเดินตรงกลางที่เผยให้เห็นโครงสร้างของอาคารทั้งผนังอิฐ เสาและท่อน้ำเปลือยๆ โชว์ผิววัสดุเดิมของอาคารที่เป็นโกดัง

โดยห้องพักที่เราจะพาไปชมนั้นตั้งอยู่บนชั้นสูงสุดของอาคารคือ loft 311 ซึ่งเป็นเพียงห้องสไตล์ลอฟท์ไม่กี่ห้องในอาคารที่ยังคงเป็นฝ้าไม้ ขนาด 1,410 ตร.ม. ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง พร้อมห้องน้ำ 2 ห้อง

ภายในห้องปล่อยฝ้าเพดานให้เป็นเพดานสูงเหมือนเดิมตามลักษณะของโกดังเดิม จึงเป็นลักษณะเด่นของสไตล์ลอฟท์ที่ทำให้บรรยากาศภายในห้องดูโปร่งโล่งมาก

อีกลักษณะเด่นที่เห็นคือการเปิดให้เห็นผิวของโครงสร้างอาคาร โชว์งานระบบภายใน อย่างผนังบางส่วนที่เป็นผนังเดิมจะเป็นผนังอิฐเปลือย ส่วนโครงสร้างของคานไม้ก็ปล่อยทิ้งไว้ตามลักษณะโครงสร้างเดิม ส่วนเฟอร์นิเจอร์จะเน้นใช้แบบลอยตัวเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ใช้สอยที่ค่อนข้างกว้างจึงต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้จากการดัดแปลงจากโกดังคือ การปล่อยท่อเดินลอยไว้ไม่ได้ทำฝ้าปิด ก็ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและยังสามารถซ่อมแซมได้สะดวกด้วย ส่วนท้องคานเปิดโล่งให้เห็นโครงสร้างไม้ที่เป็นโครงสร้างดั้งเดิมของอาคาร

พอจะทราบที่มาของการตกแต่งสไตล์ลอฟท์กันแล้วนะคะ ถ้าจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการดัดแปลงโกดังเก่ามากกว่าการตกแต่งเพราะใช้โครงสร้างเดิมของโกดังมาทำเป็นที่อยู่อาศัย จึงทำให้สไตล์ลอฟท์มีความแตกต่างและน่าสนใจ จะสรุปลักษณะเด่นของลอฟท์เป็นหัวข้อสั้นๆ

loft-lr-10-of-1 

ต้นกำเนิดของลอฟท์มีที่มาจากการดัดแปลงโกดังเก่ามาทำเป็นบ้าน แต่ด้วยความสวยงามของการคงไว้ซึ่งวัสดุเดิมของตัวโครงสร้าง ความโดดเด่นในการเปิดให้เห็นวัสดุก่อสร้างของโกดังหลายๆแห่งที่ถูกดัดแปลงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งบ้านของยุคปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้มีโกดังเก่าให้ดัดแปลงมากเหมือนเมื่อก่อนแล้วแต่ก็มีผู้ที่ชื่นชอบสไตล์นี้มากมาย จนนำไปตกแต่งบ้าน คอนโดมิเนียม หรือนำไปตกแต่งร้านอาหารไปจนถึงโรงแรม ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในยุโรป อเมริกา รวมถึงในภูมิภาคเอเชียอย่างเมืองไทย อย่างไรก็ตามการตกแต่งสไตล์ลอฟท์ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย อย่างเช่น การโชว์ผนังอิฐมอญไม่ฉาบ ทำให้คงไว้ซึ่งความดิบของวัสดุตามลักษณะหลักของลอฟท์แต่ก็ทำให้ทำความสะอาดผนังบ้านยากขึ้น หรือการที่พื้นที่ใช้สอยเป็นแบบ Open Plan โล่งๆ สามารถเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ได้สะดวก แต่การไม่ได้แบ่งฟังก์ชันการใช้งานอย่างชัดเจนก็ทำให้บ้านไม่เป็นสัดส่วน และพื้นที่ที่เปิดโล่งกว้างๆแบบนี้จะเหมาะกับประเทศที่มีอากาศหนาวมากกว่า เพราะหากภูมิอากาศแบบร้อนๆอย่างบ้านเรา หากติดแอร์อาจเปลืองค่าไฟกว่าปกติเพราะเป็นห้องโล่งกว้างนั่นเอง สุดท้ายนี้หวังว่าบทนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ชื่นชอบการตกแต่งบ้านแนว ดิบๆ เท่ๆ อย่างสไตล์ลอฟท์ที่จะช่วยเพิ่มความสุขในการอยู่บ้านของทุกท่านนะคะ

 

และนี่เป็นเพียงออเดิฟเรียกน้ำย่อยจากบทความในหนังสือตอน  บ้านในยุคหลังสงครามโลก l ต้นกำเนิด Industrial Loft Style ซึ่งยังไม่ใช่เวอร์ชั่นเต็มนะ สำหรับใครที่อยากอ่านบทความฉบับเต็มพร้อมบทสรุป สามารถอ่านได้ในหนังสือ อยู่นอกกรอบ ที่จะมาแจกให้ผู้อ่านทุกท่านในงาน Think of Living Condo Expo 2017 วันที่ 4-7 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ณ สยามพารากอน ชั้น 1 แล้วเจอกันนะคะ

—–> ใครอยากได้หนังสือเล่มนี้ไปครอบครองก็สามารถลงทะเบียนรับหนังสือง่ายๆ เพียง ลงทะเบียนรับหนังสือ “อยู่นอกกรอบ” คลิกที่นี่ ได้เลยค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก