BookTrainExtend_Cover1

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ เนื่องจากช่วงนี้กระแสรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และสายที่ใกล้จะสมบูรณ์แล้วอย่างสายสีน้ำเงินกำลังมาแรงเพราะใกล้จะเปิดให้บริการในปี 2562 แล้ว ทางทีมงานเลยจะพาไป Update แต่ละสถานีกันซักหน่อยนะคะ

ถ้าใครสนใจอยากอ่านฉบับเต็มเป็นหนังสือ 4 สี พร้อมแผนผังรถไฟฟ้า สามารถลงทะเบียน ฟรี!! และรับเล่มจริงได้ที่งาน Think of Living Condo Expo 2016 วันที่  25 – 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สยามพารากอน, ชั้น 1, แฟชั่นฮอลล์

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MAPรวม_ทำเล2

หลังจากมีรีวิว Update พาชมทำเล รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ – ท่าพระ (ภาพรวม) ที่พูดถึงภาพรวมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระในภาพรวมทุกสถานีพอเป็นน้ำจิ้มกันไปแล้ว ถึงคราวของการเจาะลึกทำเลรอบๆรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินในช่วงตอนต้น ที่จะเป็นการเจาะอีก 3 สถานี ได้แก่

  • สถานีบางซื่อ (BAN)
  • สถานีเตาปูน (BN10)
  • บางโพ (BN11)

โดยถนนเส้นหลักของรถไฟฟ้าทั้งสามสถานีนี้เริ่มจากสถานีบางซื่อ ผ่านซอยปูนซีเมนต์ไทยไปยังแยกเตาปูนซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน จากนั้นระบบรางจะวิ่งไปบนถนนประชาราษฎร์สาย 2 จนถึงแยกบางโพจะเป็นที่ตั้งของสถานีบางโพ จากนั้นรางรถไฟฟ้าจะวิ่งยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเชื่อมกับสถานีบางอ้อที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลยันฮี

บริบทโดยรอบทำเลในย่านนี้จะมีลักษณะเป็นชุมชนเก่าแก่ อาคารบ้านเรือนเป็นอาคารพาณิชย์และตึกแถวทั้งสองข้างทาง มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงและมีตลาดสดแทรกตัวอยู่ในชุมชน ตามไหล่ทางหรือริมฟุตบาทก็มีร้านรวงตั้งอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารการกิน นอกจากนี้จากแผนที่จะเห็นว่าในบางสถานีอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสถานีบางโพ ที่จะมีชุมชนริมแม่น้ำและมีการคมนาคมทางเรือซึ่งมีมายาวนานแล้ว ซึ่งในเวลานี้ได้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าพาดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและรวมถึงในอนาคตจะมีการก่อสร้างสะพานเกียกกายเพื่อรองรับคนจากฝั่งธน จุดนี้เองที่เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนบริเวณนี้ จากผู้คนที่กระจุกตัวอยู่ใกล้แม่น้ำเพื่อการคมนาคมทางเรือ ก็แปลเปลี่ยนเป็นกระจายตัวอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางแทน

ทำเลสายสี นง.

มาเริ่มกันที่ สถานีบางซื่อ(BAN) เป็นสถานีต้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยสถานีนี้ถือว่าเป็น Hub ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองกับชานเมืองหลายๆจุดเนื่องจากในอนาคตจะเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล , รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม , รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน และ แอร์พอร์ตลิงค์ ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของรถไฟฟ้า MRT สถานีบางซื่อ บรรยากาศโดยรอบจะคึกคักไปด้วยพนักงานออฟฟิศ นักเรียนและชาวบ้าน เนื่องจากด้านข้างสถานีเป็นจุดจอดของรถเมล์หลายสาย รวมทั้งติดกับสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อที่เป็นชุมทางหลักของประเทศไทยไม่ว่าจะขึ้นเหนือลงใต้ก็ไปได้หมด นอกจากนี้ยังมีวินมอร์เตอร์ไซค์ แท็กซี่และรถสามล้อคอยให้บริการสำหรับคนที่ลงจากรถไฟ รถเมล์ หรือรถไฟฟ้า ดังนั้นการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะจากจุดนี้ถือว่าสะดวกมากทีเดียว

ข้างๆสถานีจะมีจุดสังเกตเป็น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เครือซิเมนต์ไทย หรือที่นิยมเรียกว่า “ปูนใหญ่” ปัจจุบันใช้ชื่อเรียกทั้งกลุ่มธุรกิจว่า “เอสซีจี” เริ่มดำเนินการครั้งแรกเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์และต่อมาได้มีการขยายกิจการไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กระดาษ โลหะ เครื่องจักรกล ปิโตรเคมี ธุจกิจจัดจำหน่าย เป็นต้น ด้านหน้า SCG จะมีวินมอร์เตอร์ไซค์วินใหญ่ รวมทั้งมีรถสามล้อจอดรอคนไม่ขาดสาย เนื่องจากบริเวณนี้จะมีทั้งพนักงาน SCG, ผู้ที่โดยสารรถไฟฟ้า MRT, ผู้โดยสารรถไฟมาจากสถานีชุมทางบางซื่อ รวมทั้งผู้ที่ลงรถเมล์มาเพื่อจะมาทำธุระในละแวกนี้

อีกด้านหนึ่งของสถานีก็จะเป็นจุดจอดของรถเมล์หลายสายซึ่งเราจะเห็นคนยืนต่อคิวขึ้นรถเมล์อยู่เรื่อยๆ และคึกคักเป็นพิเศษในช่วงเช้าและเย็น

ถัดไปเป็นตัวสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ เป็นชุมทางหลักของประเทศไทย ซึ่งแยกทางรถไฟสายใต้ออกจากทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งอาคารผู้โดยสารออกเป็นสองส่วน คือ อาคารผู้โดยสาร 1 (สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ชุมทางบางซื่อ 1) และอาคารผู้โดยสาร 2 (สายใต้ หรือ ชุมทางบางซื่อ 2) ซึ่งห่างกันราว 200 เมตร ด้านหน้าสถานีจะมีรถเข็นขายของกินรวมทั้งร้านอาหารเยอะไปหมด เพื่อรองรับทั้งผู้ที่มารอรถไฟและมารอรถประจำทางในละแวกนี้

บรรยากาศของสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อจะมีรางรถไฟ 2 ราง เพื่อไปและกลับ มีการทำทางลาดให้คนเดินและมอร์เตอร์ไซค์สามารถขับผ่านไปมาได้เหมือนกับสถานีรถไฟทั่วไป เราจะเห็นว่าข้างสถานีรถไฟจะมีพื้นที่โล่ง โดยทาง ร.ฟ.ท.มีแผนพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่กว่า 300 ไร่ในเชิงพาณิชย์  ซึ่งจะมีทั้งอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ รวมทั้งมีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างกันแล้ว

ภาพจำลองพื้นที่พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ

โดย ร.ฟ.ท.เปิดแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ เสริมศักยภาพการพัฒนาที่ดินรองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟ ระยะเวลาดำเนินการ 240 วัน

นอกจากนั้นบริเวณที่ดินแปลงใหญ่ใกล้ๆกับสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ  มีแผนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะสร้างสถานีกลางบางซื่อ (Bang sue Grand Station) ให้เป็นเป็นศูนย์กลางการเดินทางและคมนาคมขนส่งของพื้นที่กรุงเทพมหานครและเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคต่าง ๆของประเทศด้วยระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว รวมทั้งรถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และใต้  โดยตามแผนในปี 2562 สถานีกลางบางซื่อจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการ

โดยมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ รวม 305.5 ไร่ ให้เป็นเชิงพาณิชย์หรือคอมเพล็กซ์ซิตี้ อาทิ สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ ด้วยวงเงินประมาณ 68,000 ล้านบาท โดยได้นำแนวคิด TOD (Transit Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบรถไฟฟ้าให้เป็นศูนย์รวมธุรกิจประเภทต่างๆ ซึ่งเรามักจะเห็นกันในต่างประเทศ มาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาโครงการ โดยแบ่งออกเป็น

  • โซน A สมาร์ท บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ เนื้อที่ 35 ไร่ วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
  • โซน B เอเชี่ยน คอมเมอร์เชียล แอนด์ บิสซิเนส ฮับ เนื้อที่ 78 ไร่ วงเงินประมาณ 24,000 ล้านบาท
  • โซน C สมาร์ท เฮลตี้ แอนด์ ไวเบรนท์ (Vibrant) ทาวน์ เนื้อที่ 105 ไร่
  • โซน D เนื้อที่ 87.5 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบถึงศักยภาพในการพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง ภายใต้แนวคิด เวิลด์ รีเนาด์ (Renowned) การ์เด้น อินเตอร์เชนจ์ พลาซ่า

ซึ่งแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่ได้ตามแผนหรือไม่ ซึ่งถ้าสถานีกลางบางซื่อสร้างเสร็จจะส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้มีการเจริญเติบโดขึ้นอย่างมาก รวมถึงก็จะมีคนเดินทางเข้ามาในย่านนี้มากขึ้นด้วย

 

ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก VDO Market Sounding โครงการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ หรืออ่านบทความเพิ่มเติม คลิก ที่นี่

serrounding เตาปูน web

จากสถานีบางซื่อเลี้ยวมาบนซอยปูนซีเมนต์ไทยผ่าน SCG และถนนเลียบคลองประปา(ประชาชื่น)มา จะเจอ สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน (BN10) ตั้งอยู่บริเวณแยกเตาปูน ที่เป็นจุดตัดระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 2 และถนน กรุงเทพฯ – นนทบุรี เป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนและสายสีม่วงสถานีบางซ่อนได้ สภาพแวดล้อมบริเวณนี้จะไม่ต่างกับสถานีบางซื่อมากนัก ยังคงเป็นตึกแถวและอาคารพาณิชย์ มีตลาดเตาปูนหรือตลาดมณีพิมานติดกับตัวสถานีเลย ค่อนข้างสะดวกสบายในการซื้อของกินของใช้ ด้านหลังของตลาดจะติดกับถนนเลียบคลองประปาหรือถนนประชาชื่น ที่ฝั่งตรงข้ามจะเป็น Tesco Lotus ให้สามารถไปเดิน Shopping กันได้อีกค่ะ

ด้วยความที่เป็นทำเลที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ไม่ไกลจากเมืองมากนัก แถมยังเป็นรถไฟฟ้าสถานีเอนเตอร์เชนจ์กับสายสีม่วง จึงทำให้ทำเลในย่านนี้กลายเป็นทำเลฮิตสำหรับคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า โดยจะเห็นได้จากในระยะ 2-3 ปีมานี้มีคอนโดทยอยสร้างขึ้นมาตามๆกัน ไม่ว่าจะเป็น The Tree Interchange , The Stage , Rich Park2 เตาปูน และชีวาทัย Interchange เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากสถานีเตาปูนจะอยู่คร่อมแยกเตาปูนพอดี ซึ่งแยกนี้อย่างที่บอกว่าเป็นจุดตัดระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 2 และถนน กรุงเทพฯ – นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดผ่านของรถที่ไปกลับระหว่างกรุงเทพและจังหวัดนนทบุรี ดังนั้นสภาพการจราจรระหว่างวันจึงมีรถติดอยู่เป็นระยะๆ ตัวสถานีเป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์มี 2 ชั้นขนาดค่อนข้างใหญ่ วาง Cross กันเป็นเครื่องหมายบวก ตอนนี้ตัวสถานีเสร็จสมบูรณ์เริ่มทดลองวิ่งกันไปแล้วในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา และมีกำหนดการที่จะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2559 โดยสายที่ให้ทดลองวิ่งนั้นจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง เตาปูน – บางใหญ่ ส่วนเส้นทางสายสีน้ำเงินยังต้องรอให้ตัวสถานีอื่นๆเสร็จเรียบร้อยก่อนนะคะ

ติดกับสถานีรถไฟฟ้าเตาปูนจะมีตลาดสดมณีพิมาน “ตลาดเตาปูน” (ศูนย์การค้ามณีพิมาน) แทรกตัวอยู่ในชุมชนบ้านพักอาศัย ซึ่งตลาดนี้เป็นตลาดเก่าแก่ขนาดใหญ่มาก ภายในแบ่งเป็นโซนตลาดสด, โซนขายเสื้อผ้า ของใช้ เครื่องอุปโภค-บริโภค มีร้านอาหาร ร้านขนมให้เลือกหลากหลาย เรียกได้ว่ามาที่เดียวได้ครบ โดยตลาดนี้เป็นของ “คุณหญิงจี๊ด ราญรอนอริราช” ที่มีกระแสข่าวค่อนข้างหนาหูว่าได้เปลี่ยนมือไปแล้ว โดยคนที่ซื้อไปจะทุบทิ้งเพื่อสร้างคอนโดมิเนียมพร้อมศูนย์การค้าใหญ่และดันให้ตลาดเตาปูนนี้กลายเป็นสยามสแควร์ 2  ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นก็คงต้องรอดูกันไปในอนาคตค่ะ

อาคารตลาดสดสามแยกเตาปูน ภายในตลาดมณีพิมานหรือตลาดเตาปูน ตัวโครงสร้างอาคารและการจัดวางร้านค้าเป็นไปในรูปแบบดั้งเดิม ภายในอาคารนี้ส่วนใหญ่จะขายของสด เครื่องเทศ ผัก ซะเป็นส่วนใหญ่

ออกมานอกอาคารตลาดสดจะเป็นเพิงที่ต่อออกมาจากตึกแถวข้างเคียง มีทั้งร้านขายอาหาร ขายขนมทั้งแบบนั่งรับประทานและซื้อกลับบ้าน อีกฝั่งก็เป็นร้านขายเสื้อผ้า เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน รวมไปถึงร้านขายยา

ทำเลสายสี นง. (1)

ด้านหลังตลาดเตาปูนจะเป็นถนนเลียบคลองประปาหรือถนนประชาชื่น เป็นถนนที่สร้างเลียบฝั่งตะวันตกของคลองประปาในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร, อำเภอเมืองนนทบุรี และอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจริงๆแล้วตัวถนนนี้จะอยู่ระหว่างสถานีบางซื่อและสถานีเตาปูนด้วยระยะห่างที่ไม่หนีจากกันมากเท่าไหร่ สองข้างทางของถนนเส้นนี้จะมีทั้งตึกแถว อาคารพาณิชย์ บ้านพักอาศัย และก็มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นมาให้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น U Delight ประชาชื่น, Metro Sky ประชาชื่น และลุมพินีวิลล์ ประชาชื่น-พงษ์เพชร

ห้างสรรพสินค้าหลักๆของคนในย่านนี้ก็คงหนีไม่พ้น Tesco Lotus ประชาชื่น จากตลาดเตาปูนสามารถข้ามสะพานลอยบนถนนประชาชื่น แล้วเดินมาได้เลย บริเวณรอบๆ Tesco Lotus จะเต็มไปด้วยมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง สามล้อ และแท็กซี่ที่วนเวียนมารับส่งคนเรื่อยๆ พื้นที่ด้านข้าง Tesco มีร้านค้าขายของหลากหลายให้เลือกใช้เลือกช็อปกันได้อีก

Serounding บางโพ Web

สถานีต่อมาคือ สถานีบางโพ(BA11 ) ตั้งอยู่บริเวณแยกบางโพ ที่เป็นจุดตัดระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 และถนนประชาราษฎร์สาย 2 ย่านบางโพเป็นชุมชนเก่าแก่ที่คนกรุงเทพฯรู้จักกันดีพอสมควรเลยในเรื่องของเป็นแหล่งค้าไม้สารพัดชนิด มีถนนสายไม้ที่ชื่อว่า ซอยประชานฤมิตร(ถนนประชาราษฎร์ 1 ซอย 24) ที่เป็นสถานที่รวบรวมงานไม้ตั้งแต่งานตกแต่ง งานเฟอร์นิเจอร์ งานฝีมือ แม้แต่อุปกรณ์เกี่ยวกับงานไม้ เช่นสีทาไม้ เลกเกอร์ มีมารวมไว้ที่นี่ ซึ่งไม่ไกลกันจากถนนสายไม้และตัวโครงการ จะมีคลองเล็กๆที่พาดผ่านถนนประชาราษฏร์สาย 1 ที่ชื่อว่าตลองต้นซุง ในอดีตคงใช้เป็นคลองสำหรับลำเลียงและพักไม้ที่ขนส่งมาทางน้ำนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีการสัญจรทางเรือเป็นหลักด้วย โดยตัวสถานีบางโพจะอยู่ห่างจากท่าเรือบางโพประมาณ 250 เมตร เป็นระยะที่สามารถเดินถึงได้สบายๆ

สภาพแวดล้อมสถานีรถไฟฟ้าบางโพส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถวและอาคารพาณิขย์เก่าแก่ ภาพอาม่า อากงนั่งอ่านปหนังสือพิมพ์หน้าบ้านยังเป็นภาพที่มีให้เห็น โดยสภาพแวดล้อมนี้จะผสมผสานไปกับภาพตึกสูงอย่างคอนโดที่เริ่มผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น The tree บางโพ, The Tree Privata เกียกกาย, 333 Riverside, Chewathai Residence บางโพ และตึกสูงสองตึกอย่าง the tree Interchange ที่อยู่กึ่งๆระหว่างสถานีเตาปูนและบางโพ แน่นอนว่าทำเลมีความนิยมสูงขึ้นเนื่องมาจากการมาของรถไฟฟ้า แต่อีกอย่างที่เป็นจุดขายให้อาคารสูงในย่านบางโพก็เนื่องมาจากบริบทที่อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ได้อานิสงค์ในเรื่องวิวแม่น้ำเข้าไปด้วย ปัจจุบันที่ดินฝั่งบางโพจึงขยับสูงจาก 3-4 ปีก่อนที่ดินติดถนนราคาตารางวาละกว่า 1-2 แสนบาท ปัจจุบันขยับขึ้นตารางวาละตั้งแต่ 3 แสนบาทขึ้นไปแล้วค่ะ จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้เค้าก็บอกว่ามีตึกเก่าแถวนี้ประกาศขายกันเยอะ พอๆกับคนที่มาขอซื้อก็เยอะเช่นกัน

สภาพแวดล้อมบริเวณสถานีบางโพ จะเป็นตึกแถวเก่าแก่และอาคารพาณิชย์ทั้งสองข้างทาง ทั้งที่ renovate มาหลายรอบแล้วและที่ยังคงเค้าเดิมไว้ไม่เปลี่ยน ใต้ตึกแถวเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านพักอาศัยและทำการค้าหลายหลายเช่น ร้านค้าไม้, ร้านอาหาร, โรงรับจำนำ, ร้านขายมือถือ, ร้านขายขนม-เบเกอรี่ เป็นต้น ซึ่งในย่านบางโพนี้มีร้านอาหารขึ้นชื่อหลายร้านเลย ทั้งผัดไทยประทุมทิพย์, บะหมี่นายงี้ตู้ไม้ หรือร้านวิเศษไก่ย่าง เป็นต้น

จากสถานีรถไฟฟ้าบางโพไปประมาณ 250 เมตร บนถนนประชาราษฎร์สาย 2 ค่อนไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นท่าเรือบางโพ ซึ่งในปัจจุบันปิดทำการอยู่เนื่องมาจากการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าค่ะ

ทำเลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ตลาดเก่าแก่ในย่านนี้ก็คือ ตลาดบางโพ ค่ะโดยปกติเรามักจะเห็นตลาดส่วนใหญ่คึกคักกันมากในช่วงเย็นใช่ไหมคะ แต่ตลาดบางโพจะแตกต่างกับตลาดอื่นนิดหน่อยตรงที่จะคึกคักในช่วงเช้าประมาณตี 5 – 8 โมงเช้านี้คือช่วงคนมาเยอะ เหตุผลที่คนมาเช้าๆก็เพราะว่าเค้ามาซื้อของสดเข้าครัวกัน ซึ่งตลาดบางโพนี้จะ มีทั้งเขียงหมู, ผักสด, เครื่องเทศ, วัตถุดิบทำครัว, ข้าวแกงก็มี ก่วยเตี๋ยวก็มา รวมทั้งอาหารเช้า ที่หลายคนมักจะไปฝากท้องก่อนออกไปทำงาน ดังนั้นคนที่มาจึงมี 2 กลุ่มหลักๆ คือแม่ค้าที่มาซื้อของไปทำอาหาร และคนทั่วไปที่มาฝากท้องในตอนเช้า ดังนั้นเช้าๆจะคึกคักเป็นพิเศษ ส่วนช่วงเที่ยงๆก็มีบ้าง แต่เย็นๆจะเงียบไม่ค่อยมีใครมาเดินมากเท่าไหร่

อีกสถานที่ที่สำคัญที่เป็นแลนด์มาร์คในย่านบางโพ คือถนนประชานฤมิตร หรือถนนสายไม้ค่ะ ถนนเส้นนี้มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2540 โดยในสมัยผู้อำนวยการเขตบางซื่อได้ลงพื้นที่แล้วเห็นว่าซอยนี้มีผลิตภัณฑ์งานไม้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ควรอนุรักษ์เอาไว้จึงได้ปรึกษากันกับผู้ประกอบการและจัดทำซุ้มประตูไม้ขึ้น 2 ฝั่งทั้งทางเข้าและทางออกของซอยเลยค่ะ เพื่อจะให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซอยประชานฤมิตร โดยซุ้มนี้ที่เราเห็นนี้ได้รับการออกแบบจากอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ศิลปินอิสระผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ซึ่งซุ้มนี้ทำมาจากไม้ตะเคียนทอง จากโรงเลื่อยจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นไม้ที่คัดเลือกมาแล้วว่าทนแดดทนฝนเป็นอย่างดี ลงรักของแท้ ตัวหนังสือทำจากทองคำเปลวแท้เช่นกันสูงประมาณ 8 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร

จากสถานีรถไฟฟ้าบางโพมาประมาณ 1 กิโลเมตร จะเป็นแยกเกียกกาย ซึ่งหากตรงไปจะสามารถไปยังรัฐสภาใหม่ได้ แต่หากเลี้ยวขวา(จากสถานีรถไฟฟ้าบางโพ) จะเป็นทางไปยังท่าเรือเกียกกาย ซึ่งในขณะที่รถไฟฟ้ากำลังดำเนินการสร้างอยู่ ท่าเรือเกียกกายจะเป็นท่าเรือโดยสารหลักของคนในย่านนี้

เราเดินเข้ามาในสถานีก็มีร้านขายอาหารและขายขนมอยู่บ้างประปราย มีจุดจำหน่ายตั๋วและจุดรอขึ้นเรือเหมือนท่าเรือทั่วไปค่ะ ซึ่งบริเวณท่าเรือนี้เป็นจุดที่รัฐบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ชื่อว่า”สะพานเกียกกาย” รูปแบบของโครงการที่ออกแบบเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด 4-6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นอยู่ถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้ไปทางทิศตะวันตก ผ่านโครงการบ้านฉัตรเพชร บ้านบางส่วนของชุมชนสงวนทรัพย์ซอยจรัญฯ 93/1 ร้านอาหารหัวปลาช่องนนทรี และร้านอาหาร Pier92 แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่ ผ่านแยกเกียกกาย จนถึงแยกสะพานแดง แล้วเลี้ยวซ้ายใช้ถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือฝั่งตะวันตก หรือถนนกำแพงเพชร 6 แล้วผ่านแยกสะพานดำ ถนนกำแพงเพชร ถนนพหลโยธิน สิ้นสุดโครงการบริเวณหมอชิตเก่าที่สวนจตุจักร ระยะทางประมาณ 5.9 กิโลเมตร

ซึ่งสาเหตุที่สร้างสะพานแน่นอนว่าก็เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ในเส้นทางข้ามฝั่งระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ประกอบกับในบริเวณดังกล่าวจะมีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้ความต้องการเดินทางในบริเวณนี้เพิ่มสูงขึ้นอีกมากกว่า 10,000 คันต่อวันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

13679861551367986251l

ปิดท้ายด้วยภาพจำลองสะพานเกียกกายซึ่งเป็นโครงการในอนาคต ก็ต้องรอลุ้นกันว่ารัฐบาลจะอนุมัติโครงการเมื่อไหร่นะคะ

สรุป สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ เตาปูน บางโพ เป็นสถานีส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินที่จะเริ่มเปิดใช้บริการกันเร็วๆนี้แล้ว(ประมาณปี 2562) การพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางรองรับคนจากฝั่งธนและนนทบุรีเข้า-ออกเมืองเป็นหลัก สภาพแวดล้อมโดยรวมจะเป็นตึกแถวเก่าแก่ อาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัย มีการทำการพาณิชย์เล็กๆในตึกของตนเองเช่น ร้านขายของชำ  ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ร้านขายไม้ คลีนิค ร้านขายยา  และร้านขายอาหารที่ขึ้นชื่อหลายร้าน เพราะเปิดมานานจึงมีชื่อเสียงจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นแถวนี้จึงเป็นชุมชนหนึ่งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบดี เพราะนอกจากการพาณิชย์ในตึกแล้ว ยังมีตลาดแทรกตัวอยู่ในชุมชนจึงสามารถไปจับจ่ายซื้อของสดของแห้งมาทำครัวกันได้  และด้วยความที่ทำเลนี้เริ่มบูมขึ้นมามากในช่วงนี้ทำให้นอกจากตึกเก่าแล้ว ยังมีโครงการคอนโดที่พักอาศัยขึ้นมามากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบนถนนประชาราษฎร์สาย 1 และถนนประชาราษฎร์สาย 2 ซึ่งนอกจากจะมีจุดขายที่เป็นคอนโดติดรถไฟฟ้าแล้ว ยังอยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ดังนั้นหากใครต้องการคอนโดติดรถไฟฟ้า อยู่ในย่านเก่าแก่ มีความอุดมสมบูรณ์สูง ไม่กังวลเรื่องรถติด เชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้หลายสาย และอยากได้วิวแม่น้ำ(ในช่วงสถานีบางโพ-เตาปูน) ในราคาที่พอหยิบจับได้ ทำเลในย่านนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ

ความคืบหน้ารถไฟฟ้าส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ รูปนี้เอามาจากเพจใน Facebook ของ โครงการรถไฟฟ้าจะเห็นว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำไปได้เยอะพอสมควรแล้วประมาณ 69.82% ถ้ายังคงความเร็วในการก่อสร้างไว้แบบนี้คงได้ใช้กันในปี 2562

—————————————————————————————————————————————-

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “เปิดทำเลใหม่ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีบทความน่ารู้เกี่ยวกับทำเลรอบๆรถไฟฟ้าที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วมากกว่า 60% ของปัจจุบัน และสถานีใหม่ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆนี้อย่างสายสีม่วง โดยทางทีมงานของ Thinkofliving เขียนและรวบรวมเอาไว้อย่างดี ในรูปแบบ 4 สี  โดยจะมีแจกในงาน ThinkOfLiving Condo Expo 2016 ที่สยามพารากอน ชั้น 1 ลาน Paragon Hall ในวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2559 สามารถติดตามข่าวสารการลงทะเบียนรับหนังสือได้ในเร็วๆนี้