o7104

Credit : ภาพต้นฉบับ Pisut Jarintippitack

จากงานเวทีเสวนา “New Lenses on Future Cities” กลางเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา จัดโดยบริษัทน้ำมันเชลล์ ร่วมกับ UDDC (Urban Design and Development Center) หรือ “ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้รู้ว่าในระดับของการออกแบบเมืองกำลังจะมีความร่วมมือเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวเป็นทางการในเดือนมกราคม 2558 โดยจะจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างพันธมิตร 7 องค์กรด้วยกัน

สารพัดวิกฤตสุมรุมเมืองหลวง

ข้อมูลของ UDDC สำรวจคนกรุงเทพฯอยู่ในรถปีละมากกว่า 800 ชั่วโมงเพราะปัญหาวิกฤตการจราจร โดยที่ยังใช้เมืองไม่เต็มประสิทธิภาพ ผลสำรวจเมื่อปี 2550 ยังพบว่าในเขตเมืองหลวงมีที่ดินเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 18% คิดเป็น 1.8 แสนไร่

แน่นอนว่ายังไม่นับรวมที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อาทิ ที่ดินย่านมักกะสัน 500 ไร่ โรงงานยาสูบ 600 ไร่ พื้นที่ใต้ทางด่วน 600 ไร่ หรือเทียบกับสวนลุมพินี 2 สวนด้วยกัน (สวนลุมพินีมีขนาด 300 ไร่) เป็นต้น

ในขณะที่การขยายตัวของเมืองมีอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยที่สุดในอนาคตอันใกล้กำลังจะมีพื้นที่เกิดใหม่รอบสถานีรถไฟฟ้า 300 แห่งจากนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งทางราง 10 สาย หนึ่งในทางเลือกที่จะรับมือก็คือออกแบบเมืองยังไงให้ขยายตัวได้อย่างมีคุณภาพ ข้อเสนอคือเพิ่มความหนาแน่นให้ใจกลางเมืองอย่างมีคุณภาพ โดยโฟกัสใจกลางเมืองย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยานำร่อง

ผนึก 7 พันธมิตรรัฐ-เอกชน

“ระยะทางจากสะพานกรุงธนถึงสะพานกรุงเทพยาว 25 กม. แต่ใช้ประโยชน์เพียง 3 กม. ถือว่าน้อยมาก นั่นคือความสำคัญที่จะต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูเมือง”

คำระบุของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ UDDC ไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่แล้ว ทาง UDDC ริเริ่มแนวคิดพัฒนาพื้นที่ริมน้ำย่านสะพานปลา ถ.เจริญกรุง ปักหมุดหัวท้ายเริ่มกันที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ตากสิน ลากยาวมาถึงโครงการชาเทรียม 1,296 เมตร หรือขาดแค่ 4 เมตรจะเต็มระยะทาง 1.3 กม.

“จุดนี้มีศักยภาพสูงสุดเพราะมีเจ้าของที่ดินน้อยรายและส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ จึงนำเสนอให้การพัฒนามีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการใช้ประโยชน์ คาดว่าจะได้ฉันทามติจากพันธมิตรทุกรายให้ดำเนินโครงการภายในเดือนมกราคม 2558 นี้”

14199284641419928477l

ทำ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี”

นำไปสู่แนวคิดหลัก “โครงการพัฒนาฟื้นฟูย่านสะพานปลา กรุงเทพฯแบบพหุภาคี” กุญแจความสำเร็จอยู่ที่เจ้าของที่ดิน 6 ราย ประกอบด้วย 1.โครงการแลนด์มาร์ก(เช่าที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 75 ปี) ของกลุ่มคันทรี่กรุ๊ป

2.โครงการสะพานปลาคอมเพล็กซ์ ขององค์การสะพานปลา 3.ห้องแถวโฉนดเอกชนรายย่อยประมาณ 10 ราย 4.อู่กรุงเทพ รัฐวิสาหกิจกระทรวงกลาโหม 5.วัดยานนาวา 6.กรมทางหลวงชนบท เป็นที่ดินได้จากการเวนคืนรายที่ 7 คือ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นเจ้าภาพดูแลประสานงานโครงการให้แจ้งเกิด

โดยโครงการมีความยาวประมาณ 1,296 เมตร ความกว้าง 250 เมตร ปัญหาที่ผ่านมาคือต่างคนต่างทำ ย่านริมน้ำจึงถูกใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ พื้นที่ว่างก็ใช้อย่างไม่เต็มที่ สำคัญสุดคือขาดเอกลักษณ์ของความเป็นย่านเก่าแก่

วิสัยทัศน์หลักคือพยายามฟื้นฟูพื้นที่ชั้นในของเมืองให้มีคุณภาพมากขึ้นและได้ในเรื่องการประหยัดพลังงาน ทำยังไงให้ประชาชนสามารถเดินง่ายขึ้น เดินได้มากขึ้น ใช้รถน้อยลง ตรงกับคำว่า “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” หรือ Walk City ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์หลักของมหานครในโลก ไม่ว่านิวยอร์ก ฮ่องกง โตเกียว ฯลฯ ซึ่งจะถูกออกแบบและวางผังในระยะที่เดินได้ ใช้จักรยาน ทำให้การใช้รถจะน้อยลง

ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อให้ “กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองเดินได้และเดินดี อย่างน้อยที่สุดเป็นวิสัยทัศน์สำคัญในระยะ 5-10 ปีที่…ต้องทำให้ได้

ที่มา : ประชาชาติ