info งานระบบในอาคารสูง2-03

สำหรับใครที่พักอาศัยอยู่คอนโด คงจะเคยพบว่านอกจากปัญหาเกี่ยวกับความไม่เรียบร้อยในการก่อสร้างแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่มักจะเจอก็คือ “ปัญหาเกี่ยวกับงานระบบ” เช่น น้ำไม่ไหล น้ำรั่ว ไฟดับ ลิฟต์เสีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรา ไม่สามารถจะมองเห็นหรือตรวจสอบมันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ได้เข้ามาใช้งานจริง ยิ่งถ้าเราซื้อโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จก็จะไม่รู้เลยว่างานระบบในคอนโดของเราจะมีปัญหาหรือไม่ อาจจะต้องใช้วิธีดูผลงานเก่าๆของผู้รับเหมา หรือ ผู้พัฒนาโครงการว่าทำโครงการออกมาได้ดีแค่ไหน เมื่อมีการชำรุดเกิดขึ้นปัญหาคาใจก็คือ “ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” ในการซ่อมแซมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เราต้องซ่อมเอง เป็นหน้าที่ของทางโครงการ หรือ นิติบุคคล?? แล้วจะเคลมประกันได้หรือไม่?? บทความนี้ได้รวบรวมปัญหาที่พบบ่อยๆมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

งานระบบในอาคาร1

ปัญหางานระบบไฟฟ้า

ก่อนอื่นเรามาดูปัญหาที่มักจะเกิดกับงานระบบในคอนโดกันก่อน เริ่มจาก “งานระบบไฟฟ้า” ปัญหาที่เราพบบ่อยๆคือ ไฟดับ ไฟตก สาเหตุเกิดได้หลายกรณี ทั้งการดับจากการไฟฟ้าซึ่งถือว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา อีกกรณีคือ การเสียหายจากอุปกรณ์ และ เครื่องจักร เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองไม่ทำงาน สาเหตุอาจจะเกิดจากการเสื่อมสภาพหรือการดูแลรักษาไม่ดีพอ กรณีนี้ทางนิติบุคคลต้องเป็นฝ่ายดูแลซ่อมบำรุง แต่ถ้าเกิดความเสียหายชำรุดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในห้อง เจ้าของห้องจะต้องเป็นฝ่ายซ่อมเองค่ะ

งานระบบในอาคาร3

ปัญหางานระบบจ่ายน้ำประปา

ต่อมาคือ “งานระบบจ่ายน้ำประปา” หรือน้ำที่เราใช้อาบใช้กินนั่นเอง ปัญหาที่มักจะเจอคือ น้ำไม่ไหล หรือ ไหลไม่แรง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากคอนโดเป็นอาคารสูง น้ำที่ถูกส่งไปยังห้องต่างๆจะต้องมีแรงดันมากพอ ถ้าเป็นโครงการแนวราบก็มักจะติดตั้งปั๊มเพื่อให้น้ำไหลแรงขึ้น สำหรับคอนโดก็ใช้ปั๊มน้ำเหมือนกันแต่จะต่างกันตรงที่ ในอาคารสูงจะนิยมสูบน้ำจากถังเก็บน้ำใต้ดินขึ้นไปเก็บที่ถังเก็บน้ำดาดฟ้าและใช้ Booster Pump สร้างแรงดันน้ำส่งน้ำจากด้านบนลงสู่ด้านล่างของอาคารประมาณ 5 – 6 ชั้น ส่วนชั้นอื่นๆจะเป็นการจ่ายน้ำโดยใช้แรงโน้มถ่วง เมื่อน้ำต้องใช้แรงดัน ปั๊มน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำให้น้ำไหลแรง ในอาคารจึงควรมีทั้งเครื่องสูบน้ำหลักและเครื่องสูบน้ำสำรองเพื่อรองรับการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ในกรณีที่มีตัวใดตัวหนึ่งเกิดเสียหายจะได้มีอีกตัวที่ใช้งานทดแทนได้ และทางนิติบุคคลควรดูแลตรวจสอบ อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดีเสมอ

2

ปัญหางานระบบระบายน้ำทิ้ง และ บำบัดน้ำเสีย

ระบบระบายน้ำทิ้ง หรือระบบที่เกี่ยวกับท่อถือว่าเป็นระบบที่มีปัญหามากที่สุดโดยเฉพาะในอาคารเก่า ท่อจากระบบนี้ใช้ระบายทั้ง น้ำฝน น้ำจากระบบปรับอากาศ น้ำทิ้งจากครัวและน้ำโสโครกที่มาจากห้องส้วม ปัญหาที่เจอกันบ่อยๆคือ น้ำรั่ว ซึ่งสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากวิธีการติดตั้ง , ท่อไม่มีคุณภาพทำให้เกิดการรั่วซึม หรือเกิดจากการเสื่อมสภาพในกรณีที่อาคารผ่านการใช้งานมาแล้วพอสมควร  การซ่อมแซมจะต้องทำการเปลี่ยนท่อทั้งอาคารซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายค่อยข้างสูง ถ้าเกิดน้ำรั่วภายในห้องของเราให้หาสาเหตุให้ได้ว่าเกิดจากอะไร และ รั่วบริเวณไหน ซึ่งในบางกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถเคลมประกันได้

ส่วนงานระบบบำบัดน้ำเสีย  เมื่อน้ำเสียถูกปล่อยลงมาก็จะต้องผ่านบ่อเกรอะเพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยออกสู่สาธารณะ โดยเราควรสูบบ่อเกรอะอย่างน้อยปีครั้งหรือมากกว่านั้น ดูความเหมาะสมตามปริมาณของเสียที่ตกค้างที่บ่อเกรอะเป็นหลัก หากปล่อยปละละเลยไม่สูบบ่อเกรอะจะทำให้ส่งกลิ่นเหม็นและราดน้ำไม่ลง

ปัญหางานระบบป้องกันอัคคีภัย และ ระบบดับเพลิง

งานระบบนี้ถือเป็นระบบที่สำคัญอีกระบบหนึ่งของอาคาร เพราะเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยและทรัพย์สินและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต หากเกิดเหตุขึ้นมาแล้วจะส่งผลให้อาคารได้รับความเสียหายได้ แบ่งออกเป็น “ระบบป้องกันอัคคีภัย” และ “ระบบดับเพลิง” โดยระบบป้องกันอัคคีภัยประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจจับควัน , อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน  , อุปกรณ์ตรวจจับเปลวเพลิง ส่วนระบบดับเพลิงประกอบด้วย ระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบฉีดน้ำฝอย  และ ระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบแก๊ส นอกจากนั้นยังมีการชะลอการแพร่ของควันไฟ โดยใช้การอัดอากาศลงไปในจุดที่เป็นทางหนีไฟ , โถงบันได ไม่ให้ควันไฟลามเข้าไปในส่วนดังกล่าวเพื่อเพิ่มระยะเวลาการหนีออกจากอาคาร อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ป้ายบอกตำแหน่งอุปกรณ์ดับเพลิง, ป้ายบอกตำแหน่งชั้น และ ทางหนีไฟ พร้อมไฟฉุกเฉินที่ตั้งติดตั้งทุกชั้นของอาคาร  โดยรวมแล้วปัญหาส่วนใหญ่ของระบบนี้เกิดจากการชำรุดของอุปกรณ์ , การไม่มีการตรวจสอบ และ ซ้อมหนีไฟ หรือ การที่มีสิ่งของไปปิดกั้นทางหนีไฟ เป็นต้น

ปัญหางานระบบลิฟต์

ถือว่าเป็นระบบที่จำเป็นเพราะในแต่ละวันเราจะต้องพึ่งพาลิฟต์ในการขึ้นลงไปไหนมาไหน ปัญหาที่มักจะเกิดคือลิฟต์เสียซึ่ง เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลที่จะต้องซ่อมแซมดูแลรักษา ลิฟต์ให้อยู่ในสภาพดี มีการตรวจสอบการใช้งานอยู่เสมอ จุดที่มักจะชำรุดคืออุปกรณ์ต่างๆในลิฟต์ เช่น ลวดสลิง และอุปกรณ์ต่างๆเช่น ปุ่มกด เป็นต้น

info งานระบบในอาคารสูง V1-02

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วหลายๆคนคงมีข้อสงสัยว่า “ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าซ่อม” ซึ่งบางกรณีถือว่าเป็นปัญหาโลกแตกกันเลยทีเดียว ก่อนอื่นต้องดูว่า สาเหตุมาจากตรงไหน และ จุดที่เกิดปัญหานั้นเป็นทรัพย์สินนั้นเป็นของใคร “ทรัพย์ส่วนบุคคล” หรือ ” ทรัพย์ส่วนกลาง” หากเป็นพื้นที่ส่วนกลาง นิติบุคคลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม แต่ถ้าเป็น พื้นที่ส่วนบุคคล เราก็ต้องเป็นฝ่ายซ่อมเอง แต่ถ้าคอนโดมีการทำประกันภัยอาคารเอาไว้ ความชำรุดเสียหายบางกรณี เช่นเกิดจากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุ สามารถเคลมประกันได้ทั้งทรัพย์ส่วนกลางและทรัพย์ส่วนบุคคล

แล้วพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ส่วนบุคคลดูยังไง ??

  • พื้นที่ส่วนกลาง คือ พื้นที่ที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือพื้นที่ที่เราสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ทุกคน เช่น โถงทางเดิน , สระว่ายน้ำ , ลิฟต์ , ที่จอดรถ , สวนหย่อม เป็นต้น
  • พื้นที่ส่วนบุคคล ก็คือ สิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่เป็นของเราคนเดียว เราใช้พื้นที่ได้คนเดียว ถ้าในคอนโดก็คือห้องของเรานั่นเองค่ะ

บทความงานระบบ G3_2ผังในภาพทำขึ้นมาเพื่อประกอบบทความไม่ได้อ้างอิงถึงโครงการใดๆ

ส่วนผนังรอบห้องของเรามีวิธีดูว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล หรือ พื้นที่ส่วนกลางดังต่อไปนี้

  • ผนังที่กั้นระหว่างห้องชุดกับห้องชุดให้คิดเนื้อที่ของผนังครึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ห้องชุด
  • ผนังที่กั้นระหว่างห้องชุดกับพื้นที่ส่วนกลางให้คิดผนังทั้งหมดเป็นเนื้อที่ห้องชุด
  • ผนังห้องชุดที่อยู่ภายนอกอาคารให้คิดเนื้อที่ผนังทั้งหมดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง

พื้นที่บางจุดที่คาบเกี่ยวระหว่าง พื้นที่ส่วนบุคคล หรือ พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ท่อน้ำดี , ท่อน้ำทิ้ง , ท่อไฟฟ้า , อุปกรณ์ใต้เพดาน และ ใต้พื้นห้อง มีวิธีดูง่ายๆว่า ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์กับพื้นที่นั้นๆได้เพียงคนเดียว เรา ย้าย ทุบ เจาะ แล้วไม่เดือดร้อนใครให้ถือเป็น พื้นที่ส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นส่วนที่เราต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันกับคนอื่นๆ พื้นที่ตรงนั้นถือเป็น พื้นที่ส่วนกลาง

งานระบบในอาคารสูง G3-02

เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นในบางกรณีเราสามารถเคลมประกันได้โดย ประกันภัยอาคาร แบ่งความคุ้มครองออกเป็น

  • ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risks) คือ ประกันที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกกรณีที่จะเกิดขึ้นกับอาคาร ทั้งทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร รั้ว ฝ้าเพดาน ผนังโดยรอบ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง ลิฟต์และ งานระบบต่างๆ ส่วนทรัพย์ส่วนบุคคล ได้แก่ ห้องชุด และ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งรายการนี้ “ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุไว้ในประกัน” บางโครงการระบุไว้ว่าคุ้มครองเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ทางโครงการแถมมาให้เท่านั้น บางโครงการคุ้มครองเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ Built-in หรือบางโครงการคุ้มครองหมดทั้งเฟอร์นิเจอร์ Built-in และลอยตัว ทั้งที่ทางโครงการแถมมาและซื้อเองภายหลัง แต่ไม่รวมของตกแต่งและเครื่องใช้ไฟฟ้า ตรงส่วนนี้จะคุ้มครองมากน้อยขึ้นอยู่กับตอนทำประกันนิติบุคคลได้กำหนดความคุ้มครองเป็นแบบไหน ถ้าคุ้มครองเยอะ ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงตาม อย่างไรก็ตามค่าเบี้ยประกันทางนิติบุคคลจะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ค่ะ
  • ประกันความรับผิดชอบต่อสาธารณชน (Public Liability) คือ การประกันภัยต่อบุคคลภายนอก เช่น คุ้มครองในกรณีสิ่งของจากในคอนโดเราตกใส่รถบุคคลอื่นทำให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น

งานระบบในคอนโด Graphic-04-03

ตัวประกันโดยทั่วไปแล้วจะ คุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือปัจจัยภายนอกหรือภัยธรรมชาติ ตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินทุนประกัน เช่น ไฟไหม้ ควัน ฟ้าผ่า ลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ และภัยจราจล เป็นต้น นั่นหมายความว่าจะไม่คุ้มครองในกรณีที่ที่เกิดการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน  นอกจากนี้ยังมีการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม ด้วยซึ่งถ้าความเสียหายอยู่นอกเหนือจากรายละเอียดที่ระบุไว้ในประกันนั่นหมายความว่าเราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเองค่ะ

งานระบบในคอนโด Graphic-04-04

นอกจากการคุ้มครองแบบปกติแล้วยังมี “การขยายความคุ้มครองจะคุ้มครองเพิ่มเติม” ซึ่งจะคุ้มครองเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสียหายแบบปกติ ประกอบด้วย งานกระจกโดยรอบอาคาร(Fixed Plate Glass) , เครื่องใช้ไฟฟ้า , เครื่องจักรหยุดชะงัก , การลักทรัพย์โดยไม่มีรอยงัดแงะต่ออาคาร , คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และ ประกันภัยเงินส่วนกลางทั้งในและนอกสถานที่เอาประกันภัย แต่อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ระบุในกรมธรรม์

งานระบบในอาคารสูง re3-03สามารถกดที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้นะคะ

เรามาดูเหตุการณ์จริง (จากการสอบถามลูกบ้านและนิติบุคคล) ที่มักจะพบกันบ่อยๆแต่ยังข้องใจกันอยู่ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมแซมกันแน่ จะต้องดูว่าจุดที่เกิดเหตุเป็นทรัพย์ของใคร เกิดจากอะไรและมีความคุ้มครองจากประกันภัยหรือไม่ซึ่งแต่ละโครงการ รายละเอียดในประกันจะระบุไว้ไม่เหมือนกัน เริ่มจาก

กรณีที่ 1 – น้ำรั่วจากรอยแตกรอบท่อน้ำทิ้งจากห้อง A ไหลซึมมาโดนผนังห้อง B ได้รับความเสียหาย

กรณีนี้จุดเกิดเหตุคือรอยแตกรอบท่อน้ำทิ้งของห้อง A ซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของห้อง A เพราะห้อง A สามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ห้องเดียว ตามหลักแล้วห้อง A ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบการซ่อมแซมและค่าใช้จ่าย แต่กรณีนี้ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าห้อง A จะยอมซ่อมแซมให้หรือไม่ (เพราะห้อง A ไม่ได้เดือดร้อน แต่ห้อง B เดือดร้อน ) ถ้าไม่อาจจะมีการเจรจาเฉลี่ยค่าซ่อมแซมกันคนละครึ่งกับห้อง B  ส่วนการเคลมประกันไม่สามารถเคลมได้เนื่องจากเป็นการเสื่อมสภาพจากการใช้งานไม่ใช่จากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ แต่ผนังของห้อง B ถ้าในประกันระบุไว้สามารถเคลมความเสียหายส่วนนี้ได้

กรณีที่ 2 – น้ำรั่วลงมาจากชั้นดาดฟ้าทำให้ผนังและฝ้าเพดานห้อง A เสียหาย

กรณีนี้จุดเกิดเหตุคือพื้นที่ชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางดังนั้นนิติบุคคลต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบซ่อมแซมรอยรั่วบริเวณชั้นดาดฟ้า ซึ่งไม่สามารถเคลมประกันได้เนื่องจากเกิดจากการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติต่างๆเช่นกัน ส่วนความเสียหายบนผนังแลฝ้าเพดานของห้อง A ซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ห้อง A ถ้ามีระบุความคุ้มครองในประกันก็สามารถเคลมได้

กรณีที่3 – ท่อของโถสุขภัณฑ์ห้อง A เกิดการอุดตัน 

กรณีนี้ห้อง A ต้องเป็นฝ่ายซ่อมและออกค่าใช้จ่าย เพราะเหตุเกิดในห้อง A ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคล และท่อเป็นส่วนที่ห้อง A ใช้ประโยชน์ได้เพียงห้องเดียว (ยังไม่ใช่ท่อรวมที่ใช้ร่วมกันทุกห้อง) ไม่สามารถเคลมประกันได้

กรณีที่4 – น้ำจากท่อในอาคารรั่วเนื่องจากการเสื่อมสภาพ

ถ้าเป็นท่อในอาคารซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางเกิดรั่วขึ้นมาในกรณีที่อาคารใช้งานมานาน จนท่อเกิดการชำรุด ผุพัง ความรับผิดชอบในการซ่อมแซมจะต้องเป็นของนิติบุคคล ซึ่งไม่สามารถเคลมประกันได้เนื่องจากเป็นการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน แต่ถ้าน้ำรั่วจากท่อลงมาทำให้เกิดความเสียหายต่อฝ้าเพดาน ผนัง หรือ พื้นห้องชุดอันนี้สามารถเคลมได้ถ้ามีระบุในประกันค่ะ อย่างไรก็ตามทางนิติบุคคลควรมีการตรวจสอบสภาพของท่ออยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาน้ำรั่วค่ะ

กรณีที่ 5 – ไฟไหม้ในห้องอันเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

กรณีนี้เกิดในพื้นที่ส่วนบุคคลของห้อง B สามารถเคลมประกันได้เพราะเป็นเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากอุบัติเหตุ

งานระบบในอาคารสูง re3-02สามารถกดที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้นะคะ

กรณีที่ 6 – สปริงเกอร์เกิดเหตุขัดข้องปล่อยน้ำลงมาทำให้โถงทางเดินและภายในห้องชุดพื้นเปียกน้ำ พื้นไม้ภายในห้องเปียก บวมชำรุด

กรณีนี้เหตุเกิดที่พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลในการซ่อม ส่วนพื้นภายในห้องชุด (พื้นที่ส่วนบุคคล) ที่ได้รับความเสียหายจากการเปียกน้ำจนพื้นชำรุด สามารถเคลมประกันได้ถ้ามีระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ 

กรณีที่ 7 – หม้อแปลงระเบิดทำให้ไฟดับทั้งอาคาร

กรณีนี้นิติบุคคลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซม ไม่สามารถเคลมประกันได้เนื่องจากตามสัญญาส่วนใหญ่ระบุไว้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเว้นแต่จะระบุเป็นอื่นไว้ในกรมธรรม์ แต่อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาสาเหตุในการชำรุดควบคู่กันไปด้วย

กรณีที่ 8 – หลอดไฟขาดในห้องทำให้ไฟดับเพียงห้องเดียว

กรณีนี้เกิดเหตุในห้องของเจ้าของเองเพียงห้องเดียว ถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลดังนั้นการซ่อมแซมตกเป็นของเจ้าของห้องและไม่สามารถเคลมประกันได้

ปัจจุบันตลาดคอนโดมิเนียมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการแข่งขันกันขึ้นโครงการ รีบทำให้เสร็จ รีบให้โอน จนบางรายอาจจะละเลยเรื่องคุณภาพทำให้เมื่อลูกบ้านเข้าไปพักอาศัยแล้วเกิดปัญหาขึ้น หรือในโครงการที่สร้างเสร็จแล้วนิติบุคคลปล่อยปละละเลยในการซ่อมบำรุง ดูแลรักษา ทำให้โครงการเกิดปัญหาที่พบบ่อยคืองานระบบ น้ำไม่ไหล ไฟดับ น้ำรั่ว เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะมีประเด็นที่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซม จนมีประเด็นถกเถียงกันเรื่อยมา อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่าจุดที่เกิดเหตุนั้นเป็น ทรัพย์ส่วนกลาง หรือ ส่วนบุคคล และความเสียหายนั้นสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ โดยประกันภัยอาคารนั้นส่วนใหญ่มีอายุ 1 ปี ต่ออายุกันปีต่อปี เนื้อหาที่อยู่ในประกันและวงเงินประกันนั้นทางนิติบุคคลสามารถกำหนดและบริหารจัดการได้ว่าจะให้คุ้มครองมากน้อยแค่ไหนอย่างไร หากเกิดปัญหาเกิดขึ้นแล้วไม่แน่ใจว่าจะเคลมได้หรือไม่สามารถสอบถามที่ทางนิติบุคคลหรือลองทำเรื่องไปยื่นดูกันก่อนค่ะ

 

บทความนี้ผู้เขียนพยายามศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโด หากมีตรงส่วนไหนที่ขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดไป ช่วยกันแนะนำหรือแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ ^^