คราวก่อนเราได้พาทุกคนไป รู้จักกับวัสดุภายในครัว กันแล้วนะคะ วันนี้เราจะพามาเลือกใช้ประตู หน้าต่างกันบ้าง ซึ่งประตูและหน้าต่างนั้น จัดเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของบ้านเลยนะคะ เป็นส่วนที่สะท้อนหน้าตาของตัวบ้านได้พอสมควรเลย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เราสามารถมองเห็นได้จากทั้งด้านนอกบ้านและจากภายในบ้าน และการเลือกใช้ที่เหมาะสมนั้นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งานแต่ละส่วน ประตูจัดเป็นองค์ประกอบหลักสำหรับทางเข้า-ออก จากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่หนึ่งได้ ส่วนหน้าต่างมีไว้เพื่อรับแสงธรรมชาติ เปิดรับลม และช่วยระบายให้อากาศถ่ายเทและหมุนเวียนได้สะดวก และยังใช้เป็นช่องเปิดมุมมองออกไปโดยรอบตัวบ้านและคอนโดมิเนียมให้เห็นบรรยากาศหรือวิวทิวทัศน์ภายนอกได้ค่ะ

เรามาเริ่มจากรู้จักกับประเภทและลักษณะของประตูกันก่อน

  • ประตูบานเปิด 

ที่ใช้งานกันหลักๆเลยก็จะมีประตูบานเปิดเดี่ยวและบานเปิดคู่ค่ะ ซึ่งเราจะเลือกใช้แบบไหนถึงจะสะดวกกับการใช้งานนั้นขึ้นอยู่พื้นที่ใช้สอยว่า มีระยะเพียงพอสามารถเปิดได้กว้าง 90 – 180 องศาไหม โดยเลือกเปิดเข้าหรือออกฝั่งใดฝั่งหนึ่งของผนัง ประตูบานเปิดนิยมใช้งานเป็นประตูทางเข้าบ้าน ประตูภายในบ้านที่เปิดเข้าสู่ห้องแต่ละห้องและประตูห้องน้ำ

ตัวอย่าง : ประตูบานเปิด

  • ประตูบานสวิง

มีลักษณะเหมือนกับประตูบานเปิดเลยค่ะ แต่จะแตกต่างกันตรงที่สามารถ ผลักเข้าหรือผลักออกได้ทั้งสองฝั่งของผนัง บานประตูประเภทนี้มักใช้กรอบอะลูมิเนียมและลูกฟักกระจกเพื่อให้สามารถมองเห็นอีกฝั่งได้ ป้องกันการเปิดชนกันกันค่ะ บริเวณกรอบบานจะมีอุปกรณ์สวิงลักษณะเหมือนแกนหรือเดือยยึดกับพื้นด้านล่างและวงกบหรือบานประตูหน้าต่างที่ต่อเนื่องด้านบน ประตูแบบนี้เหมาะกับพื้นที่มีคนเข้า-ออกเป็นประจำ เรามักจะเห็นในสถานที่สาธารณะอย่างห้องประชุมสัมนา โรงละคร ฯลฯ ไม่ค่อยนำมาใช้ในบ้านพักอาศัยบ่อยนัก

  • ประตูบานเฟี้ยม

ประตูบานเฟี้ยมจะมีลักษณะเป็นบานพับต่อเนื่องกัน โดยพับทบสลับกันไปรวมที่ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ทำให้เปิดได้กว้างกว่าประตูรูปแบบอื่นและใช้พื้นที่น้อย จึงนิยมนำมาใช้ในการแบ่งพื้นที่ หรือเป็นฉากกั้นห้องภายในบ้านหรือห้องในคอนโดมิเนียมค่ะ ประตูบานเฟี้ยมยังเป็นที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งบ้าน เพื่อให้ได้ความสวยงามและยังได้เรื่องประโยชน์ใช้สอยที่ต้องการได้ด้วยค่ะ

ตัวอย่าง : ประตูบานเฟี้ยม

  • ประตูบานเลื่อน

ประตูบานเลื่อนนั้นมีลักษณะประตูที่เลื่อนไปด้านข้าง ซึ่งจะมีรางสำหรับเลื่อน มีทั้งแบบรางเลื่อนบนและรางเลื่อนล่าง และมีทั้งบานเดี่ยว บานคู่ ไปจนถึงบานเลื่อนสามตอนก็มีให้เห็นบ่อยๆเช่นกัน โดยหากเป็นบานเลื่อนเดี่ยวหรือบานเลื่อนคู่กระจกใส จะสามารถมองเห็นวิวได้ทั้งบาน แต่จะทำให้พื้นที่การเดินเข้า-ออกเหลือแค่ครึ่งเดียวค่ะ

รางเลื่อนถ้าอยู่ด้านล่างจะทำให้เป็นพื้นที่เก็บฝุ่นทำความสะอาดยากหน่อยนะคะ ส่วนถ้าเป็นรางด้านบนอย่างเดียวจะช่วยให้ดูสวยงามและไม่เก็บฝุ่น แต่อาจจะทำให้บานแกว่งได้นิดหน่อยนะคะ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละที่ค่ะ ซึ่งประตูบานเลื่อนจะมีข้อดี คือ  ประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน นิยมใช้เป็นประตูทางเข้าหน้าบ้าน หรือกั้นพื้นที่ใช้งานในแต่ละส่วนภายในบ้าน

ตัวอย่าง : ประตูบานเลื่อน

มาดูวัสดุประตูและหน้าต่างกันค่ะ

ประตู หน้าต่าง ปัจจุบันทำมาจากหลากหลายวัสดุและมีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกใช้งาน เช่น บานเลื่อน บานเฟี้ยม บานเปิด บานติดตาย บานกระทุ้ง เป็นต้น โดยวันนี้เราจะพามาชมวัสดุที่เป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนะคะ ได้แก่ วัสดุไม้ (Wood) เหล็ก (Steel) อลูมิเนียม (Aluminum) ยูพีวีซี (UPVC) ซึ่งแต่ละชนิดก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับงบประมาณและคุณสมบัติที่ต้องการใช้เลือกใช้งานค่ะ

  • ไม้

ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีการใช้งานมายาวนานกันอย่างแพร่หลายนะคะ ประตูไม้จริงส่วนมากจะเป็นทำจากไม้เนื้อแข็งเพื่อกันปลวก ได้แก่ ไม้สัก(ไม้เนื้ออ่อนที่มียางป้องกันปลวก) ไม้แดง ไม้เต็ง เป็นต้น เดิมที่ไม้จัดเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในอดีต เป็นวัสดุที่มีลวดลายสวยงาม มีความยืดหยุ่นตัวสูงไปตามสภาพแวดล้อม สามารถตัดแต่งขึ้นรูปได้ตามต้องการเลย แต่ปัจจุบันการเลือกนำไปใช้งานน้อยลงเนื่องจากไม้จริงที่มีคุณภาพค่อนข้างหายากและมีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งยังต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน จึงไม่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบันเท่าที่ควรค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนไม่ค่อยมีเวลาและต้องการวัสดุที่พร้อมใช้งานดูแลได้ง่ายมากกว่า ราคาและค่าแรงของช่างที่ชำนาญในการติดตั้งก็เพิ่มมากขึ้น

ราคา : ประมาณ 3,000 – 50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับขนาดหน้าบานและประเภทของไม้ที่เลือกใช้)

ตัวอย่าง : ประตูบานไม้สัก

ข้อดีของประตูไม้และหน้าต่างไม้

ถึงแม้ไม้จริงจะมีราคาสูงแต่ก็แลกมากับคุณภาพและความแข็งแรง คงทน อายุการใช้งานยาวนาน อีกทั้งประตูไม้บางชนิดใช้ติดตั้งได้ทั้งภายในและภายนอก มีคุณสมบัติในการทนแดดทนฝนได้ดี น้ำหนักเบา สีสันและลวดลายธรรมชาติของไม้ก็มีให้เลือกหลายแบบตามแต่ละชนิดของไม้

ข้อเสียของประตูไม้และหน้าต่างไม้

ถ้าเราเลือกใช้ไม้ที่คุณภาพดี มีราคาสูงหน่อยก็จะไม่ค่อยเกิดปัญหาในการใช้งานสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเลือกใช้ไม้ที่คุณภาพด้อยลงมาอาจเกิดการแตกของเนื้อไม้เมื่อเจอความร้อนสูงเป็นเวลานาน และประตูไม้บางชนิดมักเกิดการพองตัว บิด งอ โก่ง เมื่อสภาพอากาศหรืออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จึงเหมาะที่จะใช้ติดตั้งภายในตัวอาคารเท่านั้นเพราะหากนำไปติดตั้งภายนอกอาคาร อาจทำให้อายุการใช้งานลงลด

ตัวอย่าง : ประตูบานไม้สำเร็จรูป

  • ไม้สำเร็จรูป

ไม้สำเร็จรูปเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ทดแทนไม้จริง ประตูไม้สำเร็จรูปจะผลิตจากไม้เช่นกันแต่จะเป็นไม้อัด แล้วใช้แผ่นลามิเนตมารีดแปะบนไม้ หรือเป็นไม้ที่มีส่วนผสมของวัสดุชนิดอื่น มีราคาย่อมเยากว่าและหาซื้อได้ง่ายกว่า ประตูไม้สำเร็จรูปจัดเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการใช้งาน มีรูปแบบให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย โดยสามารถแบ่งได้ตามวัสดุต่างๆ ดังนี้

– ประตูไม้อัด หรือ ประตูไม้ MDF (Medium Density Fiber Board)

ประตูไม้อัดหรือประตูไม้ MDF เป็นบานประตูที่เหมาะกับงานภายในอาคารเนื่องจากมีความแข็งแรงน้อย ไม่ทนต่อสภาพความชื้นและแสงแดด ไม่สามารถใช้ในส่วนที่โดนน้ำได้โดยเฉพาะภายในห้องน้ำ หรือส่วนที่จะโดนฝนโดนแดดตลอด ข้อดีคือราคาถูก น้ำหนักเบา มีขนาดมาตรฐานให้เลือกหลากหลาย แต่ไม่ค่อยแข็งแรงผุง่าย ไม่ทนความชื้นและแสงแดด

ราคา : ประมาณ 700 – 1,500บาท

– ประตูไม้ HDF (High Density Fiber)

ประตูไม้ HDF เป็นประตูที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นประตูไม้ที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมีป้องกันปลวกและทนต่อความชื้นมาแล้ว คุณภาพดีกว่าประตูไม้อัด MDF สามารถทนความชื้นได้ดี แต่ความแข็งแรงของประตูยังสู้ไม้จริงไม่ได้ ลักษณะของประตูโครงสร้างภายในจะเป็นไม้ประกบแผ่น Particle Board ที่นำไม้ชิ้นขนาดเล็ก มาอัดเป็นแผ่นด้วยความร้อนและกาวประสานอินทรีย์ ส่วนภายนอกนำแผ่นใยไม้มาผสมเรซินแล้วอัดขึ้นรูปด้วยแรงดันสูง จึงทำให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับประตูไม้อัดแต่คงทนกว่า ไม่ยืดหด บิดงอ สามารถทำลวดลายให้ใกล้เคียงกับไม้จริงได้ เหมาะกับงานติดตั้งภายในมากกว่าภายนอก แต่ถึงคุณสมบัติของประตูไม้ HDF จะทนต่อความชื้น แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำและใช้งานที่ต้องโดนแสงแดดโดยตรงนะคะ
ข้อดี ของประตูไม้ HDF คือมีราคาไม่แพง ลวดลายไม้คล้ายกับไม้จริง มีหลายสีให้เลือกใช้งาน เป็นวัสดุที่ไม่พองตัว โก่ง บิด งอ มีความคงทนกว่าประตูไม้อัด เหมาะกับการใช้งานสำหรับพื้นที่ภายใน เพราะไม่สามารถโดนแดดฝนได้

ราคา : ประมาณ 2,000 – 5,000 บาท (ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาด)

  • ประตูไม้ Engineer

ประตูไม้ Engineer เป็นการผสมกันระหว่างไม้จริงกับไม้สำเร็จรูป โดยการนำข้อดีของทั้งสองมารวมกัน ใช้ไม้จริงมาทำโครงสร้างของประตูและผิวหน้าจะเป็นผิวไม้วีเนียมาทับด้านหน้าอีกครั้งหนึ่ง ด้านคุณสมบัติจะมีความคงทนที่ดีกว่าประตูไม้ HDF และแข็งแรงเทียบเท่าประตูไม้จริง อีกทั้งลดการบิดงอ หดตัวหรือแตกร้าว มีความแข็งแกร่งและทนทานมากขึ้นมาจากไม้จริง

ราคา : ประมาณ 5,000 – 10,000 บาท

  • ประตู WPC (Wood-Plastic Composite)

ประตู WPC เป็นไม้ผสมพลาสติก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า“ไม้พลาสติก” ซึ่งถือเป็น
เทคโนโลยีใหม่ ที่พัฒนาขึ้นมาทนแทนการใช้ไม้จริง โดยประตูไม้ WPC (Wood Plastic Composite) ผลิตขึ้นจากเศษไม้และผงพลาสติก ผ่านขบวนการผลิตจากเครื่องจักรเช่นเดียวกับการขึ้นรูปพลาสติกทั่วไป ทำการฉีดและรีดขึ้นรูป การใช้งานหลักจะใช้เป็นประตูภายนอก มีคุณสมบัติเหมือนไม้จริงและมีความแข็งแรงกว่าพลาสติก สามารถกันน้ำ ทนความร้อนและแสงแดดได้ดีค่ะ ไม้พลาสติกจะทนทานต่อความชื้น ต้านทานต่อเชื้อราและแมลงที่เป็นศัตรูของไม้ได้ ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้นานกว่า สามารถผลิตให้มีรูปร่างต่างๆ ได้โดยไม่ทำให้เกิดเศษเหลือใช้ด้วยค่ะ

ราคา : ประมาณ 1,000 – 5,000 บาท (ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาด)

ตัวอย่าง : กรอบบานอลูมิเนียม

  • ประตูหน้าต่างอลูมิเนียม (Aluminum)

ประตูหน้าต่างอลูมิเนียมเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมเนื่องจากราคาที่ค่อนหลากหลายมีทั้งราคาไม่แพงไปจนถึงเกรดคุณภาพดีๆราคาแพงให้เลือกใช้ อะลูมิเนียมที่ใช้ทำประตูหน้าต่างมี 2 ประเภท คือ อลูมิเนียมชุบสีด้วยไฟฟ้า (Anodizing) มี 3 สีหลักๆคือ สีชาอ่อน สีชาเข้ม และสีดำ อีกประเภทคือ อลูมิเนียมพ่นอบสี (Powder Coating) เป็นการพ่นและอบผงสีเคลือบบนพื้นผิว ทำสีได้หลายเฉด ป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่าและราคาสูงกว่าประเภทแรก แต่ว่าอลูมิเนียมเป็นโลหะที่ไม่แกร่ง จึงบุบจากการกระแทกและมีรอยขูดขีดได้เช่นกัน โดยปกติแล้วควรเลือกใช้อลูมิเนียมความหนาไม่น้อยกว่า 1.2 มิลลิเมตร ในการใช้งาน

ราคา : คิดเป็นราคาต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับชนิดกระจกที่เลือกใช้ เริ่มต้นประมาณ 1,300 บาท/ตารางเมตร

คุณสมบัติเด่นของอลูมิเนียม คือ สามารถทนความร้อนของแสงแดดได้ดี แตกต่างจากวัสดุอื่นๆ ทำให้สามารถทนแดดทนฝน เนื่องจากลักษณะวัสดุอลูมิเนียมที่เป็นโลหะ จึงไม่มีคุณสมบัติอมน้ำ ทนต่อความชื้นและไม่เป็นสนิม มีสีให้เลือกมากมาย ราคาไม่สูงจนเกินไป และสามารถสั่งทำในรูปแบบตามขนาดที่ต้องการได้ ติดตั้งและดูแลทำความสะอาดง่ายและไม่ติดไฟ แต่ประตูและหน้าต่างอลูมิเนียมมักมีปัญหาการรั่วซึมตามรอยต่อ และด้วยคุณสมบัติของโลหะจึงส่งผ่านความร้อนเข้าตัวบ้านได้ โดยความร้อนจะถูกเก็บสะสมไว้ที่วงกบและบานประตูหน้าต่างจะค่อยๆซึมเข้าสู่ภายในตัวอาคาร อีกทั้งการเปิดปิดมักมีเสียงดังจากโลหะกระทบกัน จึงต้องมีอุปกรณ์กันกระแทกติดตั้งมาเพิ่มให้ และวัสดุอลูมิเนียมจะแพ้ความชื้นจากไอเค็มจากทะเลทำให้เกิดการกร่อนตัวได้

ตัวอย่าง : ประตูบาน PVC

  • ประตูหน้าต่างพีวีซี (PVC)

PVC หรือ Polyvinyl Chloride เป็นวัสดุประเภทพลาสติก เมื่อนำมาทำประตูหน้าต่างจะเสริมโครงเหล็กหรืออลูมิเนียมด้านใน เป็นประตูที่ทำมาจาก PVC จะเติมสารชนิดอื่นๆเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ดีขึ้น สามารถนำไปขึ้นรูปประตูโดยใช้การรีดขึ้นรูปตามแบบค่ะ โดยปกติจะมีความหนาของโครงสร้างของประตูอยู่ที่ประมาณ 0.5 -1 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างบางจึงต้องเสริมขอบโดยรอบบานด้วยคิ้ว PVC ทำให้ขอบของประตูมีสันไม่เรียบเนียนค่ะ

ถ้าดูที่คุณสมบัติของประตู PVC ด้วยความที่เป็นวัสดุพลาสติกจึงทำให้ทนความชื้นได้ดี ปลวกไม่กิน น้ำหนักเบาค่ะ จึงทำให้เหมาะสำหรับติดตั้งเป็นประตูห้องน้ำ ห้องครัว แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังในการใช้งานเนื่องจากเป็นวัสดุที่ไม่ค่อยแข็งแรง บางกรอบ และแตกหักได้ง่ายและไม่ทนแรงกระแทกนะคะ อายุการใช้งานจึงสั้นกว่าประตูชนิดอื่น ประตู PVC จึงเหมาะกับการใช้งานชั่วคราว หรืองานที่ไม่ต้องการความแข็งแรงทนทานมากนัก ไม่เหมาะสำหรับติดภายนอกอาคาร บริเวณที่แสงแดดส่องถึงเพราะวัสดุจะเสื่อมสภาพเร็ว แต่ก็มีข้อดีอีกอย่างคือสามารถทำความสะอาดง่าย ติดตั้งง่าย และมีราคาถูกกว่าประตูชนิดอื่นๆ จึงนิยมนำมาใช้เป็นประตูทางออกด้านหลังบ้าน, ลานซักล้าง ประตูห้องน้ำในสวนค่ะ

ราคา : ประมาณ 500 – 2,000 บาท

ตัวอย่าง : ประตูกรอบบาน UPVC

  • ประตูหน้าต่างยูพีวีซี (UPVC)

ประตูหน้าต่าง UPVC ( Unplasticized Poly Vinyl Chloride) หรือที่เรียกกันว่าประตูหน้าต่างไวนิลนั่นเองค่ะ UPVC เป็นวัสดุสังเคราะห์ชนิดหนึ่งได้จากกระบวนการผลิตปิโตรเคมีภัณฑ์ เป็นโพลิเมอร์พื้นฐานที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าโพลิเมอร์หรือพลาสติกทั่วไป ประตูหน้าต่าง UPVC จะมีโครงสร้างภายในเป็นเหล็กเคลือบกันสนิม ห้อหุ้มด้วยวัสดุไวนิล หรือ UPVC สามารถออกแบบและผลิตได้หลากหลายรูปแบบเลยค่ะ

ประตูชนิดนี้มีคุณสมบัติที่กันน้ำที่ผิวหน้าได้ดี มีสีในเนื้อวัสดุ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสีขาว ผิวเป็นเงาแต่ทาสีทับไม่ได้ มักใช้เป็นประตูห้องน้ำหรือประตูภายนอกบ้าน มีความคงทน อายุการใช้งานนาน ป้องการรั่วซึมได้ดี และเนื่องจากเป็นบานที่ออกแบบมาจากโรงงานจึงมีความแนบสนิทพอดีไม่มีช่องว่าง สามาถกันได้ทั้งเรื่องเสียงรบกวน น้ำจากฝนที่จะซึมเข้ามา รวมถึงฝุ่นละอองได้ เนื้อวัสดุไม่หดหรือขยายตัว ทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี เป็นฉนวนกันความร้อนหรือความเย็น สามารถป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ สามารถติดมุ้งลวดได้ ทำความสะอาดได้ง่าย และปลอดภัยไม่ติดไฟไม่เป็นเชื้อเพลิงของไฟ ปลวกไม่กินค่ะ

แต่การติดตั้งประตู UPVC จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการแก้ไขงานที่ผิดพลาดจะยากกว่าอลูมิเนียม ส่วนการดูแลรักษา หากมีรอยขูดขีด อลูมิเนียมจะเก็บงานง่ายกว่า UPVC อีกทั้งกรอบบานของ UPVC จะมีขนาดใหญ่กว่ากรอบบานอลูมิเนียม ซึ่งถ้าต้องการให้หน้าต่างมีมุมมองที่กว้างมากขึ้น กรอบบาน UPVC อาจจะกินพื้นที่ไปบ้าง

ราคา : บานใหญ่ บานเลื่อน, บานเปิดคู่ 12,000 – 30,000 บาท

ราคา : บานติดตาย 2,000 – 5,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น (ราคาขึ้นอยู่กับแบรนด์และรูปแบบ)

เราไปดูประเภทของบานและกรอบบานประตู-หน้าต่างกันไปแล้ว เรามาดูวัสดุด้านในอย่างกระจก ที่เป็นวัสดุที่นิยมใช้งานร่วมกันกับประตูหน้าต่างของบ้านและอาคารในปัจจุบันนะคะ ซึ่งก็มีให้เลือกใช้งานค่อนข้างหลากหลาย กระจกเป็นวัสดุโปร่งใสที่สามารถเปิดให้แสงแดดจากธรรมชาติส่องผ่านเข้าไปสร้างความสว่างให้กับพื้นภายในได้อย่างเต็มที่ นอกจากจะใช้ในงานประตูหน้าต่างรอบตัวบ้าน ยังสามารถนำมาติดตั้งเป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างห้องภายในได้ด้วยเช่นกัน ช่วยกระจายแสงสว่างภายในบ้านได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกระจกก็เป็นวัสดุที่ต้องการการดูแลรักษาและต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามชนิดของกระจกก็เป็นตัวแปรสำคัญที่หากใช้ถูกประเภท ถูกลักษณะงานแล้ว ก็จะทำให้เราดูแลได้ง่ายขึ้นค่ะ

  • กระจกธรรมดา (Float Glass)

กระจกใส (Clear Float Glass) คือ กระจกโปร่งแสงและไม่มีสี สามารถมองผ่านได้อย่างชัดเจน สามารถมองเห็นจากภายนอกเข้ามาภายในได้ มีค่าการตัดแสงประมาณ 8% สำหรับกระจกใสหนา 12 มิลลิเมตร และตัดแสงได้มากขึ้นตามความหนาของกระจก โดยกระจกชนิดนี้จะดูดกลืนความร้อนได้น้อยมากจึงทำให้ผิวกระจกไม่ร้อนเมื่อต้องอยู่กลางแสงแดดหรือในอุณหภูมิสูงระหว่างวัน โดยปกติแล้วกระจกใสจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบคุณภาพทั่วไปและแบบคุณภาพพิเศษ มีให้เลือกตั้งแต่ความหนา 2-19 ม.ม. ความกว้างประมาณ 3 เมตร และความยาวถึง 12 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาและขนาด ส่วนความหนาที่นิยมกับงานทั่วไปจะอยู่ที่ 5-6 ม.ม.

ตัวอย่าง : กระจกใส

คุณสมบัติเด่นของกระจกใส คือ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก จึงเหมาะกับการใช้งานประเภทแสดงสินค้า แต่ก็สามารถนำมาใช้กับบ้านพักอาศัยได้เช่นกัน ใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอกกับอาคารทุกประเภท แต่เนื่องจากกระจกใสมีค่าการสะท้อนแสงน้อย จึงเหมาะสำหรับห้องที่ต้องการมองทัศนียภาพภายนอกที่ชัดเจน ความใสและโปร่งแสงของกระจกอาจทำให้การใช้งานจะไม่ค่อยเป็นส่วนตัวสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถติดตั้งม่านหรือติดฟิล์มเพื่อความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติมได้

สำหรับกระจกตามที่มีขายจะมีทั้งสินค้าราคาเกรดสูง-ตำ่ ราคารเฉลี่ยของแผ่นกระจก จะอยู่ที่ราคาเริ่มต้นประมาณ 16 – 20 บาท/ตารางฟุต โดยราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดความหนาเเละความยาว

ตัวอย่าง : ราวกันตกกระจกลามิเนต

  • กระจกลามิเนต (Laminated Glass)

กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ประกอบไปด้วยกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปเช่นกัน และชั้นกลางเป็นฟิล์มนิรภัย มาประกบหรือติดด้วย PVB (Poly Vinyl Butyral) ทำให้กระจกจะติดกับ PVB ไม่ร่วงหล่นจากกรอบ โดยข้อดีของกระจกลามิเนต คือ ผู้ออกแบบสามารถเลือกชนิดของกระจกทั้ง 2 ฝั่งที่จะนำมาประกบกันได้ เพื่อให้ได้คุณสมบัติครบตามต้องการ เช่น ฝั่งหนึ่งเลือกเป็นกระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เพื่อให้มีความแข็งแรง ส่วนอีกด้านหนึ่งเลือกกระจกตัดแสงเพื่อให้ช่วยดูดซับรังสีความร้อน

คุณสมบัติที่ดีของกระจกลามิเนต คือ เมื่อกระจกแตกชิ้นส่วนจะไม่หลุดออกจากฟิล์ม ทำให้มีความปลอดภัย และฟิล์มตรงกลางยังสามารถกรองแสงและกันรังสียูวีได้ถึง 95% ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทกและช่วยป้องกันการบุกรุกจากการโจรกรรมได้

ตัวอย่าง : ราวกันตกกระจกลามิเนต

กระจกลามิเนตสามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ โดยกระจกลามิเนตมักจะนำมาใช้งานภายในส่วนมากจะทำเป็นผนังห้อง หน้าต่างหรือบานประตู ใช้เป็นกระจกด้านนอกของอาคาร โดยเฉพาะกระจกที่ต้องการป้องกันการบุกรุก หรือต้องการลดเสียงรบกวน เช่น หน้าต่างช่องเปิดแบบต่างๆ หรือใช้ทำระเบียงราวกันตก , หลังคา Skylight , กันสาด และ Facade เป็นต้น

แต่ในการใช้งานเมื่อเทียบความหนาในขนาดเดียวกันกับกระจกธรรมดา กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา ส่วนฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น กรณีถ้าใช้กระจกลามิเนตในบริเวณที่มีความชื้นสูงจะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดีอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้ ส่วนราคากระจกโดยประมาณจะเริ่มตั้งแต่ 1,200-1,500 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกและจำนวนที่สั่งซื้อนะคะ

ตัวอย่าง : ฉากกั้นอาบน้ำกระจกเทมเปอร์

  • กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass)

กระจกเทมเปอร์ หรือที่เราเรียกกันว่ากระจกนิรภัย กระจกชนิดนี้จะผ่านวิธีการอบด้วยความร้อนสูง การแตกของกระจกเทมเปอร์ จะแตกกระจายออกเป็นเม็ดเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพด และมีความคมน้อย จึงค่อนข้างปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุ สำหรับคุณสมบัติและประโยชน์การใช้งานจะคล้ายกับกระจกลามิเนต แตกต่างกันที่ไม่มีฟิล์มกั้นตรงกลาง และไม่สามารถกรองแสงได้ แต่สามารถรับแรงที่มากระทบกระจกซึ่งเกิดจากลม แรงดันจากคน หรือแรงดันของน้ำในกรณีที่เป็นสระน้ำ สามารถทนต่อแรงกระทบได้มากกว่ากระจกธรรมดา ที่มีความหนาเดียวกัน 3-5 เท่า สามารถทนทานต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้

โดยทั่วไปเรามักเห็นการใช้กระจกเทมเปอร์ เป็นประตูบานเปลือย ฉากกั้นอาบน้ำ ผนังกั้นภายใน ผนังกระจกทั้งสองหน้า และภายในตัวอาคารได้ หรือใช้ทำเป็นหน้าต่าง ผนังอาคาร ผนังกระจกของอาคารในบริเวณที่เผชิญกับความร้อนสูงกว่าปกติ และใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ชั้นวางของ ชั้นโชว์สินค้า มีความหนาให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับประเภทในการใช้งาน ส่วนราคากระจกโดยประมาณจะมีตั้งแต่ 1,000 บาท/ตร.ม. (หนา 6 mm.) ถึง 2,000 บาท/ตร.ม. (หนา 10 mm.) ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจก คุณภาพ และจำนวนที่สั่งซื้อ

ตัวอย่าง : ผนังกระจก Insulated Glass

  • กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit – IGU)

กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) เป็นกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน มีช่องว่างระหว่างกลาง (Air gap) โดยมี Aluminium Spacer ซึ่งบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง (Dried Air) หรือ ก๊าซเฉื่อย ไว้ภายในเพื่อให้มีคุณสมบัติในการเก็บรักษาอุณภูมิภายในได้ดีมาก สามารถสะท้อนความร้อนได้ประมาณ 95%-98% และไม่ทำให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกแตกต่างกันมาก

การนำไปใช้งานของกระจกประเภทนี้จะมุ่งเน้นการใช้งานไปในแนวทางการประหยัดพลังงานภายในอาคารและการใช้งานสำหรับอาคารเฉพาะทางเนื่องจากมีคุณสมบัติ คือ การยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยจึงมักนิยมใช้สำหรับอาคารที่ต้องการควบคุมอุณภูมิให้คงที่ตลอดเวลา เช่น พิพิธภัณฑ์อาคารเก็บอาหาร ห้องเก็บไวน์ และก็มีพบได้ในโครงการพักอาศัยที่เลือกใช้กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit- IGU) ตัดแสงมาในส่วนของหน้าต่าง ป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร หรือใช้ทำเป็นราวกันตกบริเวณระเบียงช่วยลดความร้อนที่ส่องเข้ามาพื้นที่ระเบียงได้ ในส่วนของราคากระจกโดยประมาณ ตั้งแต่ 2,000-2,500 บาท/ตรม ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกและชนิดของช่อง Air gap ที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระจก

ตัวอย่าง : อาคารที่ใช้กระจกเขียวตัดแสง

  • กระจกเขียวตัดแสง (Green Tinted Glass)

กระจกชนิดนี้จะถูกเคลือบสารโลหะอื่นๆ โลหะแต่ละชนิดจะให้สีสะท้อนตามคุณสมบัติเฉพาะของโลหะแต่ละตัว ซึ่งสารเคลือบเหล่านี้จะให้แสงผ่านได้มาก แต่ความร้อนผ่านได้น้อย จึงทำให้กระจกเขียวตัดแสง มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถป้องกันรังสี UV และสะท้อนพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ที่ส่องมากระทบผิวกระจก ได้สูงถึง 50% เลยทีเดียว แต่ยังคงปล่อยให้แสงสว่างส่องผ่านได้ และช่วยประหยัดพลังงานโดยช่วยลดภาระการใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านลง และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ กระจกตัดแสงที่เราเห็นนิยมใช้กันทั้งในบ้านหรือคอนโดส่วนมากจะเป็นสีเขียวและสีฟ้า ซึ่งสีแต่ละแบบก็จะให้คุณสมบัติการการใช้งานที่แตกต่างกันไปอีก ได้แก่

กระจกเขียว – เป็นกระจกตัดแสงประเภทหนึ่ง ที่ให้แสงสว่างส่องผ่านได้มากถึง 75% แต่กลับให้ความร้อนผ่านได้แค่ 49% เท่านั้น จึงช่วยให้ได้ทั้งความเย็น และความสว่างปลอดโปร่งไปพร้อมกัน เหมาะกับที่พักอาศัยโดยทั่วไป

กระจกสีฟ้า – เป็นกระจกตัดแสงที่ดีขึ้นมาอีกระดับ โดยความร้อนจะผ่านได้เพียง 43% และเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างพอเหมาะที่ 58% ทั้งนี้ ราคาจะสูงกว่ากระจกสีเขียว

กระจกสีชา – ความร้อนผ่านได้น้อยสุดคือ 34% แต่ยอมให้แสงสว่างผ่านได้น้อยแค่ 22% จึงอาจสร้างบรรยากาศที่มืดทึบให้บ้านได้ แต่ถ้าใครต้องการแต่งบ้านโดยเน้นป้องกันความร้อนกระจกสีชาก็เป็นตัวเลือกที่ใช้ได้ดี

กระจกสีเทา – เป็นกระจกโทนสีเทาที่ตอนนี้กำลังเริ่มนิยมใช้กันมาก หรือที่เราเรียกกันว่า กระจกยูโรเกรย์ (Eurogrey) นอกจากจะได้ในเรื่องของความสวยงาม ธีมสีที่ดูเรียบหรู ตัวบ้านดูทันสมัยกว่ากระจกสีอื่นๆ กระจกชนิดนี้ก็ยังมีคุณสมบัติคล้ายกับกระจกเขียวตัดแสงแต่จะให้แสงผ่านได้น้อยกว่า ทำให้ภายในบ้านมืดทึบกว่า กระจกตัวนี้จึงเหมาะสำหรับกับพื้นที่ที่เน้นการใช้ที่ป้องกันแสงแดด

ตัวอย่าง : บ้านที่ใช้กระจก Low-E

  • กระจก Low-E

Low-E ย่อมาจาก ‘Low Emission’ แปลว่า การถ่ายเทต่ำค่ะ หมายถึงกระจกที่มีค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำ กระจก Low-E จะมีการเคลือบผิวกระจกด้วยสารเงิน (Silver) บางๆ โดยสารที่เคลือบกระจกจะถูกออกแบบให้สะท้อนพลังงานความร้อนออกไปแต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มาก โดยกระจก Low-E จะมีหลากหลายระดับให้เลือกใช้ ระดับทั่วไปคือ ฮาร์ดโค้ทโลว์อี (Hard Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อน (Emissivity) 15% – 36% และกระจกซอฟท์โค้ทโลว์อี (Soft Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำประมาณ 2% – 10% ดังนั้นกระจก Low-E จะมีคุณสมบัติแผ่รังสีความร้อนต่ำกว่ากระจกธรรมดา ช่วยลดการแผ่รังสีความร้อนเข้ามาภายในอาคารได้เป็นอย่างดี ช่วยลดปริมาณเสียงภายในและเสียงเข้าตัวอาคารได้ ถ้านำกระจก Low-E ไปทำกระจกลามิเนตและกระจกฉนวน 2 ชั้น ก็จะช่วยทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น กระจกชนิดนี้นิยมใช้ในพื้นที่ที่ต้องการเปิดมุมมองกว้างๆ เช่น คอนโดมิเนียมที่ต้องการเห็นวิวแบบเต็มๆ หรือในห้องที่หันออกในทิศทางที่ได้รับแสงแดดเป็นพิเศษนั่นเองค่ะ

องค์ประกอบภายในกระจก Low-E

เป็นอย่างไรกันบ้างคะหวังว่าทุกคนที่กำลังจะสร้างบ้าน หรือออกแบบบ้านเองคงได้ไอเดียสามารถเลือกใช้วัสดุประตู-หน้าต่างได้ถูกใจกันนะคะ สำหรับใครที่ต้องการเจาะลึกเรื่องวัสดุต่างๆภายในบ้าน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่

หรือสามารถรับชมรายการ Living Idea ของเราได้ตามช่องทางด้านล่างเลยค่ะ ^^

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving