3 Phatra_Jiraporn re-side

นางจิราภรณ์  ลินมณีโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (Mrs. Jiraporn Linmaneechote, Assistant Managing Director, Research, Phatra Securities, Plc.) กล่าวว่าปี 2558 ที่ผ่านมาภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้คึกคักมากนัก มีการเปิดตัวโครงการใหม่น้อยลง แต่พบว่ามูลค่าของการเปิดตัวเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการขยับขึ้นของราคา และการปรับตลาดไปในสินค้าที่มีราคาสูง ซึ่งในปี 2559 นี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มีการเตรียมโครงการที่จะเปิดตัวไว้เป็นจำนวนมาก

จากการสำรวจข้อมูลบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 7 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (พฤกษา, แลนด์แอนด์เฮ้าส์, แสนสิริ, เอพี, แอล.พี.เอ็น., ศุภาลัย และคิวเฮ้าส์) พบว่า ในส่วนของซัพพลายใหม่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 30% มาอยู่ที่ 65,000 ยูนิต โดยเป็นคอนโดมิเนียมราว 60% ทั้งนี้ บล. ภัทร ประเมินว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะขยายตัวประมาณ 17% หรือมีมูลค่าประมาณ 274,000 ล้านบาท   การเติบโตดังกล่าวจะมาจากการเปิดตัวใหม่ของโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (มกราคมเมษายน 2559) มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่รวม 13,500 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่จะมีมากในช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการขยายตลาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างชาติในการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระทางการเงิน และมีการทำการตลาดในลักษณะการนำโครงการคอนโดฯ ในประเทศไทย ไปเปิดตัวในต่างประเทศ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ต่างกันไป

ด้าน ดร. ปิยศักดิ์  มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Dr. Piyasak Manason, Senior Vice President and Department Head, Industrial and Economic Research, Kiatnakin Bank, Plc.) กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าในปี 2559 นั้น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2558 จากปัจจัยบวก 4 ประการ ได้แก่ 1. ทิศทางเศรษฐกิจมหภาคที่คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 2.8% ต่อปี ถัดมาคือ 2. การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจโรงแรม 3. นโยบายภาครัฐโดยเฉพาะส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่จะเป็นผลบวกต่อตลาดอพาร์ตเมนต์ของพนักงานบริษัท และ 4. การรวมกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเป็นผลบวกต่อตลาดอพาร์ตเมนต์ของนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตามกลยุทธ์ Thailand +1

เมื่อพิจารณาในแต่ละตลาด พบว่าตลาดโรงแรมมีแนวโน้มขยายตัวดีที่สุด เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขาเข้าและนักท่องเที่ยวในประเทศ การเติบโตของสายการบินราคาประหยัด และการขยายตัวของสื่อออนไลน์ในการท่องเที่ยว โดยเกียรตินาคินคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขาเข้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านคน 34 ล้านคน และ 36 ล้านคนในปี 2559-2561 ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อตลาดโรงแรมโดยเฉพาะโรงแรมระดับกลางและประหยัดที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศและภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก สำหรับจังหวัดหลักด้านการท่องเที่ยวรวมถึงจังหวัดดาวรุ่งที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจโรงแรมมี 18 จังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) เชียงใหม่ เลย พะเยา และลำปาง เป็นต้น

ในส่วนของตลาดอพาร์ตเมนต์ เกียรตินาคินคาดว่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ (Expat) มีแนวโน้มเติบโตดีที่สุด โดยเฉพาะเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เกรดบีที่ได้รับความสนใจมากขึ้นตามการขยายตัวของรถไฟฟ้าที่ทำให้ย่านธุรกิจ (Central Business District: CBD) ขยายตัวออกไป และส่งผลให้ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ของพนักงานบริษัท (White Collar) ได้รับอานิสงส์เชิงบวกด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตลาดนักเรียนนักศึกษายังสามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเกียรตินาคินมองว่าทำเลที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ในละแวกสถานศึกษาในต่างจังหวัด เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมีศักยภาพเติบโตได้ ขณะที่อพาร์ตเมนต์สำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศ จากการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นหลักเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น และจังหวัดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจหอพักคนงานได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา โดยเป็นจังหวัดที่จำนวนคนงานและพื้นที่โรงงานยังคงขยายตัวต่อเนื่อง