Cover2

ตลอดเจ็ดทศวรรษ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ…และเดินทางไปทั่วทั้งแผนดินไทยไม่เว้นแม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ต้องพำนักตามสถานที่ต่างๆ แต่พระราชวัง (หรือ บ้าน) ที่เคยประทับ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ คือที่ไหนบ้าง วันนี้ Think of Living ได้ลองรวบรวมมาให้ดูครับ

AW_palace_info

1. วังสระปทุม : ตำหนักใหม่

วังสระปทุม

วังสระปทุมเป็นวังที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองท่ามกลางห้างสรรพสินค้าและโรงแรมสมัยใหม่ซึ่งเป็นวังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เคยประทับสมัยทรงพระเยาว์ แต่เดิมวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้เป็นที่สร้างวังของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในพระองค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังมิได้มีการสร้างวังขึ้น ณ ขณะนั้น เนื่องจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงเริ่มสร้างพระตำหนักขึ้น ณ วังสระปทุม และเสด็จประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพพร้อมด้วยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์และครอบครัว ปัจจุบัน วังสระปทุมเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

และเหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์คือ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระยศขณะนั้น) และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรลงนามในทะเบียนนั้น พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามในทะเบียนนั้นด้วย หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินี”

วังสระปทุมมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้าน

  • ทิศเหนือติดคลองแสนแสบ
  • ทิศตะวันออกติดคลองอรชรริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
  • ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1
  • ทิศตะวันตกติดถนนพญาไท

ปัจจุบัน พื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าทำศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน

2. วิลล่าวัฒนา

วิลล่าวัฒนา

วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี(สมเด็จย่า) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล(รัชกาลที่ ๘) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ครั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วิลล่าวัฒนา ตั้งอยู่เลขที่ 51 Chamblandes dessusv อยู่ระหว่างถนน Tour Haldimand กับถนน General Guisan เมืองปุยยี นอกเมืองโลซานน์ เป็นบ้าน 3 ชั้น ขนาด 13 ห้องนอน ในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีบริเวณ และสวนผลไม้ หันหน้าไปทางทะเลสาบเจนีวา และมองเห็นเทือกเขาแอลป์ โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตัดสินพระทัยย้ายออกจากแฟลตขนาด 3 ห้องนอน เลขที่ 16 ถนนทิสโซ่ต์ เมืองโลซานน์ เข้ามาอยู่ที่บ้านหลังนี้ ภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัฐบาลได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติแทน

800px-วิลล่าวัฒนา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเช่าบ้านหลังนี้จากเจ้าของในราคาเดือนละ 8,000 ฟรังก์สวิส โดยเจ้าของยินดีขายบ้านให้ในราคา 96,000 ฟรังก์สวิส แต่ไม่ได้ทรงซื้อไว้ เพราะไม่มีเงินก้อน ทรงย้ายเข้ามาอยู่ที่วิลล่าวัฒนา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 และทรงใช้ชีวิตที่นี่เป็นเวลาสิบกว่าปี สาเหตุที่ทรงตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า “วิลล่าวัฒนา” ก็เพราะว่าต้องการให้ชื่อคล้องตามพระนาม “สว่างวัฒนา” ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

วันที่ 19 พ.ย. 2478 แม่เขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า “เดี๋ยวนี้ชื่อบ้านได้เปลี่ยนเป็นชื่อไทย เพราะชื่อเก่าไม่เพราะ แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘ลมจัด’ แม่เขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า เป็นสร้อยพระนามของใต้ฝ่าพระบาทและของบี๋ด้วย และแปลว่าเจริญ เหมาะดี เขียนเป็นภาษาฝรั่งอย่างนี้ Villa Vadhana”
-คัดลอกจาก หนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์”-

Villa Wattana04

ปัจจุบัน เจ้าของบ้านได้รื้อบ้านหลังนี้ลง เนื่องจากสภาพทรุดโทรม และสร้างใหม่เป็นอาคารอพาร์ตเมนต์ 3 ชั้นสำหรับให้เช่าพักอาศัย ตั้งชื่อว่า “อาคารเลขที่ 51” ขณะเดียวกันเมื่อปี 2540 เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสร้างพระตำหนัก 6 ชั้นหลังใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานและเป็นที่รับแขก ก็ทรงตั้งชื่อพระตำหนักหลังใหม่ว่า “พระตำหนักวิลล่าวัฒนา” ตามชื่อของบ้าน หรือพระตำหนักที่ทรงใช้ชีวิตมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

 

3. พระราชวังดุสิต : พระที่นั่งอัมพรสถาน

พระที่นั่งอัมพรสถาน2

ใน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งอัมพรสถาน3

พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นพระที่นั่ง3ชั้นผังอาคารเป็นรูปตัว H คือมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 หลังวางขนานกันในแนวทิศเหนือและทิศใต้เชื่อมต่อด้วยอาคารในแนวดิ่งสถาปัตยกรรมแบบวิลล่าในชนบทของยุโรป แบ่งออกเป็น 3 ชั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือพระที่นั่งอัมพรสถานและพระที่นั่งอุดรภาคเชื่อมต่อกันด้วยสะพานทั้งชั้นบนและชั้นล่างลักษณะเด่นอยู่ตรงที่มุขด้านหน้า 2 ข้าง ซึ่งทำเป็นผนังโค้งเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นระเบียงหุ้ม

พื้นที่ภายในผนังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ประยุกต์เข้ากับรูปทรงเลขาคณิต ขอบบนประตูหน้าต่างเป็นลวดลายแถบยาวรูปพรรณพฤกษาในแบบสีปูนเปียกคาดรอบตึก นอกจากนี้ยังมีราวระเบียงและลูกกรงที่ทำจากโลหะเป็นลายเลขาคณิตประกอบดอกไม้และโลหะ ผนังภายในอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและการเขียนสีปูนแห้งลายพรรณพฤกษาและปักษาซึ่งวาดโดย ซีซาร์เร เฟร์โร ศิลปินชาวอิตาเลียน

 

4. พระราชวังดุสิต : พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน2พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โดยบริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กรอบๆ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และท้าวโลกบาล คือ พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้น พระวิรุณอยู่เจน และพระกุเวรอยู่เฝ้า

พระตำหนักจิตรลดารโหฐานสร้างเป็นตึก 2 ชั้นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นครั้งคราว เมื่อมีพระราชพิธีต่าง ๆ ก็ทรงกระทำการที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเช่นเดียวกับพระราชวัง ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับที่วังพญาไท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกสวนจิตรลดาเป็นพระราชฐานอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก โปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์

ภายในพระตำหนักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ได้เคยพาสื่อมวลชนเข้าชมโครงการต่างๆ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และได้อธิบายถึงบรรยากาศภายในพระตำหนัก

“พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเปรียบเสมือน ′บ้านของพ่อ′ บ้านที่ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร แต่มีความรโหฐานคือความเป็นส่วนตัวและจำกัด ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระตำหนักที่มีเพียงห้องพระบรรทม ท้องพระโรงก็คือศาลาดุสิดาลัย ที่ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เช่นเดียวกับพระตำหนักในพื้นที่ตามต่างจังหวัด เพียงแต่พระตำหนักสวนจิตรลดาฯมี 2 ชั้น แต่ที่อื่นมีเพียงชั้นเดียว มีแค่พระตำหนักซึ่งไม่ได้ใหญ่โตอะไร เป็นที่ประทับได้เท่านั้น บ้านเศรษฐียังใหญ่กว่าอีก ถ้าไปดูที่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ใหญ่โต มีแค่ห้องพระบรรทมและท้องพระโรง แต่ส่วนที่ประกอบกันมาคือ หน่วยงานที่ถวายงานพระองค์ มหาดเล็ก  ซึ่งต้องมีที่เก็บของหรืออาคารทำงานต่าง ๆ ที่พัก ข้าราชบริพารเต็มไปหมด ยังมีส่วนของการรักษาความปลอดภัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ขาดไม่ได้คือแพทย์หลวง ในสวนจิตรลดาจะดูแลข้าราชการในพระองค์ ส่วนในต่างจังหวัดแพทย์หลวงยังทำหน้าที่ในการดูแลพสกนิกรที่มาขอความช่วยเหลือ ที่เหลือคือแปลงทดลองและงานวิจัยที่พระองค์ต้องเรียนรู้และทำด้วยพระองค์เอง เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปตรัสกับชาวบ้านได้”

“..ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดาและบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ด้วยพระองค์เอง…” (คำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2523)

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในพระราชวังดุสิตนั้นเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ ด้านทิศเหนือจดถนนราชวิถี ทิศตะวันออกจดถนนสวรรคโลก ทิศใต้จดถนนศรีอยุธยา ทิศตะวันตกจดถนนพระราม 5 เป็นพระตำหนักที่มีภูมิทัศน์ร่มรื่นด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ เขียวขจีด้วยนาข้าว ไร่หม่อน สวนป่า และพรรณไม้นานาชนิด รอบนอกแวดล้อมด้วยคูน้ำทั้งสี่ด้าน สัญลักษณ์ที่บ่งบอกผู้สัญจรไปมาว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นี้คือ ธงมหาราชสีเหลืองที่โบกสะบัดปลิวไสวอยู่บนยอดเสาเหนือพระตำหนัก

 

5. วังไกลกังวล : พระตำหนักเปี่ยมสุข

วังไกลกังวล

“วังไกลกังวล” สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.๗) โปรดเกล้าฯ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ ให้สร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดย หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานในขณะนั้นเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เพื่อใช้งานในการแปรพระราชฐานมาพักในจังหวัดริมทะเล โดยรัชกาลที่ 7 ทรงออกพระนามเรียกวังแห่งนี้ว่า สวนไกลกังวล และประทับตราสัญลักษณ์ของวังเมื่อ พ.ศ. 2472

e409db772e33cb11bca674f6e3b

พื้นที่ภายในวังไกลกังวลประกอบด้วยพระตำหนักและอาคารประกอบหลายอาคาร เช่น พระตำหนักเปี่ยมสุข เป็นพระตำหนักตึกแบบสเปนสูงสองชั้นพร้อมทั้งหอสูง เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และยังเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังมี พระตำหนักน้อย พระตำหนักปลุกเกษม พระตำหนักเอิบเปรม เอมปรีย์ ศาลาเริง และ ศาลาราชประชาสมาคม สำหรับให้ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้โดยไม่ต้องเสด็จฯกลับกรุงเทพมหานคร เช่น พิธีพระราชทานกระบี่ของนักเรียนนายร้อย เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2556 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามว่า “ศาลาราชประชาสมาคม” ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนเกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อใช้ในการเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในต่างจังหวัดและในวังแห่งนี้ เป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๙ นอกจากนี้ยังใช้ประกอบพิธีและพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ได้หลายครั้ง

Screen Shot 2016-10-18 at 2.41.46 PM

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่วังไกลกังวลแห่งนี้ในช่วงเดือน มี..-.. ของทุกปีเพื่อจะทรงติดตามงานในโครงการส่วนพระองค์ๆต่างๆในพื้นที่แถบนี้

6. บ้านไร่ ของในหลวง

บ้านไร่01

บ้านหลังนี้มิใช่ที่ประทับแบบถาวร แต่เกิดจากโครงการในพระราชดำริ “โครงการชั่งหัวมัน” ซึ่งเมื่อหลายคนเห็นชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน”  ก็คงจะเกิดความสงสัยไปตามๆกันว่าโครงการนี้เกี่ยวกับอะไร แล้วทำไมพระองค์ถึงพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน”

บ้านไร่06

ที่มาของโครงการนี้เกิดจากชาวบ้านได้นำหัวมันเทศมาถวายขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ วังไกลกังวล และก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมีพระราชประสงค์ให้นำหัวมันเทศไปไว้บนตาชั่งแบบโบราณ หลังจากนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังวังไกลกังวลอีกครั้งทรงพบว่าหัวมันเทศนั้นได้มีใบงอกออกมาจึงมีพระราชดำรัสว่า “มันอยู่ที่ไหนก็งอกได้” และรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ

บ้านไร่02

เมื่อ ปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ ประมาณ 250 ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ โดยให้เป็นพื้นที่ทดลองปลูกมันเทศและเน้นพันธุ์พืชเศรษฐกิจในจ.เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2552 เป็นต้นมา และพระราชทานพันธุ์มันเทศซึ่งออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานที่วังไกลกังวลให้นำมาปลูกไว้ที่นี่

บ้านไร่03

ทะเบียนบ้านเลขที่ 1 เป็น บ้านพักส่วนพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลถือโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่

บ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นวังหรือพระตำหนักอย่างที่เราคุ้นตากันแต่เป็นบ้านที่เกิดจากความทุ่มเทและตั้งใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯที่ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อทำให้พสกนิกรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารจนเป็นพื้นที่สีเขียวสามารถเพาะปลูกทำมาหากินได้

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • ประชาชาติธุรกิจ
  • wikipedia
  • อพ.สธ.
  • pantip.com
  • manager.co.th
  • 100 เรื่องพระราชินีของฉัน
  • เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์