สำหรับใครหลายคนที่กำลังจะแต่งงาน จากที่เคยอยู่บ้านของคุณพ่อคุณแม่ หรือบางคนออกมาอยู่คนเดียวนานแล้ว เมื่อจะต้องปรับชีวิตใหม่ที่เป็นการใช้ชีวิตร่วมกับคนอีกคนเรียกได้ว่าเป็นครึ่งนึงของชีวิตก็ว่าได้ ซึ่งเราเชื่อว่านอกเหนือจากการปรับตัวแล้ว การปรับเปลี่ยนที่อยู่ในช่วงนี้ก็มีไม่น้อยเช่นกันค่ะ ซึ่งการจะเลือกที่อยู่อาศัยแบบไหนเป็นเรือนหอดีนั้น เรามีปัจจัยในการช่วยตัดสินใจเลือก รวมไปถึงบอกข้อดี-ข้อด้อยไม่ว่าจะเป็น บ้าน หรือ คอนโด มาให้อ่านกันค่ะ 🙂

กลุ่มคนที่กำลังมองหาเรือนหอเพื่อเตรียมตัวแต่งงานมีอยู่ตลอดนะคะ และยังจัดว่าเป็นกลุ่มที่มองหาที่อยู่อาศัยใหม่เยอะทีเดียว เนื่องจากอยู่ในวัยทำงานมาสักพัก มีกำลังที่จะสามารถผ่อนที่อยู่อาศัยของตัวเองได้แล้ว รวมไปถึงเมื่อถึงเวลาที่ต้องขยับขยายออกจากบ้านของครอบครัว หรือต้องขยับขยายจากห้องขนาดเล็กอยู่คนเดียวเป็นอยู่สองคนแล้วนั้น ก็ย่อมเป็นเหตุผลให้ต้องมองหาที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งนั้น แต่หลายๆ คนโดยเฉพาะกลุ่มคู่รักที่เตรียมตัวจะแต่งงานนี้ น่าจะมีหลายคู่ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือก บ้าน ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าคอนโด เผื่อไว้สำหรับมีเจ้าตัวเล็ก หรือจะเลือก คอนโด ที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน เดินทางได้สะดวก ได้วิวมุมสูง

ซึ่งก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อ หรืออยู่ในช่วงกำลังเลือก เราอยากให้ทราบถึง 4 ข้อที่ควรรู้ก่อนเลือกบ้าน หรือ คอนโดเป็นเรือนหอค่ะ

ทำเล และการเดินทาง

เชื่อว่าหลายคู่รักน่าจะอยู่ในช่วงอายุวัยทำงานกันอยู่แล้วนะคะ ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆ เลยคือเรื่องของ ทําเล (Location) เนื่องจากการเดินทางหลักๆ จำเป็นต้องเดินทางไป-กลับที่ทำงานอยู่เกือบทุกวันนะคะ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงเลยคือที่ตั้งโครงการเดินทางไปที่ทำงานได้สะดวกไหม ประกอบกับเราถนัดหรือสะดวกในการเดินทางรูปแบบไหนด้วย เช่น บางคนไม่มีรถ ขับรถไม่เป็น มักจะพึ่งพารถสาธารณะอยู่แล้ว ก็อาจจะเหมาะกับทำเลที่เรียกรถไปที่ทำงานได้สะดวก หรือใกล้กับรถไฟฟ้า ส่วนบางคนที่มีรถยนต์ส่วนตัวก็ควรเลือกทำเลมีถนนหลักตัดผ่านเยอะ หรือมีซอยลัดเลาะเยอะ สำหรับใช้เลี่ยงรถติดในช่วงเร่งด่วนค่ะ

คอนโดมิเนียม

สำหรับทำเลคอนโดมิเนียมนี้ แน่นอนว่าจุดขายของคอนโดมิเนียมเมื่อเทียบกับบ้านย่อมเป็นเรื่องทำเลเสมอๆ นะคะ เพราะส่วนใหญ่คอนโดมักตั้งอยู่ในตัวเมือง และอิงกับรัศมีที่ใกล้รถไฟฟ้าเป็นหลักอยู่แล้ว การเดินทางจากคอนโดไปยังสถานที่ต่างๆ ในเมืองก็ย่อมจะสะดวกมากกว่า หรือมีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลายกว่า เช่น เรียกแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ง่าย เพราะอยู่ติดถนนใหญ่บ้าง หรือในซอยย่อยที่ก็มักจะมีวินมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว หรือบางโครงการที่หลุดระยะเดินง่ายใกล้รถไฟฟ้าไปก็อาจจะมี Shuttle Service คอยรับ-ส่งลูกบ้านจากโครงการไปยังสถานีรถไฟฟ้า แต่ตรงข้ามกับการเดินทางรถยนต์ส่วนตัวนะคะ เพราะอาจจะไม่สะดวกเท่ากับบ้านตรงที่ที่จอดรถคอนโดส่วนใหญ่ให้ไม่ถึง 100% ที่สามารถรองรับรถยนต์ได้ทุกคันนะคะ

ส่วนความอุดมสมบูรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของคอนโดมิเนียมเช่นกัน เพราะหากไม่ได้ใกล้รถไฟฟ้าก็มักจะอิงไปที่แหล่งความอุดมสมบูรณ์ของทำเลนั้นๆ อยู่แล้วนะคะ เช่น ใกล้ห้าง ใกล้ตลาด หรือไม่หากโครงการอยู่ไกลจากแหล่งของกินบางโครงการก็มีการจัดพื้นที่ภายในโครงการให้มี Community Mall, Minimart อยู่ในโครงการเลยให้ลงจากห้องมาซื้อของกินได้เลยค่ะ

บ้าน/ทาวน์โฮม

ลักษณะของทําเลที่นิยมถูกนํามาพัฒนาเป็นบ้านจะแตกต่างจากคอนโดมิเนียมตรงที่มักเป็นทําเลที่ไกลออกมาจากตัวเมืองชั้นในหน่อยหรืออยู่ชานเมืองที่ไม่ได้ติดกับรถไฟฟ้าในระยะเดินเท่ากับคอนโด แต่ก็ยังมีความสะดวกสบาย เดินทางสะดวกด้วยรถยนต์ ใกล้ทางด่วน เป็นต้น เพราะปัจจุบันจะหาบ้านในตัวเมืองที่มีราคาให้คนทั่วไปพอจับต้องได้นี่เรียกว่าแทบไม่มีแล้วนะคะ ดังนั้นการเดินทางหลักของบ้านนี้จะพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวเป็นหลักเลยค่ะ แต่ก็แลกมากับบรรยากาศที่เงียบสงบกว่า ไม่คึกคักและพลุกพล่านเท่ากับทำเลคอนโดมิเนียมนะคะ ใครที่อยากพักผ่อนวันหยุดที่เงียบสงบก็เหมาะกับโครงการบ้าน/ทาวน์โฮมมากกว่าค่ะ

Facilities (พื้นที่ส่วนกลาง)

พื้นที่ส่วนกลาง (Facilities) เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าเราเหมาะกับการอยู่อาศัยในรูปแบบใดนะคะ โดยเน้นหนักไปที่ไลฟ์สไตล์เป็นหลักนะคะ ซึ่งไม่ว่าบ้านหรือคอนโดมิเนียมก็จะมีบางสิ่งที่เป็นจุดขายของกันอยู่ ที่แตกต่างกันไปอย่างชัดเจนเลยค่ะ

คอนโดมิเนียม

คอนโดมิเนียมเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นอาคารสูงแล้ว แน่นอนว่า Facilities ที่ย่อมอยู่บนที่สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นวิวจาก Facilities ของคอนโดมักจะเป็นวิวที่สวยกว่าโครงการบ้านอยู่แล้วนะคะ และถึงแม้คอนโดจะมีพื้นที่ค่อนข้างจํากัดแต่ส่วนกลางของคอนโดก็พยายามจัดฟังก์ชันให้หลากหลายมากขึ้น เพราะแนวคิดของการออกแบบส่วนกลางคอนโด คือการชดเชยข้อจํากัดของพื้นที่อยู่อาศัยภายในห้องด้วยการทําส่วนกลางมาให้หลากหลายที่ตอบสนองต่อการใช้ขีวิตประจําวัน เช่น ห้องทํางานหรือ Co-Working Space หรือห้องประชุมเล็กๆ เอาไว้มานั่งทํางาน อ่านหนังสือ หรือเปลี่ยนบรรยากาศทํางานเผื่อว่าใครเบื่อบรรยากาศที่ต้องนั่งอยู่ในห้องอย่างเดียว แถมยังนัดเพื่อนมาคุยงานได้
อีกด้วย

และบางโครงการก็มี ร้านค้า (Shop) หน้าโครงการหรือภายในโครงการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทําให้การอยู่อาศัยสะดวกสบายขึ้น สําหรับโครงการประเภทคอนโดนั้น หลายๆคอนโดมักจะมีพื้นที่เตรียมไว้สําหรับร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านซักรีดต่างๆ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ลูกบ้านไว้ในโครงการเลย

บ้าน/ทาวน์โฮม

ส่วนกลางของบ้านมีข้อได้เปรียบหลักเลยคือ พื้นที่สีเขียว และพื้นที่ส่วนกลางที่มีที่ดินมากกว่าแน่ๆ ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้เราสามารถใช้งานได้มากกว่าการใช้เฉพาะส่วน Facilities ใน Club House เท่านั้นนะคะ เพราะเราสามารถขี่จักรยาน วิ่งเล่น หรือออกกำลังกายพร้อมชมสวนโครงการได้ด้วย ซึ่งหาไม่ได้ในคอนโดมิเนียมเท่าไหร่นัก (นอกจากโครงการขนาดใหญ่ พื้นที่เยอะ) และอีกหนึ่งคำตัดสินชี้ขาดว่าบ้านเหมาะกับการอยู่อาศัยของเราคือ คนที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมว เพราะ คอนโดส่วนใหญ่ หรือเรียกได้ว่าเกือบทุกคอนโดไม่อนุญาตให้เราเลี้ยงสัตว์ได้ แต่ถ้าอยู่บ้านก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย ข้อได้เปรียบนี้ทําให้คนรักสัตว์อาจต้องคิดหนักหน่อยหากจะย้ายมาอยู่คอนโด อยู่บ้านเราอยากจะเลี้ยงแมวกี่ตัวก็ได้แต่ถ้าอยู่คอนโดตัวเดียวก็เลี้ยงไม่ได้นะคะ ยกเว้นบางโครงการที่เค้าอนุญาตให้เลี้ยงได้แต่ก็มีจํากัดในเรื่องของน้ําหนักสัตว์เลี้ยงอยู่ไม่ใช่อยากเลี้ยงน้องหมาขนาดใหญ่อย่าง เซนต์เบอร์นาร์ดหรือพิทบลูก็เลี้ยงได้

การคำนวณค่าส่วนกลาง

เสริมอีกหน่อยสำหรับหัวข้อนี้ ซึ่งเรามองว่าไม่ควรมองข้ามก็คือเรื่อง ค่าส่วนกลาง ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาซื้อบ้านหรือทาวน์โฮม ทางโครงการจะแจ้งจํานวณเงินมาอยู่แล้วว่าเป็นกี่บาทต่อเดือน ซึ่งเราก็เอาตัวเลขนั้นมาคูณกับขนาดที่ดินของบ้านเราได้เลย แต่หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วค่าส่วนกลางทางโครงการไปเอาตัวเลขมาจากไหน เราจะขออธิบายเพิ่มเติมหลักการคํานวณค่าส่วนกลางแบบคร่าวๆให้เข้าใจกัน
แบบง่ายๆ นะคะ

สมมุติว่าโครงการที่เราอยู่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลส่วนกลางทั้งหมด ปีละ 2,160,000 บาท ถ้ามาคิดเป็นเดือนก็ตกเดือนละ 180,000 บาท ในโครงการ เรามีบ้านอยู่ 100 ยูนิตที่มีขนาดที่ดินเท่าๆกัน คือ 60 ตารางวา วิธีคิดเราจะหาพื้นที่ขายทั้งหมดก่อนโดยเอา 100 ยูนิต x 60 ตารางวา = 6,000 ตารางวา

หลังจากได้พื้นที่ขายทั้งหมดแล้ว เราก็นําค่าใช้จ่ายทั้งหมดหารด้วย พื้นที่ขาย 180,000 บาท / 6,000 ตารางวา = 30 บาท / ตารางวา
เราก็จะได้ตัวเลขที่เราต้องจ่ายเป็น 30 บาทต่อพื้นที่ 1 ตารางวาต่อเดือน
สรุปบ้านหนึ่งหลังต้องจ่ายค่าสวนกลาง 60 ตารางวา x 30 บาท = 1,800 บาทต่อเดือน

สําหรับการคํานวณค่าส่วนกลางของคอนโดนั้นไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากการคํานวณของบ้าน เพียงแต่หน่วยของที่ดินที่เป็น ตารางวา จะเปลี่ยนเป็น ตารางเมตร ของพื้นที่ใช้สอยแทน ค่าส่วนกลางทั้งบ้านและคอนโดจะถูกจัดเก็บงวดแรก ณ วันโอนกรรมสิทธิโดยจะมีการเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอาจจะเก็บแค่ 1 ปี, 2 ปี หรือ3 ปี ก็ได้คิดง่ายๆ คือ ถ้าโครงการบอกว่า 40 บาทต่อตารางเมตร เก็บล่วงหน้า 2 ปีใน
ขณะที่ห้องเรารังวัดในโฉนดแล้วออกมาเป็น 30 ตารางเมตรพอดีเราก็เอาพื้นที่ใช้สอย
คูณกับค่าส่วนกลางต่อตารางเมตร แล้วนํามาคูณกับจํานวนเดือนที่ต้องจ่าย

ในตัวอย่างนี้คือ 2 ปี= 24 เดือน = (30 ตารางเมตร x 40 บาท) x 24 เดือน = 28,800 บาท

การคํานวณเงินกองทุน
การชําระค่ากองทุนกิดขึ้นในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน เก็บรอบเดียวแล้วจบเลย โดยถ้าโครงการบอกว่า 400 บาทต่อตารางเมตร อย่างเช่น ถ้าห้องเรารังวัดในโฉนด แล้วออกมาเป็น 30 ตารางเมตรพอดี

= 30 ตารางเมตร x 400 บาทต่อตารางเมตร = 12,000 บาท

พื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชัน

พื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชัน 

จุดที่เรามองว่าแตกต่างกันชัดเจนมากๆ สำหรับคอนโดมิเนียมและบ้านนั้นคือพื้นที่ใช้สอยและการจัดวางฟังก์ชันภายในเลยค่ะ เพราะอย่างที่เราน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าคอนโดมิเนียมนั้นมักมีพื้นที่ใช้สอยน้อยกว่าบ้านเป็นเรื่องปกติ และหลายคนก็นึกไม่ออกว่าคอนโดจะได้เปรียบกว่าบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่ายังไงนะคะ แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 รูปแบบที่อยู่อาศัยนี้ต่างมีข้อดี-ข้อด้อยกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบไหนที่เหมาะกับใครเท่านั้นเอง

คอนโดมิเนียม

เริ่มต้นกันที่รูปแบบการอยู่อาศัยบนคอนโดมิเนียมอย่างที่รู้กันว่าลักษณะการอยู่อาศัยจะเป็นการอยู่อาศัยในยูนิตหรือเรียกง่ายๆว่าห้อง โดยขนาดของห้องห้องนึงจะมีขนาดเล็กใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการพื้นที่ใช้สอยและจํานวนสมาชิกในครอบครัวของผู้อยู่เองเป็นหลักอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไปห้องพักอาศัยบนคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มีขนาดพื้นที่ใช้สอยที่กะทัดรัดกว่าบ้าน ทําให้รูปแบบการจัดสรรฟังก์ชันภายในจึงถูกออกแบบให้ประกอบไปด้วยฟังก์ชันที่จําเป็นในการอยู่อาศัยเป็นหลัก เช่น ห้องนอน ห้องน้ํา ห้องครัว พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และระเบียง ซึ่งก็จะเหมาะกับคนที่วางแผนไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะไม่ลูกในอนาคต หรือบางคนไม่ต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เกินความจำเป็น เน้นดูแลรักษาง่าย ไม่เยอะ เพราะหลักๆ แล้วรูปแบบการอยู่บนคอนโดเราก็แค่ดูแลภายในห้องเราเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของทางนิติบุคคลที่จะว่าจ้างพนักงานมาดูแลอาคารนะคะ ซึ่งแตกต่างจากบ้านที่มีที่ดินรอบบ้านให้ดูแลด้วยเช่นกัน

บ้าน/ทาวน์โฮม

บ้านมีที่ดินเป็นของตัวเองชัดเจน ซึ่ง “ที่ดิน” จัดเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้บ้าน (ที่อยู่อาศัยแนวราบ) แตกต่างกับห้องพักอาศัยบนคอนโดมิเนียม เพราะนํามาซึ่งปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทําให้การอยู่อาศัยของเราไม่เหมือนกับอยู่บนคอนโดมิเนียม แม้จะมีฟังก์ชันพื้นฐานที่เหมือนกันนะคะ นอกจากนี้คือ ความอิสระ อันเนื่องมาจากว่าเรามีที่ดินของตัวเอง มีโฉนดขอบเขตความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน ซึ่งไม่ต้องร่วมกับเพื่อนบ้าน แตกต่างจากคอนโดมิเนียมที่เราอยู่ร่วมบนที่ดินเดียวกัน มีสิทธิ์เสียงเช่นเดียวกัน ดังนั้นเวลาเราจะทําอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง
กับส่วนรวมจําเป็นต้องมีกฎเข้ามาควบคุมเสมอเพื่อให้การจัดการต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันแตกต่างจากบ้านที่เราสามารถต่อเติม รื้อถอน หรือปรับเปลี่ยนได้ตามใจที่เราต้องการ (แต่ไม่รุกล้ำเพื่อนบ้านหรือผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) และจะยิ่งเป็นตัวเลือกที่เด็ดขาดมากขึ้นสําหรับใครที่ต้องการพื้นที่รอบนอกบ้าน สําหรับทําสวน ปลูกต้นไม้หรือพื้นที่ Outdoor ต่างๆของตัวเองชัดเจน เพราะหาไม่ได้แน่นอนจากคอนโดมิเนียมที่จะมีพื้นที่ดินส่วนตัวค่ะ


และสุดท้ายเมื่อท้ายสุด พอเราทราบความแตกต่างระหว่างบ้านและคอนโดมิเนียมแล้วว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งจริงๆนอกเหนือ
จากปัจจัยเรื่องทำเล การเดินทาง Facilities พื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชันแล้ว ตามความเป็นจริงก็มีจุดที่ทําให้เราตัดสินใจได้ชัดเจน คือเรื่องของ “งบประมาณ” ซึ่งหากเราเลือกทําเลเดียวกัน เช่น เราเลือกย่านลาดพร้าว หากเรามีงบประมาณที่ตั้งไว้อยู่ในช่วง 2-5 ล้านบาท จะเลือกบ้านก็หาซื้อไม่ได้เพราะบ้านในทำเลนี้ราคาโดดไปไกลแล้วนะคะ ดังนั้นงบเท่านี้ คําตอบจึงตกมาเป็นคอนโดมิเนียมโดยปริยาย เป็นต้น โดยอันนี้จะขึ้นอยู่กับทําเลนั้นๆ และการตั้งต้นโจทย์ด้วยงบประมาณที่สอดคล้องกับทำเลนะคะ 

ส่วนในกรณีที่ 2 คือเรามีงบเพียงพอไม่ว่าจะสําหรับคอนโดมิเนียมหรือบ้าน ให้พิจารณาความต้องการในการใช้ฟังก์ชันตามจํานวนสมาชิกครอบครัว เช่น นาย ก. แต่งงานอยู่กับภรรยา 2 คนยังไม่มีลูก แต่มองอนาคตไว้ว่าจะมีลูกกัน 2 คน แสดงว่าในอนาคตสมาชิกครอบครัวนาย
ก.จะมีทั้งหมด 4 คน ก็ควรจะเลือกคอนโดมิเนียมที่มีห้องนอน 3 ห้องนอนเป็นอย่างต่ำหรือจะเป็นบ้านเลยก็สามารถตอบโจทย์ได้ดีและมีพื้นที่ภายนอกให้เด็กๆ ได้ด้วย เป็นต้นค่ะ 🙂

หวังว่าบทความของเราจะช่วยให้คุณผู้อ่านได้ทราบถึงข้อแตกต่างระหว่างบ้านและคอนโด เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกบ้านหรือคอนโดได้ตรงกับความต้องการได้นะคะ หากต้องการสอบถามหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถ Comment ด้านล่างได้เลยค่ะ นอกจากเป็นการพูดคุยกันแล้ว ยังถือเป็นการแชร์เรื่องราวให้เพื่อนร่วมอ่านคนอื่นๆ ด้วยนะคะ ^^