จากความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้พาไปดูที่อยู่อาศัยในรูปแบบ “คอนโดมิเนียม” ที่กำลังเปิดขายและก่อสร้างอยู่ของชาวญี่ปุ่น ปี 2019 ในย่านโอซะกะ Osaka กันนะครับ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านสามารถไปดูย้อนหลังได้โดย “คลิกที่นี่” นะครับ

Google Maps พิกัด 34.688946,135.564274

ในตอนนี้ผมจะพาไปดูส่วนของอาคารสูงแห่งนึง พึ่งก่อสร้างเสร็จประมาณปีเดียว ยังคงอยู่ในย่านโอซะกะ เช่นเดียวกัน ใกล้ๆกับตัวสถานี Hanaten Station ไม่ไกลจากตัวปราสาทโอซะกะ หรือ ตัวเมืองโอซะกะด้วย ประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น

โครงการนี้มีชื่อว่า Splendide Hanaten” เป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ Service Apartment สูง 14 ชั้น ก่อสร้างโดยบริษัท Shinwa Group กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีอายุมากว่า 130 ปีแล้ว หลายๆท่าอาจจะคุ้นชื่อกันบ้าง เพราะเค้ามีการมาเปิดตลาดที่อยู่อาศัยในไทยบ้านเราแล้ว ใช้ชื่อบริษัทว่า Shinwa Real Estate 

กลับมาเข้าเรื่องกันต่อครับ ซึ่งดูจากหน้าตาแล้ว ผิวเผินอาจจะไม่มีอะไร แต่โครงการนี้ออกแบบมารองรับเรื่อง “การป้องกันแผ่นดินไหว” นั่นเอง

ขออนุญาติเกริ่นนิดนึงนะครับ ถ้านึกถึงแผ่นดินไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มบ้านเรา หลายๆคนคงนึกถึง “ประเทศญี่ปุ่น” นี่แหละ เพราะภูมิศาสตร์เค้าตั้งอยู่บนรอยต่อแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเกิดการมุดตัวเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ จึงเกิดแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายมานับแต่อดีตบ่อยครั้ง

แผ่นดินไหวที่มีขนาดตั้งแต่ 5.0 ริกเตอร์ขึ้นไป สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารและสิ่งก่อสร้างได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวและสภาพทางธรณีวิทยาของที่ตั้งอาคารหรือสิ่งก่อสร้างผลกระทบของแผ่นดินไหวจะก่อให้เกิดความเสียหายในลักษณะต่างๆกัน

ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เตรียมรับมือ แก้ไข กับบทเรียนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ อาทิเช่น ทำการปรับปรุงในส่วนของโครงสร้างหลัก เช่น เสริมเหล็กโครงสร้างแนวทแยงมุมในช่วงเสาโครงสร้างหลัก, รื้อและเปลี่ยนวัสดุหลังคา  จากกระเบื้องดินเผาน้ำหนักมาก มาเป็นหลังคาเมทัลชีท หรือแอสฟัลท์ชิงเกิ้ล ที่มีน้ำหนักเบากว่าหลายเท่าตัว เป็นต้น ปัจจุบันของอาคารในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดมีการออกแบบเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสามารถป้องกันความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของคนญี่ปุ่นได้ ถึงแม้จะไม่ 100% แต่จากสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายก็ลดน้อยลงตามลำดับ

ที่ญี่ปุ่นนั้น บริษัทก่อสร้างหลายๆเจ้าเลยร่วมกันคิดค้นระบบป้องกันแผ่นดินไหว จะสามารถแยกออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆด้วยกันคือ
1) Earthquake Resistant Structure
2) Damping Structure
3) Base Isolated System

ซึ่งเจ้าระบบแบบที่ 1-2 อย่าง Earthquake Resistant Structure และ Damping Structure ที่แม้ว่าอาคารจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่ตัวอาคารจะเคลื่อนตัวและเขย่าตามแรงสั่นสะเทือน ซึ่งทำให้สิ่งของในอาคารเลื่อนหล่นแตกหัก ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยสูญเสียทรัพย์สิน นอกจากนี้ แม้ว่าตึกจะไม่เสียหายแต่จะมีการเคลื่อนตัวออกไปจากจุดเดิมได้

โดยในวันนี้นั้นถือว่าโชคดีทีเดียวครับ ที่ทาง Shinwa Group นั้นพาไปดูกันแบบเปิดส่วนท้องใต้อาคารอพาร์ทเมนท์ Splendide Hanaten ตัวนี้กันแบบจะๆเลย โดยที่นี่เค้าจะใช้ใช้ระบบ NS-SSB จากบริษัท Shinnittetsu Sumikin Engineering โดยการใช้หลักไจโรสโคปมาปรับใช้

ลงมาส่วนใต้ท้องอาคารกันแล้วครับ โดยเจ้าระบบ NS-SSB กันแผ่นดินไหวจะใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า Base Isolator System (ระบบแยกฐานกับโครงสร้าง) เป็นการสร้างระบบฐานพื้นแยกตัวออกจากอาคาร ซึ่งด้านล่างใต้พื้นจะเป็นส่วนงานฐานราก ดังนั้นเวลาเกิดแผ่นดินไหวพื้นดินจะเคลื่อนตัวไปในแนวระนาบอย่างช้าๆ แทนการสะเทือนโดยตรงอย่างเดิม และเสาจะกลับสู่ศูนย์กลางในจุดเดิมเสมอ จึงไม่มีปัญหาอาคารเคลื่อนที่ อีกทั้งทำให้คนในอาคารไม่รู้สึกถึงแผ่นดินไหวและทรัพย์สินไม่เคลื่อนตัวหากความรุนแรงนั้นต่ำกว่า 5.0 ตามมาตราริกเตอร์ วิศวกรของที่นี่กล่าวไว้ว่ามันสามารถรองรับความรุนแรงได้มากถึง 9.0 ริกเตอร์ด้วย (แต่ว่าที่นี่ไม่เคยเกิดระดับรุนแรงขนาดนั้นนะ) โดยตัวอาคารนี้ทีจะมีเสาเข็มแยกออกมาทั้งหมด 12 ต้น และใช้เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ควบคู่ไปด้วยกันทุกจุด

ระบบ Base isolated system จะมีค่าใช้จ่ายในด้านการออกแบบที่สูงกว่า แต่ในการก่อสร้างอาคารที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวในระดับสูงระบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

[ คุณลักษณะ 4 ข้อของ Base isolated system ได้แก่ ]

1. ตัวอาคารแยกออกจากฐานราก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนไม่ส่งไปยังอาคารโดยตรง
2. สามารถรับน้ำหนักของอาคารได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและคงไว้ซึ่งความมั่นคง
3. ช่วยลดการสั่นสะเทือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
4. ตัวอาคารสามารถเคลื่อนกลับมายังตำแหน่งเดิมได้เมื่อแผ่นดินไหวสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ ที่ชั้นใต้ดินยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เป็นแท่นวางเข็มสกัด เพื่อเอาไว้บันทึกเวลาเกิดเหตุแผนดินไหว และมีลักษณะการเคลื่อนตัวไปในทิศทางอย่างไร จะได้นำไปวิเคราะห์ต่อ (โดยเป็นระบบแบบที่ไม่ใช้ไฟฟ้า ในการใช้งานเพราะเวลาเกิดเหตุไฟฟ้าอาจจะดับครับ)

และยังมีการติดตั้งระบบท่อที่ชั้นใต้ดินนี้เหนือฐานราก แบบมีสายคล้องลอยกลางอากาศ เพื่อป้องกันการกระแทกการแตกเวลาเกิดเหตุเคลื่อนตัวของอาคาร รวมไปถึงพวกงานสายไฟในชั้นใตดินนี้ก็จะมีการเผื่อความยาวไว้มากขึ้นถ้ามีเหตุการณ์ก็จะได้ให้ขาดได้ยากขึ้นด้วยเช่นเดียวกันครับ

ก็จบกันไปแล้วกับที่แรก ที่ผมได้มีโอกาสไปดูของจริงมา นับว่าชาวญี่ปุ่นนั้นผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายอย่างแผ่นดินไหวมาหลายครั้งหลายครา แต่ประชาชนของเค้าก็ได้เรียนรู้ และหาทางเอานวัตกรรมต่างๆมาปรับใช้ในการก่อสร้าง วิวัฒนาการมาจนเป็นระบบนี้ในปัจจุบัน นับว่าน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยทีเดียวครับ


Google Maps พิกัด 34.707600, 135.489073

และในที่ถัดไปที่ผมจะพาไปดู นั้นเป็นอพาร์ทเมนท์อีกแห่ง โดยทำเลที่ตั้งนั้นอยู่ห่างจากสถานี Osaka Station  เพียง 900 ม. เท่านั้น (เดินไปก็ราวๆ 10 นาที)

โดยอาคารนี้มีชื่อว่า ARROWFIELDS壱番館 ดีไซน์หน้าตาก็เป็นมาตรฐานของญี่ปุ่นที่เรามักเห็นโดยทั่วไปครับ ที่นี่มีอายุอาคาร 10 ปีกว่าแล้ว อาคารนี้ก่อสร้างโดย Shinwa Group เช่นเดียวกับที่แรกที่ผมพาไปดูนะ

หน้าตาภายในอาคารบริเวณโถงต้อนรับ Lobby มีการใช้วัสดุธรรมชาติมาตกแต่งค่อนข้างเยอะ ให้การเปิดช่องแสงมากพอสมควร ระบบรักษาความปลอดภัยมีทั้ง Keycard, CCTV ,VDO Door Phone

โถงทางเดินบริเวณพักอาศัยของที่นี่จะเป็นแบบ Single Corridor (ทางเดินเดียว) และเป็นแบบเปิด Semi Outdoor ครับ วัสดุปิดผิวอาคารยังคงเป็นดีไซน์พวกงานกระเบื้องเหมือนกัน

หน้าตาด้านนอกส่วนของประตูห้องพักอาศัย มีพวก VDO Door Phone และก็อุปกรณืดับเพลิงอยู่ที่หน้าห้อง

ฟังก์ชัน Genkan – โถงด้านหน้าห้อง ที่มีการลดระดับลงมาเล็กน้อย เพื่อกันฝุ่น ให้สำหรับเป็นที่ถอดรองเท้า อย่างที่กล่าวไปในตอนแรก ว่าเราจะเจอฟังก์ชันนี้ในทุกๆบ้านของเค้า ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันดีมาก บ้านเราน่าจะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ เพราะคอนโดบ้านเราส่วนใหญ่เปิดเข้าห้อง และต้องเหยียบเข้าไปในพื้นห้องที่เป็นโถงรวมเลย

ส่วนของห้องน้ำแรก จะเป็นแบบแปลกๆหน่อย คือมีแต่เจ้าสุขภัณฑ์โดดๆอย่างเดียวเท่านั้นครับ ขนาดก็เลยแค่เข้าไปยืนได้เฉยๆ

ซึ่งห้องน้ำจะมีแยกไปอีกห้องนึงจากห้องโถงหลัก เป็นแบบ Full Option มากกว่าแบบนี้ แยกโซนแห้งและโซนเปียกเหมือนกับบ้านเรา

พื้นที่ส่วนเปียกหรืออาบน้ำ ก็ยังคงมีอ่างอาบน้ำ แต่ว่าเป็นลักษณะถ้าลงไปแช่ใช้งานก็ต้องชันงอเข่าหน่อยครับ

พื้นที่ระเบียงของห้องนี้กว้างมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมีเจ้าระบบบันไดหนีไฟฉุกเฉินในตัว แบบ Ep.1 ที่ผมพาไปดู คือเวลาถ้าเกิดเหตุ เราสามารถใช้หนีฉุกเฉินจากจุดนี้ได้เลย และทะลุลงไปชั้นล่างเรื่อยๆครับ

ตัวกระจกของที่นี่จะใช้เป็นลักษณะประกบกันสองฝั่งโดยยึดกับเจ้าลวดที่อยู่ตรงกึ่งกลาง เพื่อป้องกันเวลาเกิดการแตกตัวของกระจกและหลุดมาทั้งแผ่น ทำให้เกิดเหตุได้

กริมมิคเล็กๆน้อยๆของการออกแบบห้องนี้ คือมีพื้นที่เก็บของลับบริเวณใกล้กับฟังก์ชันครัว แบบนี้ครับ เอาไว้เก็บพวกอาหารสำรองได้ด้วยนะ

เอาล่ะ… มาถึงจุดเด่นของห้องนี้กันจริงๆ ที่โถงรวมของห้องนี้นั้น เป็นโครงการนี้ได้มีการนำเอานวัตกรรมลิขสิทธิ์จากทาง Shinwa Group โดยการกลับพื้นเป็นคานและกลับคานเป็นพื้นมาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ถึง 40% ตั้งชื่อว่า RUNESU

โดยคำว่า Runesu มาจากคำว่า ルネス  เป็นเทคโนโลยีก่อสร้างลิขสิทธิ์เฉพาะของ Shinwa Group ที่ทำการกลับคาน เอาพื้นไว้ด้านล่าง แล้วเอาคานซึ่งทำจากเหล็กชนิดพิเศษ ที่มีชื่อว่า Sigma Beam มาวางไว้บนคาน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพื้น 60 ซ.ม. เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม

ห้องที่เป็น Runesu จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 25-40% ซึ่งสามารถทำเป็นพื้นที่เก็บของด้านล่างได้

พื้นของห้องนี้จะมี Runesu หรือ ช่องเก็บของมาให้ด้วย โดยการเปิดใช้งานจะมี 2 แบบคือยกแผ่นที่ปิดขึ้นมา อย่างในห้องนี้ กับแบบเปิดออก 2 ฝั่ง ผมลองทดสอบลงไปด้านล่างดู ไม่ได้มีการกั้นโซนแต่อย่างใด แต่สามารถเก็บของเพิ่มเติมได้เยอะมาก (กินพื้นที่ใต้ห้องโถงครึ่งนึงและห้องนอนทั้งหมด)

โดยถ้าใครอยากเห็นของจริงที่มีการประยุกต์และมาในตลาดบ้านเรา ทางชินวะเค้าเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วเป็นคอนโดชื่อ Runesu ทองหล่อ 5 และในปีนี้ก็กำลังจะเปิดตัวอีกโครงการที่จับมือกับ PRESSANCE และ Prebuilt เป็นโครงการใหม่ล่าสุดย่านพร้อมพงษ์ ชื่อว่า REN Sukhumvit 39 (ยังไม่เปิดพรีเซลล์นะ)

ก็จบกันไปแล้วนะครับ สำหรับที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นอีก 2 แห่งที่ผมได้มีโอกาสพาแฟนๆ Thinkofliving ไปดูว่าที่ญี่ปุ่นเค้ามีความแตกต่าง แนวคิดการออกแบบ ฟังก์ชัน การใช้งาน นวัตกรรมที่ประยุกต์และพัฒนามาต่อเนื่องของเค้า อย่างเรื่องแผ่นดินไหว ที่ต้องบอกว่าบ้านเราโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในภูมิศาสตร์ที่จะเกิด แต่ก็เป็นเคสที่น่าเรียนรู้เอาไว้ครับผม


สุดท้ายแล้วก็ขอฝากผลงาน หนังสือเล่มใหม่ของพวกเรา “ชีวิต ติด รถไฟฟ้า” หนังสือที่จะช่วยให้คุณหาที่อยู่อาศัยใกล้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 3 สายใหม่ได้อย่างง่ายดายขึ้น คลิกลงทะเบียนรับฟรีได้โดย “คลิกที่นี่”  และมารับเล่มจริงได้ที่งาน ThinkOfLiving Condo Expo 2019 ที่สยามพารากอนวันที่ 21 -24 กุมภาพันธ์นี้นะครับ