การสร้างบ้านให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม – ตอนที่ 4 ของคอลัมน์ “รอบรู้เรื่องบ้านๆ”

การสร้างที่อยู่อาศัยนอกจากจะเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายแล้ว ยังต้องให้ตอบสนองความต้องการทางจิตใจด้วย รูปทรงของอาคารบ้านเรือนจึงมีหลากหลายตามความต้องการของเจ้าของบ้าน แต่ความต้องการของเจ้าของบ้านอาจจะไม่ได้รับการตอบสนองทั้งหมดเพราะการสร้างบ้านยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพด้วย

รูปทรงอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจากซีกโลกตะวันตก แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่แตกต่างกัน บ้านสวยๆตามแบบสเปน แบบเมดิเตอร์เรเนียน หรือแบบอื่นๆที่เรียกกันอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย เพราะเมืองไทยมีอากาศร้อนและฝนตกชุก สภาพของอาคารบ้านเรือน จึงไม่ควรจะเหมือนกับแถบที่มีอากาศหนาว หิมะตก แม้แต่แบบของอาคารบ้านเรือนในเมืองไทยเอง เมื่อต่างยุคต่างสมัยก็ต้องเปลี่ยนไป แบบบ้านทรงไทยแบบเดิมๆที่โล่งโปร่งสบาย ลมโกรกผ่านในสมัยก่อนก็อาจจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศที่มีมลพิษในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง การสร้างบ้านโดยไม่คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น ทำให้บ้านหรืออาคารสะสมความร้อน มีปัญหาน้ำรั่วซึมเนื่องมาจากฝนตกชุก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและสิ้นเปลืองพลังงาน

มีคนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เลือกสร้างบ้านเพราะพึงพอใจลักษณะภายนอก สถาปนิกผู้ออกแบบอาจจะเข้าใจปัญหาต่างๆได้ดี แต่เมื่อเจ้าของบ้านยืนยันความต้องการแบบและวัสดุอย่างไร สถาปนิกก็ต้องตามใจเจ้าของบ้านในฐานะเป็นผู้จ่ายเงิน ทำให้แบบบ้านที่ออกมาเป็นแนวฝรั่ง แต่เมื่ออยู่ๆไปเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเมื่อเวลาฝนตก แดดส่องเพราะไม่มีชายคาทำให้ต้องต่อเติมภายหลังโดยที่เจ้าของบ้านต้องหาช่างมาทำใหม่ เพราะช่างคนเดิมหรือบริษัทเดิมไม่มาสร้างให้แล้ว หรือถ้ามาสร้างก็ไม่สามารถทำให้สอดคล้องกับโครงสร้างเดิมได้ เพราะไม่ได้ออกแบบไว้รองรับ จึงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วๆไปว่าบ้านทรงสวยๆติดกันสาดเหล็กเพิ่ม ซึ่งไม่ได้เข้ากับรูปทรงและวัสดุของตัวบ้านเดิมเลย มีคนใช้คำที่ทำให้เห็นภาพนี้ชัดมาก ขออนุญาตนำมากล่าวซ้ำตรงนี้เพราะผู้เขียนชอบวรรคนี้มาก เขากล่าวถึงลักษณะของบ้านแบบที่กล่าวมาว่า “สไตล์โรมัน กันสาดเฮียเม้ง” ขออนุญาตและขอขอบคุณเจ้าของวรรคทองนี้อีกครั้งหนึ่งครับ…ฮา

หากมีคำถามว่าสไตล์บ้านที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทยควรเป็นอย่างไร ก่อนตอบก็ต้องถามย้อนไปก่อนว่า แล้วสภาพอากาศในเมืองไทยน่ะเป็นอย่างไร ถ้าไม่รู้จักสภาพอากาศในเมืองไทยก็คงจะสร้างบ้านให้เหมาะสมไม่ได้ สภาพอากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองไทยคือร้อนชื้นและฝนชุก ดังนั้นลักษณะบ้านจึงต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศ และใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศได้ จากสภาพอากาศที่ร้อนและมีแสงแดดมาก ลักษณะของบ้านจึงควรใช้ประโยชน์จากแสงแดดได้ แต่ไม่ควรเก็บกักความร้อนไว้ในบ้าน บ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยจึงไม่ควรมีผนังเป็นกระจกเพราะจะเก็บกักความร้อน แต่ควรใช้ผนังประเภทอิฐมวลเบาที่กันความร้อนได้ดี ลักษณะของหลังคาควรจะมีชายคากันแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแดดในตอนบ่าย บ้านควรจะใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้มากเพื่อประหยัดพลังงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกนั้น แม้จะนำปริมาณน้ำฝนมาใช้ประโยชน์กับบ้านไม่ได้ แต่การออกแบบและสร้างบ้านก็ควรจะป้องกันปัญหาอันเกิดจาดฝนชุกด้วย เช่นการออกแบบบ้านให้มีกันสาด การออกแบบหลังคาให้มีความลาดเอียงเพื่อมิให้หลังคาอุ้มน้ำไว้ เป็นต้น

บ้านที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย จึงต้องใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อมให้มากที่สุด

นายสิทธิพร สุวรรณสุต