กรุงเทพฯ 31 มกราคม 2562 –  ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยยังคงคึกคัก โดยในปีที่ผ่านมา มีการซื้อขายเกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท แม้จะสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยของช่วงห้าปีก่อนหน้า (2556-2560) ที่ 13,200 ล้านบาทต่อปี แต่ยังต่ำกว่าปี 2560 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนซื้อขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17,100 ล้านบาท ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

นายนิฮาท เออร์แคน กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมภาคพื้นเอเชีย เจแอลแอล กล่าวว่า “นักลงทุนไทยและต่างชาติยังคงมีความสนใจสูงในการซื้อโรงแรมในประเทศไทย แต่การที่มีโรงแรมเสนอขายน้อยลงและช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างราคาที่ผู้ขายและผู้ซื้อคาดหวัง ทำให้มูลค่าการลงทุนในปีที่ผ่านมาไม่สูงเท่ากับปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่มีมูลค่าสูงสุด”

ข้อมูลจากหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล ระบุว่า การลงทุนซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยในปี 2561 มีมูลค่าลดลงจากปี 2560 ราว 22% โดยมีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้น 7 รายการที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเกาะสมุย เทียบกับปี 2560 ที่มีการซื้อขายเกิดขึ้น 12 รายการที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน เชียงราย นครราชสีมา พัทยา และเกาะลันตาที่กระบี่ ส่วนกรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองที่มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้นมากที่สุดในปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนคิดเป็น 73% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศไทย

ในส่วนของผู้ซื้อ พบว่า นักลงทุนไทยเป็นผู้ซื้อหลัก โดยในปีที่ผ่านมา การซื้อของนักลงทุนไทยมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่า 80% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า เกือบ 70% ของมูลค่าการซื้อโดยนักลงทุนไทย เป็นการซื้อโดยบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจโรงแรม สะท้อนให้เห็นถึงการกระจายการลงทุนของบริษัทต่างๆ เข้ามาในธุรกิจโรงแรมมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อโรงแรมในไทยในปีแล้ว มาจากสองชาติคือ สิงคโปร์และสหราชอาณาจักร

นายไมค์ แบทเชเลอร์ ซีอีโอหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรมคึกคักมากที่สุดในเอเชีย โดยในปี 2561 มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอยู่ในอันดับห้าของภูมิภาค รองจากสี่อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และฮ่องกง”

“สำหรับปี 2562 นี้ คาดว่า การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยจะยังมีสภาพคึกคัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงสนใจสูง ภาคการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มที่ดี แม้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากจีนจะลดลง แต่ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีที่ผ่าน ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 38.3 ล้านคน และคาดว่าในปีนี้ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 40.3 ล้านคน”

“นอกเหนือจากการมีชื่อเสียงที่มั่นคงในฐานะหนึ่งในประเทศได้รับความนิยมจากที่นักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐฯ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดจนถึงการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงการขยายสนามบินหลักๆ จะช่วยเอื้อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพที่สูงมากยิ่งขึ้นต่อไป” นายแบทเชเลอร์กล่าว