1368692397-viewtour2-o

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแผนแม่บท เส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าเชื่อมต่อระบบขนส่ง ใช้งบ 18 ล้านบาท จากกองทุนพลังงาน เตรียมผุดนำร่องในกทม.3 จุด ต่างจังหวัด 1 แห่ง ส่วนตั๋วร่วมคาดว่าพ.ค.นี้ได้ตัวผู้วางระบบแน่

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองผู้อำนวยการสนข. เปิดเผยในงานประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (NonMotorized Transport : NMT) และการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่าง ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ว่า สนข.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 18 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการศึกษาแผ่นแม่บทเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าเชื่อมต่อระบบขนส่ง โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปีศึกษา เสร็จวันที่ 11 ธันวาคม 2557 โดยจะจัดทำเป็นแผนแม่บททางจักรยานและทางเท้าและจุดจอดจักรยาน เบื้องต้นนำร่อง 3 จุดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) คัดเลือกจาก 10 จุด และในภูมิภาค 1 จังหวัดเป็นเมืองจักรยานคัดเลือกจาก 3 เมือง โดยเน้นเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะต่างๆ

3950-4

ในช่วงแรกจะเริ่มจากการสำรวจความต้องการในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ก่อน เพื่อกำหนดเส้นทางและคาดการณ์จำนวนผู้ที่ใช้ และนำข้อมูลมาออกแบบรายละเอียด โดยต้องไม่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางของกทม.เน้นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและท่าเรือต่างๆ ส่วนภูมิภาคเบื้องต้นมองไว้หลายจังหวัดทั้งน่าน,พิษณุโลก,สมุย โดยควรเป็นเมืองที่มีการใช้การเดินทางด้วยจักรยานหรือการเดินเท้าในชีวิตประจำวันได้จริง และท้องถิ่นหรือจังหวัดมีความพร้อมในการร่วมมือสนับสนุน ซึ่งแผนแม่บทจะบูรณาการการทำงานหลายหน่วยงานร่วมกัน ซึ่งหลังจากจัดทำเสร็จ จะทราบจุดที่เหมาะสม  และสามารถกำหนดงบประมาณที่จะให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไปปรับปรุงแก้ไขพื้นที่ได้

นายพีระพล กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วมว่า หลังจากมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาและออกแบบระบบตั๋วร่วมยื่นเอกสารประมูลรวม 6 ราย ปรากฏว่ามีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 5 รายนั้น ได้กำหนดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติยื่นข้อเสนอทางเทคนิคภายในเดือนเมษายน คาดว่าคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ในเดือนพฤษภาคม 2557 จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติจัดจ้าง วงเงิน 409 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการรวม 30 เดือน ซึ่งตามขั้นตอนในช่วง 6 เดือนแรกบริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะเข้ามาออกแบบรายละเอียดระบบ 6 เดือนต่อไปจะดำเนินการติดตั้งระบบ อีก 6 เดือนต่อไป เป็นการทดสอบระบบ ซึ่งจะต้องเลือกการเชื่อมต่อระบบระหว่าง รถเมล์หรือทางด่วน กับระบบรถไฟฟ้าสายใดสายหนึ่ง

โดยในช่วงการติดตั้งระบบนั้น กระทรวงคมนาคมวางแผนว่าจะต้องมีหน่วยงานบริหารระบบตั๋วร่วมแล้ว เพื่อให้เข้ามาร่วมทำงานและตรวจสอบระบบกับผู้ออกแบบและติดตั้ง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกผู้บริหารระบบตั๋วร่วมที่มีนายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน กำลังพิจารณารูปแบบของหน่วยงานที่จะจัดตั้ง โดยประเมินข้อดีข้อเสียระหว่างตั้งเป็นหน่วยงานในสังกัดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อนเพื่อความรวดเร็วแล้วค่อยแปลงเป็นเอกชนภายหลัง หรือให้เอกชนเข้ามาดำเนินการตั้งแต่แรกเหมือนต่างประเทศ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ อาจทำให้ล่าช้า เพราะมีหลายขั้นตอน แต่สุดท้ายผู้บริหารตั๋วร่วมควรเป็นเอกชน เนื่องจากมีความคล่องตัวและสามารถหารายได้เพิ่มจากธุรกรรมอื่นๆ นอกจากรายได้จากค่าเชื่อมระบบได้มากกว่าเป็นหน่วยงานรัฐ

 ที่มา : ASTV ผู้จัดการรายวัน