%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%94%e0%b8%a5-%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b9%8c

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้วางแผนและเตรียมนำเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ Building Information Modeling (BIM) มาใช้ในการออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมงานก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ได้ผลงานที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สามารถควบคุมต้นทุน และลดระยะเวลาการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดล Thailand 4.0 ที่เน้นในเรื่อง Creativity และ Innovation โดยจะประเดิมนำร่องโครงการแบบบ้านผู้สูงอายุ และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง อาคารแปลง G

นายนพดล  ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงโมเดล Thailand 4.0 ว่า จากการที่ประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดล Thailand 1.0 เน้นภาคการเกษตร Thailand 2.0 เน้นอุตสาหกรรมเบา Thailand 3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก และกำลังเข้าสู่โมเดล Thailand 4.0 เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะนำโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value – Based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยเน้นในเรื่องการพัฒนาไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

การเคหะแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสาธารณูปโภคภายในอาคารโดยใช้ต้นแบบดิจิตอล 3 มิติ กรณีศึกษา : อาคารสำนักงานใหญ่ 16 ชั้น การเคหะแห่งชาติเพื่อหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการสาธารณูปโภคโดยใช้แบบจำลอง รวมถึงจัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการออกแบบและก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อศึกษาข้อมูลและจัดระบบข้อมูลองค์ประกอบอาคารต่างๆ ที่มีอยู่และที่จะนำมาใช้ในกระบวนการออกแบบและการก่อสร้างของการเคหะแห่งชาติ โดยผู้วิจัยได้นำแบบจำลองสารสนเทศอาคารหรือ Building Information Modeling (BIM) มาใช้ในงานวิจัยทั้งสองโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาสำหรับการออกแบบอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้อง ทั้งในเรื่องของแนวคิดการออกแบบ ระยะเวลาในการก่อสร้าง การควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง รวมถึงการประสานงานกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ใช้สามารถใส่ข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปในทุกๆ ส่วนขององค์ประกอบอาคาร ทำให้การออกแบบอาคารมีข้อมูลในด้านต่าง ๆ ครบถ้วนและถูกต้อง เพราะได้รับการตรวจสอบและแก้ไขไปพร้อมกันในช่วงดำเนินการของการใช้โปรแกรม ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม งานระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ปริมาณวัสดุ จึงมีความครบถ้วนทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ  ซึ่งต่างไปจากการเขียนแบบ 2 มิติ และ 3 มิติแบบเดิม ซึ่งเป็นเพียงภาพแต่ไม่มี Information ในนั้น แต่ BIM เป็นการทำงานควบคู่กันไปทั้งกระบวนการ สามารถลดเวลาในส่วนของการเขียนแบบไปได้อย่างน้อย 30% ทำให้โครงการก่อสร้างเสร็จเร็วกว่าเดิม เพราะแบบก่อสร้างและงานระบบได้ถูกตรวจสอบและแก้ไขในช่วงของการใช้ BIM

แล้วจึงช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน ช่วยประหยัดเวลา สามารถควบคุมต้นทุน เพราะได้ปริมาณวัสดุที่แน่นอนจากการใช้ BIM ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานผลที่ได้รับจากการศึกษาวิจัย การเคหะแห่งชาติจะนำระบบ BIM ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและก่อสร้างอาคารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแบบบ้านผู้สูงอายุ คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายแบบบ้านให้กับประชาชนที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายในเดือนธันวาคม 2559 รวมถึงจะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแบบโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง อาคารแปลง G ที่จะดำเนินการก่อสร้างในเดือนธันวาคมนี้เช่นเดียวกัน