การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ขานรับองค์การสหประชาชาติจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2560 (World Habitat Day 2017) หัวข้อที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” (Green Housing for Low – income People) โดย นายไมตรี  อินทุสุต ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมและปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย ดร.ธัชพล  กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมในทุกๆ ปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยในปี 2560 ได้วางกรอบแนวคิดนโยบายที่อยู่อาศัย : บ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้” (Housing Policies: Affordable Homes) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องที่อยู่อาศัยตามแนวคิดดังกล่าว

สรุปสาระสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย

1. นโยบาย

  • คำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยมองในแง่ด้านการถ่ายเทความร้อนและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ลดการใช้พลังงาน
  • ร่วมมือกับกฟผ. ทำโครงการบ้านเบอร์ 5
  • พัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (กระทรวง พม.) เติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. กฎระเบียบและเทคโนโลยี

  • มีการกำหนด Eco-Village เกณฑ์สำหรับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
  • สร้างรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับผังเมือง กำหนดโซนของผู้อยู่อาศัยเพื่อรองรับทุกระดับรายได้ ลดการใช้พลังงานในการเดินทาง
  • รณรงค์ให้ใช้วัสดุประหยัดพลังงานโดยภาครัฐต้องช่วยปรับปรุงระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง
  • ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยซึมซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน
  • พื้นที่ส่งผลต่อต้นทุนราคา ต้องหามาตราส่วนที่เหมาะสมการใช้งานของคนไทย เพื่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่ใช้มากเกินไป

3. กลไกทางการเงิน

  • การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา และ ผู้พักอาศัย
  • สร้างแรงจูงใจจากทางภาครัฐ เช่น เป็น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการทางภาษี
  • ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงมีวิจัยและพัฒนาให้วัสดุพื้นถิ่นมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานหรือยืดอายุการใช้งาน