ในการเลือกซื้อคอนโดแต่ละครั้ง สิ่งหนึ่งที่ต้องดูควบคู่กันไปด้วยนอกจาก ทำเล ราคา ทิศของห้องแล้ว นั่นก็คือ “แปลนห้อง” แปลนห้องจะบ่งบอกถึงลักษณะความเป็นตัวเองของเจ้าของห้องนั้นๆ เพราะห้องแต่ละแบบ จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การที่เรารู้ว่าการจัดวางห้องแบบไหนเป็นอย่างไร จะช่วยให้เราหาห้องที่ถูกใจได้ง่ายขึ้น

และแม้ว่าบางห้องจะมีขนาดพื้นที่ที่เท่ากัน แต่การจัดวางตำแหน่ง layout ห้องต่างกัน ก็อาจสร้างความรู้สึกที่ต่างกันให้กับผู้อยู่อาศัยได้ วันนี้ living idea จะพามาทำความรู้จักกับลักษณะห้องแบบต่างๆ ที่จะมีผลต่อการอยู่อาศัยโดยขนาดห้องที่เอามายกตัวอย่างนั้นคือขนาด 35 ตร.ม. โดยห้องขนาดนี้จะมีจุดเด่นและฟังค์ชันการใช้งานที่มากขึ้น

ห้องขนาด 35 ตารางเมตร ดีอย่างไร ?

  • พื้นที่ 35 ตร.ม. จัดเป็นขนาดห้องที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป
  • เหมาะสำหรับอยู่อาศัยได้ 1-2 คน ได้ไม่อึดอัด อยู่อาศัยได้ง่าย
  • สามารถจัดแปลนได้ค่อนข้างหลากหลายจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยได้ง่ายขึ้นและเป็นสัดส่วนมากขึ้น
  • เหมาะสำหรับคนที่เน้นพื้นที่ใช้สอย ต้องการอยู่อาศัยในระยะยาว
  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณขึ้นมาหน่อย เพราะพื้นที่ใช้สอยจากมากกว่าห้องแบบ Studio และ 1 Bedroom ไซด์ปกติที่พบเห็นกันบ่อยๆ

เทคนิคพื้นฐานในการดูแปลนห้อง

ก่อนที่เราจะไปดูแปลนห้องแบบต่างๆ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการดูแปลนให้ออก ว่าภาพแปลนห้องนั้นๆ มีฟังค์ชันการใช้งานอะไรอยู่บ้าง เริ่มจาก

  • หาทางเข้า หรือประตูทางเข้าหลักของห้องให้พบ โดยปกติจะเป็นสัญลักษ์ของรูปประตูบานเปิด มีตำแหน่งเดียวอยู่ด้านในด้านหนึ่งของตัวห้อง
  • สังเกตการจัดแบ่งพื้นที่ใช้งานหลักของตัวห้อง โดยปกติจะแบ่งเป็น 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ และ ระเบียง หรือถ้ามีมากกว่านี้ก็จะเป็น ห้องอเนกประสงค์  Pantry (ส่วนจัดเตรียมอาหาร) หรือ Walk in Closet (พื้นที่ตั้งตู้เสื้อผ้า สำหรับแต่งตัว) ที่เพิ่มเข้ามา
  • โดยปกติแล้วการจัดแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในห้องจะมีลำดับมาจากการใช้งานที่มากไล่ไปจนถึงใช้งานน้อยรองลงมา ได้แก่ ห้องนอน > ห้องนั่งเล่น > ห้องน้ำ > ห้องครัว > ระเบียง
  • สังเกตช่องเปิดหรือช่องหน้าต่าง ประตู ที่เชื่อมต่อไปส่วนระเบียง ว่าอยู่ในตำแหน่งไหน มีความกว้างมากน้อยเพียงใด

รูปแบบห้องต่างๆที่เราสามารถพบได้บ่อยๆ

  • ห้องตอนลึก
  • ห้องสี่เหลี่ยมจตุรัส
  • ห้องแบบหน้ากว้าง

เริ่มที่ห้องแบบแรก เป็นห้องขนาด 35 ตร.ม. แปลนห้องแบบตอนลึก โดยสังเกตจากสัดส่วนของตัวห้องด้านที่หันออกไปด้านนอกตัวอาคารจะมีระยะที่แคบกว่าอีกฝั่งของตัวห้อง เราลองไปดูวิธีการจัดพื้นที่ใช้สอยภายในของห้องตอนลึกแบบต่างๆ ที่พบได้บ่อยกันค่ะ

ห้องแบบ A เมื่อเข้าห้องมาจะเจอกับส่วน ห้องนั่งเล่น เป็นส่วนแรก ถัดเข้าไปด้านในส่วนที่ติดหน้าต่างจะเป็นห้องนอน ซึ่ง 2 ห้องนี้จะใช้พื้นที่เยอะที่สุดในตัวห้อง อีกฝั่งจะเป็นห้องครัว ห้องน้ำ และระเบียง

ห้องแบบ B เมื่อเข้าห้องมาจะเจอกับส่วนครัวเป็นอันดับแรก ติดกันจะเป็นห้องน้ำ ถัดเข้าไปด้านในจะเป็นห้องนอน ส่วนที่ติดหน้าต่างจะเป็นห้องนั่งเล่น ซึ่ง 2 ห้องนี้จะใช้พื้นที่เยอะที่สุดในตัวห้องเช่นกัน

ข้อแตกต่างระหว่างแปลนห้องแบบ A และ B

  • ตำแหน่งห้องน้ำและห้องครัว แตกต่างกัน โดยห้องแบบ A จะแบ่งโซนการใช้งานไว้ที่ฝั่งซ้ายของตัวห้อง ส่วนห้องแบบ B จะจัดไว้ที่บริเวณด้านหน้าของตัวห้องถัดจากประตูทางเข้า ซึ่งก็จะได้ประโยชน์ในการใช้งานที่ต่างกัน โดยแบบ A จะเป็นครัวที่ติดระเบียงทำให้สามารถเปิดประตูระเบียงระบายอากาศได้ดีกว่า และมีพื้นที่ให้แบ่งโซนติดประตูทำเป็นครัวปิดได้  ส่วนครัวในห้องแบบ B นั้นลักษณะจะเป็นครัวเปิด จึงไม่เหมาะกับการทำอาหารจริงจัง ต้องระวังเรื่องกลิ่นและควันไปรบกวนพื้นที่ภายในห้อง
  • ตำแหน่งห้องนอน จะได้พื้นที่ช่องแสงที่แตกต่างกัน ห้องแบบ A ห้องนอนจะอยู่ชิดริมหน้าต่าง ทำให้เปิดรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้ดี ส่วนห้องแบบ B จะจัดให้ฟังก์ชันห้องนอนอยู่ถัดเข้ามา และจัดให้พื้นที่นั่งเล่นอยู่ใกล้กับหน้าต่างแทน
  • พื้นที่ระเบียงที่แตกต่างกัน ห้องแบบ A จะมีพื้นที่ระเบียงที่มากกว่า ใช้วางเครื่องซักผ้าและใช้เป็นพื้นที่ตากผ้าเล็กๆได้ ส่วนห้องแบบ B จะมีพื้นที่ระเบียงที่น้อยกว่า สำหรับวางเครื่องซักผ้าและ Air Condensing Unit แบบพอดีใช้งาน แต่ก็จะได้พื้นที่ใช้งานภายในห้องที่มากขึ้น

ทำให้ห้องทั้ง 2 แบบ  แม้จะเป็นห้องแบบตอนลึก เหมือนกันก็จริง แต่จะเหมาะกับการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน หากใครเน้นพื้นที่ห้องนั่งเล่น เน้นทำครัว ได้ห้องครัวปิดเป็นสัดส่วน ห้องนอนได้วิวและแสงธรรมชาติเต็มที่ ก็จะเหมาะกับห้องแบบ A ส่วนถ้าใครไม่เน้นทำครัวมากนัก แต่อยากได้ห้องนั่งเล่นได้วิวและรับแสงธรรมชาติเต็มที่ ก็จะเหมาะกับห้องแบบ B มากกว่า

ถัดมาเป็นห้องขนาด 35 ตร.ม. แปลนห้องแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส รูปแบบของตัวห้องก็จะมีด้าน กว้าง x ยาว ในสัดส่วนที่เท่าหรือใกล้เคียงกัน

ข้อดีของห้องแบบสี่เหลี่ยมจตุรัสคือจะได้ช่องแสง หรือพื้นที่ของหน้าต่างที่มากกว่าห้องแบบตอนลึก และสามารถจัดแปลนได้ค่อนข้างหลากหลาย

หากพิจารณาจากแปลนห้องตัวอย่าง แบบ C และ D จะพบว่ามีการจัดพื้นที่ใช้สอยภายในที่คล้ายกัน แต่จะมีความแตกต่างกันที่การกั้นแบ่งพื้นที่ใช้งานในส่วนต่างๆ เช่น

  • การจัดพื้นที่ครัว ห้องแบบ C จะจัดเป็นครัวเปิด จึงเหมาะกับการทำอาหารที่ไม่เน้นจริงจังมากนัก ไม่มีส่วนกั้นแบ่ง แต่ห้องแบบ D จะจัดเป็นครัวปิด มีประตูบานเลื่อนกั้นแบ่ง สามารถป้องกันกลิ่นและควันจากการประกอบอาหารเข้ามารบกวนภายในตัวห้องได้ อีกทั้งส่วนครัวจะติดกับส่วนระเบียงทำให้เปิดระบายอากาศได้ดี
  • การจัดตำแหน่งห้องนอน และห้องนั่งเล่น โดยห้องแบบ C ห้องนอนและห้องนั่งเล่นจะอยู่ในตำแหน่งที่ได้วิวมุมกว้าง เพราะอยู่ติดทางฝั่งหน้าต่างและระเบียง ส่วนห้องแบบ D ห้องนอนจะได้วิวทางฝั่งหน้าต่าง แต่ห้องนั่งเล่นจะอยู่ถัดเข้ามาด้านในแทน
  • การแบ่งพื้นที่ส่วนห้องนอน จะมีความแตกต่างกัน คือ ห้องแบบ C จะใช้วิธีการแบ่งห้องด้วยบานเลื่อนกระจก ระหว่างห้องนอนกับห้องนั่งเล่น ซึ่งถ้าใครชอบความเป็นส่วนตัวก็อาจจัไม่เหมาะกับการแบ่งพื้นที่ลักษณะนี้ แต่ข้อดีก็คือ เมื่อเปิดบานเลื่อนออกจะได้พื้นที่ภายในห้องภาพรวมที่โปร่งโล่งมากกว่า ส่วนห้องแบบ D นั้นจะมีประตูบานเปิดและผนังกั้นแบ่งพื้นที่ไว้เป็นสัดส่วน มีความเป็นส่วนตัวในการใช้งานมากกว่า

มาที่ห้องแบบต่อมา เป็นห้องขนาด 35 ตร.ม. เช่นกันยังคงเป็นห้องรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่จะมีความพิเศษที่การจัดพื้นที่ภายในเพิ่มขึ้นมาเป็นห้อง 1 Bedroom Plus โดยจะเพิ่มห้องอเนกประสงค์เข้ามาอีก 1 ฟังก์ชันให้ใช้งาน

สำหรับข้อแตกต่างของแปลน E และ F นั้นหากนับที่จำนวนฟังก์ชัน จะเห็นว่ามีครบเหมือนกัน จะแต่งตามที่วิธีการใช้งาน เริ่มจากแปลนของห้องแบบ E จะเป็นครัวแบบเปิด ส่วนห้องแบบ F จะเป็นครัวปิด ส่วนห้องนอนมีการกั้นแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วนเหมือนกัน แต่ห้องแบบ E จะได้พื้นที่ระเบียงที่ติดกับห้องนอน

ส่วนตำแหน่งของห้องอเนกประสงค์ แปลนแบบ E ห้องอเนกประสงค์จะอยู่ติดกับห้องนั่งเล่น แล้วใช้กระจกบานเลื่อนเป็นตัวกั้นแบ่งพื้นที่ใช้สอย เมื่อเปิดบานเลื่อนออก จะช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้งานของห้องนั่งเล่น ตัวห้องจะดูกว้างขึ้นและมีความโปร่งโล่งมากขึ้น

หากเปรียบเทียบพื้นที่การใช้งาน ห้องอเนกประสงค์ในแปลนแบบ E ถ้าดูจากขนาดพื้นที่แล้วเหมาะสำหรับจัดเป็นห้องทำงานหรือพื้นที่พักผ่อน แต่อาจจะไม่เพียงพอให้ตั้งเตียงนอนได้ ส่วนของห้องอเนกประสงค์ ในแปลนแบบ F นั้นจะมีพื้นที่และขนาดที่ใหญ่กว่า สามารถวางเตียงนอนขนาด 3.5 ฟุต สำหรับ 1 คนนอนได้ จึงทำให้ห้องนี้ได้ห้องนอนเพิ่มมาอีกหนึ่งห้อง สามารถอยู่อาศัยได้ 1-2 คน ได้สบายๆ

Tips น่ารู้ของขนาดห้องตามกฎหมาย

อ้างอิงจาก กฏกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

  • ห้องนอน ในอาคารให้มีความกว้างด้านแคบที่สุดไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร
  • ห้องนอน จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยภายในห้องไม่ตำ่กว่า 8 ตารางเมตร

ดังนั้นห้องแบบ 1 Bedroom Plus ในกรณีที่พื้นที่ห้องที่เพิ่มขึ้นมา มีพื้นที่ไม่ถึงตามที่กฎหมายที่กำหนดไว้ โดยส่วนมากจะเรียกห้องนี้ว่า ห้องอเนกประสงค์

สุดท้ายเราลองมาดูห้องขนาด 35 ตร.ม. แบบหน้ากว้าง กันบ้าง ห้องแบบหน้ากว้างจะมีจุดเด่นในเรื่องของช่องแสงและช่องเปิดมากกว่าแปลนทุกประเภท และสามารถจัดพื้นที่ใช้สอยให้รับแสงธรรมชาติได้ง่ายและทั่วถึง จัดเป็นแปลนที่ได้รับความนิยมและเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

มีจุดเด่นในเรื่องของช่องแสงและช่องเปิดมากกว่าแปลนทุกประเภท ทำให้ห้องต่างในห้องนี้ไว้วิวแบบมุมกว้างมากขึ้น อีกทั้งมีช่องเปิดระบายอากาศได้ดี

ข้อแตกต่างของห้องแปลน G และ H

  • การจัดส่วนครัว ห้องแปลน G จะได้พื้นที่ครัวปิด มีประตูบานเลื่อนกั้นแบ่งพื้นที่ใช้งานไว้เป้นสัดส่วน ถ้าใครชอบทำอาหารก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นและควันไปรบกวนพื้นที่ส่วนอื่นๆในห้อง ส่วนห้องแปลน H ออกแบบมาให้เป็นครัวเปิด สามารถใช้งานำด้ต่อเนื่องกับส่วนรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น ถ้าใครชอบตกแต่งครัวสวยๆ ก็จะเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นของห้องช่วยเพิ่มความบรรยากาศและสวยงามของห้องได้ แต่จะไม่เหมาะกับการทำอาหารจริงจัง เน้นทำอาหารเบามากกว่า
  • การจัดห้องน้ำ ทั้งสองห้องจะอยู่ตำแหน่งด้านในของตัวห้องเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่การเข้าถึง ห้องแปลน G จะเข้าห้องน้ำได้จากห้องนั่งเล่นเท่านั้น ซึ่งถ้ากรณีมีแขกมาบ้าน แล้วเราต้องใช้ห้องน้ำอาบน้ำ ก็ต้องเดินผ่านห้องนั่งเล่น รับแขก ก็อาจจะไม่ค่อยเป็นส่วนตัวในการใช้งานนัก ส่วนห้องแปลน H  จะออกแบบทางเข้าให้เข้าได้ 2 ทาง คือ จากห้องนั่งเล่น และห้องนอน ช่วยเพิ่มตัวเลือกในการใช้งาน แขกมามาบ้านไม่ต้องเดินผ่านห้องนอนของเราเพื่อใช้ห้องน้ำ กรณีเราอาบน้ำแต่งตัวก็เดินเข้ามาในห้องนอนได้เลย จึงมีความเป็นส่วนตัวในการใช้งานมากกว่า
  • ช่องแสง แม้ว่าห้องทั้ง 2 แบบจะเป็นห้องหน้ากว้างเหมือนกัน ได้ช่องแสงเยอะอยู่แล้วทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องอเนกประสงค์ แต่หากเราออกแบบจัดวางพื้นที่ใช้สอยดีๆ ก็จะให้ห้องหน้ากว้างใช้งานช่องแสงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในกรณีห้องแปลน H ที่ห้องอเนกประสงค์เลือกใช้เป็นกระจกเข้ามุม Bay Window ก็จะได้มุมมองที่กว้างขึ้นได้วิวจากในห้องสองฝั่ง ช่วยให้ตัวห้องมีความโปร่งโล่งมากขึ้นไปด้วย

จริงๆแล้วการเลือกรูปแบบห้องภายในคอนโดนั้นไม่ใช้เรื่องยาก หากเราเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของเราก่อน ลำดับความสำคัญของการใช้งานของตัวเอง ว่าตัวเราเป็นคนแบบไหน ชอบทำกิจกรรมในพื้นที่การใช้งานไหนเป็นประจำ เช่น ชอบทำอาหาร ก็ควรเลือกครัวเปิด ชอบความเป็นส่วนตัวก็ควรเลือกห้องที่ใช้ประตูบานทึบในการแบ่งพื้นที่การใช้งาน

แต่ก็ควรคำนึงถึง ขนาดพื้นที่ใช้งานที่เพียงพอไม่อึดอัด จำนวนช่องเปิดและช่องแสงที่เหมาะสมรับแสงธรรมชาติและระบายอากาศได้ดี ตลอดจนเรื่องมุมมองหรือวิวที่จะได้จากห้องนั้นๆ ประกอบไปด้วย เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ห้องที่ถูกใจอย่างแน่นอนค่ะ