ปกติเวลาเราไปดูโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านแนวราบ หรือคอนโดมิเนียม เรามักจะเห็นวัสดุปูพื้นลายไม้เป็นส่วนใหญ่ เพราะดูสวยงาม ให้ความรู้สึกอบอุ่น และดูเป็นธรรมชาติ แถมยังเข้ากับเฟอร์นิเจอร์และธีมห้องต่างๆได้ง่ายอีกด้วย

ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้มากกว่าที่จะใช้ไม้จริงทั้งแผ่น เป็นเพราะไม้จริงมีราคาที่สูง อีกทั้งยังมีความยากในการดูแลรักษาอีกด้วย ดังนั้นจึงเกิดวัสดุปูพื้นประเภทใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นวัสดุทดแทนพื้นลายไม้ที่มีทั้งแบบมีส่วนผสมของไม้บางส่วน เช่น พื้นไม้ลามิเนต กับแบบที่ไม่มีส่วนผสมของไม้อยู่เลย ซึ่งจะช่วยปิดข้อด้อยและปัญหาต่างๆของวัสดุประเภทไม้ได้ดี นั่นคือ “พื้นกระเบื้องยางไวนิล” นั่นเองครับ

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงความแตกต่างที่แท้จริงของวัสดุ 2 ประเภทนี้ และในวันนี้เราจะมาเปรียบเทียบกันให้เห็นชัดๆว่า วัสดุพื้นเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไร เวลาไปเลือกซื้อบ้านและคอนโด หรือแม้แต่คนที่กำลังคิดจะเปลี่ยนวัสดุปูพื้นเก่าแล้วอยากได้เป็นลายไม้ แต่กำลังชั่งใจระหว่างวัสดุ 2 ประเภทนี้ จะได้เข้าใจกันมากขึ้นครับ


 

กระเบื้องยางไวนิล

สมัยก่อน…เรามักจะเห็นคนนิยมนำพื้นกระเบื้องยาง มาใช้ในการตกแต่งสถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเห็นห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม พื้นที่ร้านค้า และสนามกีฬา เนื่องจากมีความสวยงาม เหมาะกับสถานที่ที่มีการสัญจรตลอดเวลา และเพราะตัวโพลิเมอร์ที่เป็นส่วนประกอบหลักนั้น มีแรงหนืดที่ทำให้เกิดการยึดเกาะที่ดี และยังทำความสะอาดก็ง่ายอีกด้วย

อีกทั้งยังสามารถติดตั้งได้ง่าย ถึงแม้จะไม่ได้แข็งแรงหรือทนรอยขีดข่วนได้ดีเท่าพื้นชนิดอื่นๆ แต่ก็มีราคาถูกมากๆ ดังนั้นเวลาเกิดการชำรุดหรือเสียหาย จึงสามารถซื้อมาเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ง่าย ซึ่งถ้าคิดเป็นเม็ดเงินในการซ่อมแซมออกมาแล้วก็ถือว่ายังคุ้มอยู่ครับ ติดก็เพียงแต่พื้นกระเบื้องยางสมัยก่อนจะไม่ค่อยมีลวดลายให้ได้เลือกกันมากนัก จะเป็นแบบโทนสีเดียวเรียบๆ ลักษณะเหมือนเอาพลาสติกหรือสติ๊กเกอร์มาติดที่พื้น ถ้านึกไม่ออกมันก็จะคล้ายๆกับพื้นโรงพยาบาลหรือห้างเก่าๆ ที่มันหนืดๆเงาๆนั่นแหละครับ…แบบนั้นเลย

แต่ทุกวันนี้…พื้นกระเบื้องยางกลายเป็นสิ่งใกล้ตัว และถูกพัฒนาจนกลายมาเป็น “พื้นกระเบื้องยางไวนิล” ที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในการตกแต่งบ้านหรือคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถพิมพ์ลวดลายต่างๆลงบนแผ่นพื้น ทำให้มีความสวยงามและดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งลายพื้นปูน ลายหินอ่อน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ “ลายไม้” นั่นเองครับ เพราะนอกจากจะให้ความรู้สึกอบอุ่นและดูเป็นธรรมชาติเหมือนไม้จริงแล้ว ยังมีความทนทาน และดูแลรักษาได้ง่ายกว่าไม้จริงอีกด้วย โดยจะมีส่วนประกอบของชั้นต่างๆถึง 5 ชั้น ดังนี้

1. UV Coating หรือ ชั้นบนสุดของกระเบื้องยาง จะเป็นชั้นที่เคลือบด้วย PU เพื่อ ปกป้องสีซีดจางจากแสงแดด ทำให้พื้นกระเบื้องยางมีสีสดใหม่เสมอ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบางเจ้าอาจมีการผสมสารอื่นๆ เช่น Nano Silver เพื่อเพิ่มความคงทนของผิวหน้าให้มากขึ้น เป็นต้น

2. Wear Layer หรือ ชั้นกันสึก เป็นแผ่นโพลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติปกป้องสี และลวดลายของกระเบื้องยาง

3. Print Layer หรือ ชั้นแผ่นที่แสดงลวดลายและสีสันของกระเบื้องยาง มีให้เลือกมากมายและหลากหลาย ทั้งรูปแบบลายไม้, หินอ่อน และเฉดสีต่างๆ

4. Middle Layer PVC หรือ ชั้นไวนิลที่กำหนดความหนาของกระเบื้องยาง และ มีคุณสมบัติป้องกันแรงกระแทก และมีส่วน support ช่วยลดการยือหดของกระเบื้องยางอีกด้วย ซึ่งในบางรุ่นอาจมีการผสมคาร์บอน เพื่อดูดซับเสียงและกลิ่น รวมถึงช่วยเพิ่มความแข็งแรง ทนทานต่อน้ำและความชื้นได้ดีขึ้น และลดการแตกหักหลังการติดตั้งอีกด้วย

5. Base Layer หรือ ชั้นล่างสุดของกระเบื้องยาง มีคุณสมบัติลดการยืด-หดของแผ่นกระเบื้อง และออกแบบมาเป็นรูปตาราง/ตาข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธ์ภาพการยึดติดระหว่างกาวกับพื้นผิว

(ปล.ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก C.C.T. Group และบริษัท Double Floor จำกัด)

และรู้หรือไม่ครับว่าแผ่นกระเบื้องยางไวนิลนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท ซึ่งหลักๆผมจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มง่ายๆ ตามลักษณะการติดตั้ง และประโยชน์การใช้งานดังนี้

1.) กลุ่มที่ต้องใช้ Backing เป็นตัวยึดเกาะ

2.) กลุ่มที่ “ไม่” ต้องใช้ Backing เป็นตัวยึดเกาะ

3.) กลุ่ม Safety แบบหนาพิเศษ

4.) กลุ่มพื้นผิวสัมผัสพิเศษ

กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ต้องใช้ Backing เป็นตัวยึดเกาะ ซึ่งเป็นพื้นกระเบื้องยางรุ่นแรกๆที่มีมานานอย่าง “พื้นกระเบื้องยางแบบแผ่น” และ “กระเบื้องยางแบบม้วน” ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 2 ชนิดนี้คือ

  • เป็นรุ่นที่ต้อง “ใช้กาว” เป็น Backing ด้านหลัง ซึ่งตัวนี้นี่เองที่ส่งผลต่อประโยชน์การใช้สอยและอายุใช้งาน เพราะเดิมทีวัสดุไวนิลนั้นสามารถใช้ได้นานเกือบ 20 ปี แต่ตัว Backing ด้านหลังมักจะมีการเสื่อมสภาพที่เร็วกว่า แถมยังไม่ทนน้ำอีกด้วย จึงทำให้อายุการใช้งานของพื้นที่ต้องใช้กาวเป็น Backing ด้านหลังจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15 ปีครับ
  • มีความบางเหมือนกันทั้งคู่อยู่ที่ประมาณ 2 – 3 mm. ดังนั้นข้อจำกัดในการติดตั้งคือ พื้นจะต้องเรียบมากๆ เพราะถ้าขรุขระแม้เพียงนิดเดียว ตัวแผ่นพื้นจะนูนเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นถ้าพื้นที่ไหนใช้วัสดุปูพื้นประเภทนี้แล้วยังดูเรียบร้อยดี ก็การันตีได้ว่างานพื้นด้านล่างเนียบจริงแน่ๆครับ

แต่พื้นกระเบื้องไวนิลทั้ง 2 ชนิดนี้ จะมีความแตกต่างกันเล็กๆน้อยๆในเรื่องของลักษณะและการใช้งานดังต่อไปนี้ครับ

1.) พื้นกระเบื้องยางแบบแผ่น

ตัว Product จะมีลักษณะเป็นแผ่นๆ ซึ่งจะมีหลากหลายขนาดตั้งแต่ 30 x 30 , 15 x 90 และ 18 x 120 cm. เป็นต้น ซึ่งก็แล้วแต่รุ่นและแต่ละเจ้าที่จะทำออกมาไม่เหมือนกัน บางรุ่นก็อาจมีกาวติดอยู่ที่พื้นด้านหลังมาให้เลย เพื่อความสะดวกในการติดตั้ง เพียงแค่ลอกสติ๊กเกอร์ออกแล้วติดลงกับพื้น นิยมนำมาปูพื้นภายในห้องต่างๆ

2.) พื้นกระเบื้องยางแบบม้วน

ตัว Product จะมีลักษณะเป็นม้วนที่สามารถคลี่ออกมาเป็นแผ่นใหญ่ได้ประมาณ 1.2 x 8 m. หรืออาจจะมากกว่า 10 – 20 m. ก็มีครับ ซึ่งจะทำให้สามารถปูพื้นที่กว้างๆ ได้เสร็จเร็วขึ้น แถมยังมีรอยต่อของพื้นน้อยกว่าอีกด้วย แต่เรื่องการซ่อมแซมจะต่างจากกระเบื้องแบบแผ่นคือ ถ้าเป็นแบบแผ่นจะสามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่เสียหายแค่ส่วนนั้นได้เลย ซึ่งทำได้ง่ายกว่าแบบม้วนที่มีลักษณะต่อแผ่นที่ใหญ่มาก คือถ้าไม่อยากเปลี่ยนทั้งแผ่นใหญ่ๆ ก็จะต้องตัดเอาเฉพาะพื้นที่ส่วนนั้นไป ซึ่งมันจะเกิดรอยต่อใหม่ไม่เนียนเท่าแผ่นเล็กๆ นั่นเองครับ

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ “ไม่” ต้องใช้ Backing เป็นตัวยึดเกาะ

คือเป็นแบบ Click Lock หรือแบบมีลิ้น จะมีความหนามากกว่าแบบกลุ่มแรก อยู่ที่ประมาณ 4 – 5 mm. เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถติดตั้งได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้กาวเป็นตัวเชื่อมประสาน ซึ่งพอไม่มี Backing ด้านหลังที่ไม่ถูกกับน้ำหรือจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าตัวพื้น จึงทำให้สามารถนำมาปูพื้นห้องน้ำส่วนแห้งเพื่อการตกแต่งได้ แล้วยังทำให้สามารถใช้งานพื้นไวนิลได้เต็มอายุการใช้งานมากขึ้น ซึ่งอาจอยู่ได้ถึง 15 – 20 ปีเลยทีเดียวครับ แต่ก็ต้องแลกมากับราคาที่อาจสูงกว่าแบบที่ต้องใช้กาวแบบเดิมๆอยู่บ้างนะ

หรือจะเป็นระบบอื่นๆอย่างระบบ Loose Lay Antiskid จากยี่ห้อ Floover ที่นำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย Modernform ที่พื้นด้านหลังจะทำหน้าที่ยึดเกาะกับพื้นผิวเดิมได้โดยไม่ต้องใช้กาว (หรือใช้กาวน้อยมาก) ทำงานคล้ายระบบสูญญากาศ และไม่กลัวน้ำ 100% แต่ข้อจำกัดคือ พื้นผิวที่จะไปยึดเกาะได้นั้นจะต้องเรียบมากๆ เช่น กระเบื้องแกรนิตโต้ หรือพื้นปูนขัดมัน เป็นต้น ราคาประมาณ 1,500 บาท/ตารางเมตร

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่ม Safety แบบหนาพิเศษ

พวกนี้เราจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีตามสนามเด็กเล่นหรือฟิตเนส จะมีความหนาประมาณ 25 – 45 mm. สามารถรองรับแรงกระแทกและยังรับน้ำหนักได้ดี ตัวพื้นมีความหนานุ่มซึ่งช่วยลดอุบัตติเหตุจากการหกล้มได้ และยังสามารถทนแดด ทนฝน และใช้งานกลางแจ้งได้ ซึ่งพื้นกระเบื้องยางไวนิลกลุ่มอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ครับ

หรือจะเป็นเทคโนโลยีใหม่จาก SCG ชื่อว่า Vinyl Shock Absorption Floor หรือ พื้นลดแรงกระแทก วัสดุชนิดนี้มีโฟมอยู่ด้านล่างทำให้สามารถลดแรงกระแทกได้ จึงเหมาะสำหรับปูพื้นห้องนอนของผู้สูงอายุหรือห้องสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ปัจจุบันวัสดุชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย (สนใจอ่านบทความเรื่อง วัสดุเพื่อความปลอดภัยภายในบ้านสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ คลิก)

และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มพื้นผิวสัมผัสพิเศษ

พื้นกระเบื้องยางกลุ่มนี้หลายๆคนอาจจะพอผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งลายที่นูนออกมานั้นนอกจากต้องการลูกเล่นของลวดลายให้คล้ายวัสดุเช่น ลายเหรียญนูน และลายเหล็ก ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการรับน้ำหนัก ลดแรงกระแทก และมีแรงเสียดทานของพื้นผิวที่มากกว่าแบบปกติ จึงช่วยไม่ให้ลื่นได้อีกด้วย สามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องความปลอดภัยได้คล้ายกับพวกกลุ่ม Safety ครับ

และนอกจาก 2 ลายข้างต้นแล้ว ก็ยังมีแบบลายสาน ซึ่งมีลักษณะและผิวสัมผัสคล้ายกับเสื่อ Tatami ของญี่ปุ่น มีความเป็นธรรมชาติ และใช้ปูพื้นเปียกเพื่อกันลื่นได้อีกด้วย เพียงแต่ลักษณะการปูของกระเบื้องชนิดนี้จะแตกต่างจากชนิดอื่นๆ ตรงที่ลายพื้นจะไม่สามารถปูต่อกันให้เนียนได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปูสลับแบบตารางหมากรุก ซึ่งก็ดูสวยงามและแปลกตาไปอีกแบบครับ นอกจากนั้นวัสดุชนิดนี้ยังมีการนำไปใช้หุ้มเฟอร์นิเจอร์เพื่อความสวยงาม และลดเหลี่ยมคมของขอบโต๊ะเก้าอี้ได้อีกด้วยครับ

 

ตารางสรุป “ข้อดี-ข้อเสีย” พื้นกระเบื้องยางแบบต่างๆ

จากตารางข้างต้น ซึ่งผมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามประเภท ข้อดี-ข้อเสีย เริ่มจากกลุ่มแรกทางซ้ายมือสุดคือ “แบบแผ่น” และ “แบบม้วน” กระเบื้องพวกนี้มีความบาง และมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย จะนำไปแต่งพื้นหรือผนังก็ได้ แถมยังมีราคาถูกอีกด้วย เพียงแต่ความแข็งแรงทนทานจะสู้แบบอื่นๆไม่ค่อยได้ และมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 10 – 15 ปี ดังนั้นจึงเหมาะที่จะทำมาใช้ปูพื้นภายในทั่วไปครับ

ต่อมาเป็นกลุ่มทางขวามือคือ “แบบ Safety” และ “แบบผิวสัมผัสพิเศษ” พวกนี้มีความหนาและแข็งแรงทนทานมากครับ สามารถใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน หรือจะใช้งานกลางแจ้งก็ได้ อาจไม่มีลวดลายให้เลือกมากนัก แต่ก็มีอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน เหมาะกับการใช้งานเฉพาะทางที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และการรับน้ำหนักเป็นหลัก แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีราคาที่สูงที่สุดเช่นกัน

และกลุ่มสุดท้ายคือแบบ Click Lock ที่อยู่ระหว่างกลาง เป็นตัวที่ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งรวมข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นไว้ในตัวเอง มีลวดลายให้เลือกหลากหลาย แถมยังทนน้ำได้ดี ติดตั้งก็ง่าย อาจไม่แข็งแรงจนถึงกับไปใช้งานกลางแจ้งได้ แต่ก็นำมาใช้ในห้องน้ำพื้นที่ส่วนแห้งได้เลยครับ รวมถึงมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างยาวนาน ซึ่งราคาก็จะอยู่ระดับกลางๆนะ

 


 

พื้นไม้ลามิเนต

คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักกับพื้นไม้ลามิเนตกันสักหน่อยนะครับว่าคืออะไร เพื่อที่ในตอนท้ายเราจะได้สามารถเปรียบเทียบวัสดุทั้ง 2 ชนิดได้อย่างถูกต้อง โดยชั้นต่างๆ ของพื้นไม้ลามิเนตจะประกอบด้วย

1. Overlav เป็นวัสดุที่เคลือบผิวหน้าด้วยอลูมิเนียมออกไซด์ ถูกออกแบบเพื่อป้องกันการกระแทก รอยขีดข่วน และความชื้นเข้าสู่ตัวแกนกลางไม้

2. Printed Decoration เป็นชั้นลวดลายไม้เคลือบด้วยเมลามีนเรซินที่ปิดทับบนแผ่นไม้ HDF ซึ่งส่วนใหญ่มักเลียนแบบลายไม้จริง และได้ผิวสัมผัสที่คล้ายไม้ธรรมชาติ

3. HDF (High Density Fibreboard) เป็นส่วนที่ใช้ในการรับน้ำหนัก วัสดุที่ใช้คือแผ่นไม้ HDF เป็นการนำไม้จริงมาย่อยจนเป็นผงละเอียด และผสมกับสารเคมีอื่นๆ เช่น เรซิน นำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นขนาดใหญ่ แล้วผ่านเครื่องอัดแรงดันสูง เพื่อให้ได้ความหนาที่ต้องการ

4. Counterbalance เป็นแผ่นรองพื้นชั้นล่างเคลือบสารเมลามีน เพื่อป้องกันความชื้นและปลวกเข้าสู่แกนกลางแผ่น

ข้อดี : ราคาถูก ติดตั้งง่ายด้วยระบบ Click-lock ทนต่อรอยขูดขีด แรงกด และทนความร้อนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงยังไม่เก็บฝุ่นและเชื้อโรค ทำความสะอาดง่าย และมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย

ข้อเสีย : ทนความชื้นได้ไม่ดีมากนัก บวมน้ำง่าย เวลาติดตั้งต้องบนพื้นที่เรียบเช่นเดียวกับพื้นไวนิล เพราะถ้าไม่เรียบอาจจะเกิดเสียงเวลาเดินได้ รวมถึงยังไม่สามารถขัดสีออก เพื่อทำสีใหม่ได้ มีอายุการใช้งาน 10-15 ปี

(สนใจอ่านบทความเรื่อง วัสดุปูพื้นทดแทนไม้ คลิก)


 

เปรียบเทียบ พื้นไม้ลามิเนต VS พื้นกระเบื้องยางไวนิล

จากตารางจะเห็นว่า พื้นกระเบื้องทั้ง 2 ชนิด มีข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน พื้นไม้ลามิเนตจะมีส่วนผสมของไม้จริง ซึ่งแน่นอนว่าได้ผิวสัมผัสของไม้แท้ๆ ที่แลกมาด้วยข้อเสียของตัวมันเองคือ ไม้มีราคาแพงกว่า ดูแลรักษายาก ไม่ทนน้ำและบวมน้ำง่าย อายุการใช้งานจะพอๆกันอยู่ที่ 10 – 15 ปี ครับ

แต่หากเป็นพื้นกระเบื้องยางไวนิล จะมีแบบละลวดลายให้เลือกหลากหลายกว่า เพียงแต่ผิวสัมผัสจะเหมือนยางหรือพลาสติกมากกว่าที่จะเป็นไม้ แน่นอนว่าพอไม่ได้ทำมาจากไม้ จึงช่วยปิดข้อด้อยของไม้คือ ไม่บวมน้ำ หรือไม่โดนปลวกกิน 100% แต่ก็ไม่ค่อยทนต่อรอยขีดข่วนสักเท่าไหร่ครับ และถ้าใช้งานไปนานๆก็อาจมีการหดตัวไปบ้างเป็นเรื่องปกติ หากดูแลรักษาดีๆ แบบไม่มี Backing จะสามารถมีอายุการใช้งานได้ถึง 15 – 20 ปีเลยทีเดียว ซึ่งราคาก็ไม่สูงมากนักครับ ขึ้นอยู่กับเกรดและรุ่นของวัสดุนั้นๆ

สรุป

ไม่ว่าจะเป็น “พื้นไม้ลามิเนต” และ “พื้นกระเบื้องยางไวนิล” ต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียในตัวเอง ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม ความชอบ และพื้นที่ที่จะทำไปใช้งานว่าจะเหมาะกับพื้นชนิดไหนมากกว่ากัน เช่น หากคุณเป็นคนชอบความเป็นธรรมชาติ ต้องการผิวสัมผัสเหมือนไม้จริงแท้ๆ และคิดว่าตัวเองสามารถดูแลรักษาได้ดี ก็อาจเลือกเป็นพื้นไม้ลามิเนตได้

แต่ถ้าหากต้องการใช้งานพื้นกระเบื้องในที่ที่อาจต้องสัมผัสกับน้ำ ก็อาจต้องการวัสดุที่สามารถทนน้ำหรือความชื้นได้ดี ซึ่ง “พื้นกระเบื้องยางไวนิล” จะสามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ครับ โดยพื้นผิวสัมผัสอาจเหมือนพื้นยางหรือพลาสติกมากกว่าไม้จริง แต่ก็มีลวดลายให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย แล้วยังมีแบบอื่นๆที่เหมาะกับการใช้งานที่ต่างกันมากกว่าพื้นไม้ลามิเนตให้เลือกอีกด้วย

ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ให้เข้าใจเกี่ยวกับพื้นทั้ง 2 ชนิด และสามารถนำไปเลือกใช้งานกันได้อย่างเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดนะครับ ครั้งหน้า Living Idea จะมีบทความเกี่ยวกับวัสดุและการตกแต่งบ้านเรื่องอะไรอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะ


 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก :