เคยสงสัยกันบ้างไหม …. ว่าพื้นไม้จริงและวัสดุที่ใช้ทดแทนในปัจจุบัน แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง !?

สำหรับ Living idea คลิปนี้ เราจะพูดถึงวัสดุปูพื้นที่มีลักษะเป็นไม้ที่เห็นกันบ่อยๆในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้จริง, พื้น Laminate, พื้น Engineering Wood และพื้นน้องใหม่อย่าง Hybrid Engineered Wood มาเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆว่าแตกต่างกันยังไงบ้าง หรือถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดเชิงลึก สามารถเลื่อนลงไปอ่านด้านล่างได้เลยนะคะ > <

พูดถึงวัสดุที่คนไทยนิยมมาตกแต่งบ้านอันดับ 1 คงหนีไม่พ้นวัสดุ “ไม้” เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตร (Tropical Zone) หรือที่เรารู้จักกันดีว่า พื้นที่เขตร้อนชื้น ทำให้อุดมไปด้วยพืชพรรณ ต้นไม้ นานาชนิด ทำให้ในสมัยก่อนคนไทยนิยมตัดต้นไม้มาทำที่อยู่อาศัย แต่ในปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ลดลง ทำให้ไม้ค่อนข้างหายาก และเริ่มมีราคาที่สูงมากขึ้น รวมถึงตัวไม้จริงจะมีข้อเสียในตัวเอง เช่น เกิดเชื้อราง่าย ไม้โก่ง บวมน้ำง่าย และมีการยืดหดขยายของตัวไม้ รวมถึงถ้าใช้เป็นระยะเวลานานๆจะทำให้ไม้สีซีดลงได้ ดังนั้น จึงมีการคิดค้น “วัสดุใหม่ๆมาทดแทนพื้นไม้” กันมากขึ้น เพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าไม้จริง และราคาที่คนทั่วไปหยิบจับได้ ไปดูกันเลยค่ะว่าวันนี้เราจะแนะนำให้รู้จักกับไม้ตัวไหนบ้าง

ซึ่งก่อนหน้านี้ พี่เก้งได้มีวีดีโอ Living Idea : วัสดุทดแทนพื้นไม้ ให้ได้ชมกันแล้ว ถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปชมกันได้เลยนะคะ แต่สำหรับบทความนี้ เราจะขอเจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดวัสดุแต่ละประเภท และนำวัสดุทั้ง 3 ชนิดมาเปรียบเทียบกัน เพื่อเป็นตัวเลือกให้เราไปปรับใช้งานได้เหมาะสม เริ่มตั้งแต่ พื้น Engineering Wood, พื้น Laminate และวัสดุน้องใหม่อย่าง Hybrid Engineered Wood ที่เพิ่งเข้ามาเมืองไทยได้ไม่นาน ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้จะแตกต่างกันอย่างไรบ้างไปดูกันเลยนะคะ ^^

เริ่มกันที่ “พื้น Engineering Wood” เป็นพื้นที่มีโครงสร้างซ้อนกันหลายๆชั้น โดยด้านบนจะเป็นพื้นผิวไม้จริงเคลือบด้วย UV Acrylic เพื่อให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความหนาประมาณ 3-5 มม. โดยเราจะเอาไม้ชิ้นนี้ไปประกบกับไม้เนื้อแข็ง(ไม้ประสาน) สลับชั้นกันกับน้ำกาวเรียงไปมาจนมีความหนาประมาณ 14 มม. หลังจากนั้นเราจะนำไปอบควบคุมความชื้น ให้แข็งแรง ลดการบิดตัว โก่ง งอ และยืดหดขยายของไม้ ซึ่งราคาของวัสดุประเภทนี้ จะมีราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับแผ่นไม้ด้านบนที่นำมาปิดผิว ราคาเริ่มตั้งแต่ 2,000-2,500 บาท/ตร.ม. รวมค่าติดตั้ง

ต่อมาเราขอลองแยกโครงสร้างของพื้น Engineering Wood ให้ดูกันบ้าง เพื่อความเข้าใจที่ง่ายมากยิ่งขึ้น เริ่มกันที่

  • ชั้นบนสุด : เคลือบผิวหน้าไม้ด้วย UV Acrylic Lacquer เพื่อทำให้สีไม้คงทน สวยงาม ลวดลายไม้ชัดเจน รวมถึงยังป้องกันรอยขูดขีดที่ผิวหน้าได้ระดับนึง
  • ชั้นถัดมา : แผ่นไม้จริง หนาประมาณ 3 มม. เวลาสัมผัสจะเหมือนไม้จริงเลย ส่วนใหญ่ที่เลือกมาใช้กัน ได้แก่ ไม้โอ๊ก, ไม้แดง, ไม้มะค่า, ไม้สัก และ ไม้เมเปิ้ล มาใช้เป็นต้น
  • ชั้นกลาง : แผ่นไม้เนื้อแข็ง(ไม้ประสาน) สลับกับน้ำกาวเรียงกันไปมา มีความหนาประมาณ 11 มม. วางสลับขวางเสี้ยน เพื่อลดการยืดหดตัวของไม้ และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
  • ชั้นล่างสุด : เป็นชั้นสุดท้ายหรือที่เขาเรียกกันว่า Backing Layer มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าไปทำลายชั้นไม้อื่นๆ

ข้อดี-ข้อเสียของพื้น Engineering Wood

ข้อดี : พื้นผิวสัมผัสเหมือนไม้จริง แต่มีราคาที่ถูกกว่าไม้จริง ติดตั้งรวดเร็ว ไม่ต้องรอขัดทำสี เพราะผลิตมาจากโรงงานเรียบร้อย ช่วยลดปัญหาเรื่องฝุ่นฟุ้ง นอกจากนี้ยังออกแบบมาให้แผ่นไม้ทนต่อการบิดงอได้สูง

ข้อเสีย : เหมาะใช้งานเฉพาะพื้นที่ภายในอาคาร เนื่องจากยังไม่ทนน้ำและความชื้นมากนัก รวมถึงมีรอยขีดขูดง่าย และราคาที่สูงเมื่อเทียบกับวัสดุทดแทนไม้ชนิดอื่นๆ เนื่องจากยังคงใช้วัสดุไม้จริงปิดผิวอยู่

เรามายกตัวอย่างโครงการที่ใช้พื้น Engineered Wood มาให้ดูบรรยากาศของจริงกันดูบ้าง สำหรับวันนี้เราขอเลือกโครงการ IMPRESSION EKKAMAI ของ เอเอชเจ เอกมัย ซึ่งโครงการนี้เป็นคอนโด High Rise ระดับ Luxury Class เข้ามาภายในห้องจะให้ความรู้สึกเหมือนพื้นไม้จริงเลย เนื่องจากผิวหน้ายังเป็นไม้จริงอยู่ ซึ่งข้อเสียคือจะทำให้พื้นบวมน้ำได้ง่าย จึงไม่เหมาะสำหรับพื้นในห้องครัว ถ้าใครอยากดูภาพบรรยากาศเพิ่มเติมสามารถอ่านรีวิวฉบับเต็มได้ คลิกที่นี่ หรือสามารถเข้าไปเยี่ยมชมที่โครงการดังกล่าวได้เลยนะคะ

ต่อมาเรามาทำความรู้จักกับ “พื้นลามิเนต” ที่เราคุ้นเคยกันดีเนื่องจากโครงการส่วนใหญ่นิยมใช้พื้นนี้เป็นหลักเลย เพราะดูแลง่ายกว่าไม้จริง สำหรับผิวด้านบนจะเป็นชั้นลวดลายไม้ โดยพิมพ์ลายจากคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถเลือกลายที่ชอบได้ตามต้องการ  แต่ผิวสัมผัสจะไม่เหมือนไม้จริงเท่าไหร่นะคะ โดยเราจะนำแผ่นฟิล์มไปประกับกับแผ่นไม้ HDF เพื่อให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น พื้นชนิดนี้จะมีความหนาประมาณ 12 มม. ราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท/ตร.ม. รวมค่าติดตั้ง ถือว่าถูกที่สุดในบันดาลวัสดุทดแทนไม้อื่นๆ

 

ถัดมาเรามาดูโครงสร้างของพื้นลามิเนตกันดูบ้าง ว่าทำไมพื้นถึงไม่สามารถกันน้ำได้ เริ่มจาก

  • ชั้นบนสุด : เป็นวัสดุที่เคลือบผิวหน้าด้วยอลูมิเนียมออกไซด์ ถูกออกแบบเพื่อป้องกันการกระแทก รอยขีดข่วน และความชื้นเข้าสู่ตัวแกนกลางไม้
  • ชั้นถัดมา :  เป็นชั้นลวดลายไม้เคลือบด้วยเมลามีนเรซินที่ปิดทับบนแผ่นไม้ HDF ซึ่งส่วนใหญ่มักเลียนแบบลายไม้จริง แต่ผิวสัมผัสจะไม่เหมือนไม้จริงนะคะ
  • ชั้นกลาง : เป็นส่วนที่ใช้ในการรับน้ำหนัก วัสดุที่ใช้คือแผ่นไม้ HDF ( High Density Fiberboard) เป็นการนำไม้จริงมาย่อยจนเป็นผงละเอียดและผสมกับสารเคมีอื่นๆ อย่างเช่น เรซิน นำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นขนาดใหญ่ แล้วผ่านเครื่องอัดแรงดันสูง เพื่อให้ได้ความหนาที่ต้องการ
  • ชั้นล่าง : เป็นแผ่นรองพื้นชั้นล่างเคลือบสารเมลามีน เพื่อป้องกันความชื้นและปลวกเข้าสู่แกนกลางแผ่น

ข้อดี-ข้อเสียของพื้นลามิเนต

ข้อดี : ราคาถูก ติดตั้งง่ายด้วยระบบ Click-lock ทนต่อรอยขูดขีด แรงกด และความร้อนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงยังไม่เก็บฝุ่นและเชื้อโรค ทำความสะอาดง่าย และที่สำคัญมีลวดลายให้เลือกตามต้องการค่ะ

ข้อเสีย : ทนความชื้นได้ไม่ดีมากนัก บวมน้ำง่าย เวลาติดตั้งต้องบนพื้นที่เรียบเท่านั้น เพราะถ้าไม่เรียบอาจจะเกิดเสียงเวลาเดินได้ รวมถึงยังไม่สามารถขัดสีออก เพื่อทำสีใหม่ได้ อายุการใช้งานน้อยเพียง 10-15 ปี

เรามายกตัวอย่างโครงการที่ใช้พื้นลามิเนต มาให้ดูบรรยากาศของจริงกันดูบ้าง สำหรับวันนี้เราขอเลือกโครงการ Ideo Mobi Asoke ของ Anada ซึ่งโครงการนี้เป็นคอนโด High Rise ระดับ Luxury Class เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากลามิเนตมีโทนสีให้เลือกเยอะกว่า Engineering Wood ทางโครงการจริงเลือกโทนสีให้ผู้อยู่อาศัยสามารถตกแต่งห้องได้ง่าย เนื่องจากโครงการขายแบบ Fully Fitted  ถ้าใครอยากดูภาพบรรยากาศเพิ่มเติมสามารถอ่านรีวิวฉบับเต็มได้ คลิกที่นี่ หรือสามารถเข้าไปเยี่ยมชมที่โครงการดังกล่าวได้เลยนะคะ

สำหรับตัวสุดท้าย เราจะพาไปรู้จักวัสดุน้องใหม่อย่าง “พื้น Hybrid Engineered Wood”  เป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากพื้น Engineering Wood แบบดั้งเดิม ซึ่งแบรนด์ Quick Step ได้นำเข้ามาจากประเทศเบลเยี่ยม ความแตกต่างคือสามารถกันน้ำและรอยขีดขูดได้ดีกว่า ถือว่าเป็นความพิเศษใหม่ของพื้นไม้เอ็นจิเนียร์เลยทีเดียว โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 บาท/ตร.ม. รวมค่าติดตั้ง ราคาจะถูกกว่าพื้นเอ็นจิเนียร์ทั่วไปเล็กน้อย

ต่อมาเราขอลองแยกโครงสร้างของพื้น Hybrid Engineered Wood ให้ดูกันบ้าง ว่ามีความแตกต่างจากไม้ Engineering Wood แบบดั้งเดิมยังไงบ้าง เริ่มจาก

  • ชั้นบนสุด : เคลือบผิวด้วยสาร Hydro – Seal เป็นสารกันน้ำเพื่อไม่ให้เกิดการบวมน้ำในภายหลัง และสาร Scratch Guard เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี
  • ชั้นถัดมา :  เป็นวัสดุที่เกิดจากการผสมของผงไม้ + พลาสติก ขึ้นรูปออกมาให้เป็นลวดลายไม้ ซึ่งเวลาสัมผัสแล้วจะให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริงเลยนะคะ
  • ชั้นกลาง : วัสดุที่ใช้คือแผ่นไม้ HDF ( High Density Fiberboard) มาตรฐานยุโรป เพื่อให้มีความหนาแน่นและแข็งแรงมากเป็นพิเศษ
  • ชั้นล่าง : เป็นแผ่นรองพื้นชั้นล่าง เพื่อป้องกันความชื้นเข้าสู่แกนกลางแผ่น

ข้อดี-ข้อเสียของ “พื้น Hybrid Engineered Wood”

ข้อดี : ติดตั้งง่ายช่างทั่วไปสามารถทำได้ กันน้ำได้ดี พื้นไม่โก่ง งอ ยืด หด ขยาย รวมถึงสามารถกันรอยขีดขูดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดี นอกจากนี้ยังได้ผิวสัมผัสเหมือนไม้จริงอีกด้วยนะคะ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว

ข้อเสีย : เหมาะใช้งานกับพื้นภายในห้องมากกว่า เช่นเดียวกับ Engineering Wood ทั่วไป เนื่องจากยังทนความชื้นและแสงแดดได้ไม่ดีนัก

เรามายกตัวอย่างโครงการที่ใช้พื้นลามิเนต มาให้ดูบรรยากาศของจริงกันดูบ้าง สำหรับวันนี้เราขอเลือกโครงการ PITI EKKAMAI ของ เสนาฮันคิว ซึ่งโครงการนี้เป็นคอนโด High Rise ระดับ Luxury Class ซึ่งตัวพื้นสามารถป้องกันน้ำและรอยขีดข่วนได้ดี อีกทั้งยังมีขนาดแผ่นที่ยาวถึง 2 เมตร ทำให้รอยต่อน้อย ได้ความรู้สึกเสมือนไม้จริง ถ้าใครอยากดูภาพบรรยากาศเพิ่มเติมสามารถอ่านรีวิวฉบับเต็มได้ คลิกที่นี่ หรือสามารถเข้าไปเยี่ยมชมที่โครงการดังกล่าวได้เลยนะคะ


วันนี้เราจะพาทุกคนไปทดสอบคุณภาพของพื้นทั้ง 3 ประเภทกันดูบ้าง เพื่อให้เห็นความชัดเจน และเห็นภาพได้ชัดขึ้น เราจะเริ่มทดสอบด้วยการขังน้ำไว้บนแผ่นไม้ แล้วทิ้งระยะไว้ช่วงเวลานึง ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรกันบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

เริ่มจากพื้นไม้ลามิเนต ซึ่งพอปล่อยเวลาไปช่วงเวลานึง เราจะเห็นได้ว่าตัวแผ่นไม้เริ่มมีการโก่งตัว เนื่องจากพื้นบวมน้ำค่ะ

ถัดมาที่พื้น Engineering Wood จะเห็นว่าด้านใต้แผ่นไม้ เริ่มมีเชื้อราให้เห็นกันบ้างแล้ว แสดงว่ามีการซึมของน้ำเข้าไปในแกนกลางไม้

สุดท้ายคือพื้น Hybrid Engineered Wood จะเห็นได้ว่าสภาพเหมือนเดิมเลย ไม่เกิดการบวมน้ำ ไม่เกิดเชื้อรา เพราะมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydro – Seal เป็นสารที่เคลือบพื้นผิวด้านบนคอยช่วยอยู่

ต่อมาเรามาทดสอบรอยขีดขูดกัน โดยเราจะใช้ฝอยขัดหม้อมาลองขูดกันดู โดยจะเปรียบเทียบระหว่าง Engineering Wood กับ Hybrid Engineered Wood ผลที่ได้จะเห็นได้ว่าพื้นไม้เอ็นจิเนียร์มีรอยขูดขีดที่เห็นชัดเจน ส่วนตัว Hybrid จะแทบไม่มีรอยขีดขูดให้เห็นเลย เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Scratch Guard เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนสำหรับการใช้งานได้ดี


ภาพประกอบจาก Engineering Wood ที่ปิดผิวด้วยไม้คอร์ก ( Cork Flooring ) จากแบรนด์ Wicanders

นอกเหนือจากวัสดุที่เราเอามาให้ดูตอนต้นทั้ง 3 แบบ ที่เริ่มใช้กันเยอะแล้ว ตอนนี้ก็มีวัสดุใหม่ๆที่น่าสนใจอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นวัสดุทดแทนไม้เช่นกัน คือ พื้น Engineering Wood ที่ปิดผิวด้วยไม้คอร์ก ( Cork Flooring ) ที่โครงสร้างวัสดุเป็นเหมือนกับพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ทั่วไป แต่ปิดผิวด้วยไม้คอร์กแทน ซึ่งจะแตกต่างจากหน้าไม้โอ๊ค หรือหน้าไม้อื่น ๆ เนื่องจากไม้คอร์กนั้นเป็นผลิตผลจากเปลือกต้นโอ๊คพิเศษ และเป็นวัสดุจากธรรมชาติ 100 % (Green Product) ซึ่งจะมีคุณสมบัติพิเศษ 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี

  • ดูดซับเสียง (Silence) : พื้นไม้คอร์กสามารถดูดซับเสียงให้ลดลงได้ถึง 53% ซึ่งถือเป็นฉนวนกันเสียงได้ดีทีเดียว
  • อุณหภูมิที่สบาย (Natural Thermal Insulation) : โดยธรรมชาติของพื้นไม้คอร์ก เมื่อมีการสัมผัสจะค่อยๆ ถ่ายเทอุณหภูมิจากร่างกายลงบนพื้น ซึ่งแตกต่างจากวัสดุอื่นๆที่ถ่ายเทอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่รู้สึกร้อนหรือเย็นจนเกินไป
  • เดินสบาย (Walking Comfort) : โครงสร้างของพื้นไม้คอร์กเป็นเหมือนรังผึ้ง ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง เวลาเดินบนพื้นไม้คอร์กจะให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล แต่ไม่หยวบ ซึ่งเวลาเดินจะสบายเท้ามากกว่าไม้จริง เนื่องจากไม่จริงค่อนข้างแข็ง
  • ลดการเมื่อยล้าเวลาเดิน (Body Wellness) : เนื่องจากพื้นมีความนุ่มนวล ทำให้สามารถลดอาการปวดของข้อเท้าได้ ทำให้ดีสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ จึงไปอีกตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
  • ลดแรงกระแทก (Impact Resistance) : พื้นไม้คอร์กมีความยืดหยุ่นสูงกว่าวัสดุปูพื้นทั่วไป ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุเช่น แก้วตกจากพื้นหรือมีเด็กหกล้มภายในบ้าน

สำหรับราคาอยู่ที่ประมาณ 2,400-2,800 รวมค่าติดตั้ง แม้จะมีราคาสูงหน่อย แต่ถ้าเทียบกับคุณภาพก็ถือเป็นอีกตัวเลือกนึงที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ

เรามายกตัวอย่างโครงการที่ใช้พื้นลามิเนต มาให้ดูบรรยากาศของจริงกันดูบ้าง สำหรับวันนี้เราขอเลือกโครงการ Whizdom Asoke – Sukhumvit ของ MQDC ซึ่งโครงการนี้เป็นคอนโด High Rise ระดับ ULTIMATE CLASS ซึ่งเป็นคอนโดระดับบนสุดเลยนะคะ สาเหตุที่เลือกใช้ เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษช่วยดูดซับเสียง และลดแรงกระแทกได้ดี ทำให้ไม่มีเสียงรบกวนเวลาเดิน นอกจากนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ถ้าใครอยากดูภาพบรรยากาศเพิ่มเติมสามารถอ่านรีวิวฉบับเต็มได้ คลิกที่นี่ หรือสามารถเข้าไปเยี่ยมชมที่โครงการดังกล่าวได้เลยนะคะ

 


สรุป

สำหรับตารางเปรียบเทียบด้านบน

พื้น Engineering Wood : กันน้ำและรอยขีดขูดได้ไม่ดีนัก แต่เรื่องผิวสัมผัสต้องยกให้เขาเลยนะคะ

พื้น Laminated Wood : บวมน้ำง่าย แต่สามารถกันรอยขีดขูดได้ดี และยังมีลวดลาย โทนสีให้เลือกหลากหลาย เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ได้ตามใจชอบ

พื้น Hybrid Engineered Wood : สามารถกันน้ำและรอยขูดขีดได้ดีทีเดียว เนื่องจากมีการพัฒนามาจากพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ทั่วไป ซึ่งยังได้ผิวสัมผัสเหมือนไม้จริง รวมถึงไม้มีขนาดยาวถึง 2.00 เมตร เพื่อลดรอยต่อของแผ่นไม้ ให้เหมือนไม้จริงมากยิ่งขึ้น

เห็นหรือยังค่ะ ว่ายังมีวัสดุทดแทนไม้อีกมากมายให้เราเลือกใช้ ในราคาที่ถูก และมีการดูแลรักษาที่ง่ายกว่า ซึ่งเวลาเลือกใช้ต้องคำนึงถึงการใช้งานในฟังก์ชันนั้นๆด้วย หลักๆคือต้องหาวัสดุที่เหมาะสมกับฟังก์ชันนั้นๆ ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละพื้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

สุดท้ายก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ในการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกซื้อวัสดุทดแทนพื้นไม้ เพื่อนำมาใช้ในการตกแต่งบ้านให้สวยถูกใจ และเหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุดนะคะ และคราวหน้า Think of Living เราจะพาไปเจาะลึก Living Idea เรื่องไหนกันอีก อย่าลืมติดตามชมกันด้วยนะคะ > <


  • เว็บไซต์ผู้นำเข้า O2E Supply : http://www.o2esupply.co.th
  • ติดต่อ O2E Supply โทร. 02-1944769-70 ,081-841-4677


อย่าลืมกด Subscribe YouTube : คิดเรื่องอยู่ Think of Living กันด้วยนะคะ