วันนี้ (10 ส.ค.60) เวลา 10.00 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการแถลงข่าวเรื่อง “การปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า สถานีสะพานตากสิน (S6)” ในการนี้มี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการที่ปรึกษา นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ตลอดจนผู้บริหารจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมแถลงข่าวดังกล่าว ณ ห้องประชุมราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การบำรุงรักษาสะพานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ถือเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของ ทช. โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ทช.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ สะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมโยธาธิการ ได้แก่ สะพานพระราม 4 สะพานพระราม 5 สะพานพระราม 7 สะพานกรุงธน สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สะพานพระปกเกล้า สะพานพระราม 3 สะพานกรุงเทพ และสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานตากสิน)

สำหรับในส่วนของสะพานตากสิน ทาง กทม.ได้ดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชน (BTS) สายสุขุมวิท-สีลม โดยเปิดให้บริการในปี 2542 ซึ่งมีสถานีตากสิน (S6) เป็นสถานีสุดท้าย ต่อมาในปี 2552 ได้เริ่มเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย สายสีลม ช่วงสถานีสะพานตากสิน (S6) – สถานีวงเวียน (S8) และต่อขยายเพิ่มเติมจนกระทั่งถึงสถานีปลายทาง สถานีบางหว้า (S12) ในปี 2556 และในการเปิดใช้บริการส่วนต่อขยาย ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการมากขึ้น แต่เนื่องจากสถานีสะพานตากสิน (S6) ซึ่งเป็นสถานีชั่วคราวมาแต่เดิม มีลักษณะเป็นทางวิ่งเดี่ยว รถไฟฟ้าต้องจอดสับราง ทุกครั้งที่จะเดินรถผ่าน ทำให้ความถี่ในการเดินรถไฟฟ้าไม่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องขยายช่องทางเดินรถบนสถานีสะพานตากสิน (S6) จากทางวิ่งเดี่ยวให้เป็นทางวิ่งคู่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

Image 1/3
20638784_1472685472777063_1175023248895955649_n

20638784_1472685472777063_1175023248895955649_n

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสถานีรถไฟฟ้า สถานีสะพานตากสิน (S6) โดยปรับเปลี่ยนทางเดินรถจากช่องทางเดี่ยวบนสะพานเป็นช่องทางคู่ และเพิ่มชานชาลาให้สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องเจาะช่องผิวจราจรบนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้านในกว้าง 1.80 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร จำนวน 6 ช่อง และเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ยานพาหนะบนสะพานจึงจำเป็นต้องสร้างพื้นสะพานทดแทนกว้าง 1.80 เมตร เป็นระยะทางประมาณ 230 เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อระยะเบี่ยงแนวทางวิ่งของรถยนต์บนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในขั้นตอนดำเนินการได้พิจารณาถึงแนวทางการก่อสร้าง เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้งานยานพาหนะบนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยได้ตกลงกับกรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างพื้นสะพานทดแทนด้านปีกนอกของสะพานทั้งสองฝั่งให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะดำเนินการขยายช่องทางวิ่งรถไฟฟ้าเป็นทางวิ่งคู่พร้อมชานชาลาของรถไฟฟ้า

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากจะไม่มีผลกระทบต่อการจราจรบนสะพานตากสินแล้ว ยังจะสามารถเพิ่มการให้บริการรถไฟฟ้า ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอรถไฟฟ้านาน ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้บริการสะพานและรถไฟฟ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

ที่มา: Facebook บีทีเอส