BTS ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ คุณมานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือคุณซาบะ ผู้พิการนั่งรถเข็น ทุบทำลายกระจกลิฟท์โดยสารสำหรับผู้พิการที่สถานีอโศก ดังนี้

คืนวันอาทิตย์ ที่ 11 มีนาคม 2561 เวลาประมาณ 20.15 น. คุณมานิตย์ ได้มาใช้บริการที่สถานีอโศก โดยมาจากทางเชื่อมอาคารเทอร์มินัล 21 เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ขอให้กรอกแบบฟอร์มบันทึกการโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติปกติสำหรับผู้พิการ แต่ทั้งนี้ คุณมานิตย์ได้ปฏิเสธการลงชื่อ และได้เข้าไปทุบกระจกประตูลิฟท์แตก บริษัทฯ รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมิได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนการปฎิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ บริษัทฯ จะทำการทบทวนปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติให้มีความสะดวกมากขึ้น  แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ

สำหรับลิฟท์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ลิฟท์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต ช่องนนทรี อโศก และอ่อนนุช โดยก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว ไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวก และความปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดให้บริการพร้อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ในปี 2542 และได้มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการ โดย กรุงเทพมหานคร บริษัทฯ และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันในขณะนั้นว่า จะมีการปิดล็อคประตูลิฟท์ไว้ และเมื่อมีผู้พิการมาใช้บริการ ก็ให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าไปยังสถานีปลายทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่ชั้นพื้นถนนอย่างปลอดภัย

ลิฟท์ประเภทที่สอง กรุงเทพมหานครได้มีการสร้างลิฟท์เพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิม และในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยลิฟท์เหล่านี้เปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งลิฟท์จะมี 2 ส่วน คือ ลิฟท์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วจะอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟท์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลา จะอยู่ในเขตชำระเงิน จึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับผู้พิการเมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้ว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่

ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส วันละประมาณ 2,800 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการที่นั่งรถเข็นวันละประมาณ 20 คัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ อาทิ การสร้างทางเดินเชื่อมจากสถานีสยามไปยังแยกราชประสงค์ การติดตั้ง ลิฟท์สำหรับรถเข็นคนพิการ (Stair Lift)  ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และการติดตั้งเข็มขัดล็อควีลแชร์ (Wheel chair belt) ไว้ในขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้พิการที่ใช้รถเข็น

ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมที่จะพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้แสดงออกถึงข้อเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน