หลายกูรู สอนวิธีการเลือกตำแหน่งห้องพักอาศัยคอนโดมิเนียมตามหลักที่ถูกต้องกันเยอะแล้วนะคะ ซึ่งแน่นอนว่าทุกกูรูมีหลักการในการเลือกที่ถูกต้องตามแบบแผนแน่ๆ ค่ะ แต่สำหรับบทความครั้งนี้เราขอเขียนโดยเปลี่ยนหลักมุมมองใหม่กันแต่ยังอิงเนื้อหาของหลักการในการเลือกตำแหน่งคอนโดมิเนียมแบบเดิม โดยมุมมองใหม่ที่เราจะมาเขียนนั้นเน้นหนักไปที่ความชอบ ความต้องการของแต่ละคนก่อน เพื่อให้ทุกคนหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับเราจริงๆ ได้ เพราะเราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นกูรูมากประสบการณ์แค่ไหน ก็ไม่มีใครที่เลือกห้องได้ตรงใจไปเท่ากับเราเลือกห้องของเราเองจริงๆ ค่ะ 🙂


สำรวจความชอบ/ไลฟ์สไตล์ในการอยู่อาศัยของตนเอง

ขอบคุณภาพจาก Vectorstock.com

เริ่มต้นการเลือกตำแหน่งห้อง ให้เราเลือกโดยใช้หลักการเดียวกับการเลือกคอนโดเลยค่ะ (ไม่รวมหลักการที่ว่าไปถามกูรูเลือกคอนโดนะคะ ^^) อย่างแรกคือกำหนด Requirement (ความต้องการ) ของเราพื้นฐาน เช่น ชอบวิว ไม่อยากให้ห้องหันไปในทิศทางแดดร้อน ชอบความเป็นส่วนตัวเงียบสงบ ชอบความคึกคักมีสีสัน ชอบใช้ Facilities เป็นต้น

ซึ่งเราเชื่อว่าหลังจากที่เรากำหนด Requirement มาแล้ว หลายคนก็คงจะตอบมาหลายข้อแน่นอน ไม่ใช่เพียง Requirement เดียว ทั้งนี้อันดับต่อไปเราต้องจัดอันดับความต้องการของเราด้วยว่าเราให้ความสำคัญหรือเรียกง่ายๆ ว่าเทน้ำหนักไปทางไหนมากกว่ากัน เนื่องจากว่าอาจจะไม่ได้มีห้องในโครงการนั้นที่สามารถตอบโจทย์เราได้ครบถ้วนก็ได้นะคะ ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญไว้ก่อนจึงควรจะทำตั้งแต่แรกๆ


มาทำความรู้จักกับผังพื้นคอนโดมิเนียมกันก่อนนะ (Floor Plan)

ผังพื้นคอนโดมิเนียมที่จริงแล้วมีค่อนข้างหลากหลายทีเดียวค่ะ แต่ส่วนใหญ่การวางอาคารจะเป็นแนวที่ใกล้เคียงกันไม่ต่างกันมากนัก โดยเราจะขอแบ่งการวางผังเป็นทั้งหมด 5 แบบด้วยกันนะคะ ซึ่งจะขอสรุปข้อดี-ข้อเสียในส่วนของผังกันให้เห็นภาพก่อน ค่อยมาอธิบายเจาะลึกให้ตรงกับความชอบกันอีกที

แปลนรูปตัว I

แปลนประเภทนี้เรามักจะเห็นกันทั่วไปเลยนะคะ ลักษณะจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ โถงลิฟต์มักจะอยู่ตรงกลางแบ่งห้องพักออกเป็น 2 ฝั่ง ในแนวเหนือ-ใต้ หรือ ตะวันออก-ตะวันตก ตำแหน่งห้องที่น่าสนใจคือห้องมุมอาคาร เพราะได้วิว 2 ทิศและเป็นส่วนตัว (แต่มักจะเป็นห้องขนาดใหญ่สุดของอาคาร หรือตั้งราคาขายแพงกว่าห้องตำแหน่งอื่นๆ) สำหรับห้องที่หันไปทางทิศที่แย่ที่สุดของอาคารมักจะวางห้องราคาถูกสุดไว้ คือ ห้อง Studio เป็นเรื่องปกติ

แปลนรูปตัว L

แปลนแบบนี้โถงลิฟต์มักจะวางอยู่ตรงกลาง แล้วแบ่งห้องพักออกเป็น 2 ฝั่งทั้งทิศเหนือ-ใต้ และ ตะวันออก-ตะวันตก ห้องที่อยู่ปลายสุดของขาตัว L แต่ละฝั่งจะเดินค่อนข้างไกล ส่วนห้องที่อยู่บริเวณฉากของตัวอาคาร ถ้าวางผังออกมาไม่มีช่องแสงอาจทําให้พื้นที่บริเวณนี้มืดทึบได้
และ ในกรณีที่โถงลิฟต์ไม่ได้วางอยู่ตรงกลางและบริเวณมุมของอาคารวางเป็นห้องพัก จะมีบางห้องที่อยู่ติดกันบริเวณฉากของอาคารหันชน
กันพอดี ถ้าเรานั่งอยู่ในห้องแล้วมองออกมาจะเห็นห้องฝั่งตรงข้ามทําให้ไม่เป็นส่วนตัวได้ ห้องที่หันออกภายนอกจะได้วิวเปิดโล่ง ส่วนห้องที่อยู่ฝั่งภายใน ทางโครงการมักนิยมวาง Facilities เอาไว้ฝั่งนี้เพื่อให้เรามองวิวออกมาแล้วเห็นพื้นที่ส่วนกลางค่ะ

แปลนรูปตัว U

แปลนรูปตัว U โถงลิฟต์มักค่อนมาทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งทําให้มีห้องที่เดินใกล้และเดินไกล และฝั่งที่ใกล้ลิฟต์จะมีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่มีคนเดินส่วน Corridor หน้าห้องน้อยกว่าอีกฝั่ง ทำให้ได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า ส่วนการวางผังห้องมักเน้นวางห้องขนาดใหญ่เป็นห้องมุมเป็นมาตรฐาน ส่วนห้องอื่นๆถ้าเป็นทิศที่แดดร้อนจะวางห้องขนาดเล็กกว่าเช่นพวกห้อง Studio เป็นต้น ฝั่งตรงกลางด้านในของผังในลักษณะนี้มักจะจัดชั้นใดชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง มองลงมาด้านล่างก็จะเห็นวิวไม่เป็นสวนก็เป็นสระว่ายน้ํา โดยแปลนรูปแบบนี้มักนิยมในคอนโดมิเนียม Low Rise ค่ะ

แปลนรูปตัว H

แปลนรูปแบบนี้ไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่นัก มักปรากฎในโครงการขนาดใหญ่ที่มีจํานวนยูนิตเยอะๆ ลักษณะเหมือนเอาแปลนรูปตัว U มาประกบกันในฝั่งตรงข้าม ซึ่งในแต่ละชั้นจะมีจํานวนห้องพักค่อนข้างหนาแน่น โถงลิฟต์มักจะอยู่ตรงกลาง ค่อนมาทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มีห้องที่เดินใกล้และเดินไกลเช่นเดียวกัน ห้องที่อยู่ตรงกลางของตัว H และห้องที่อยู่รอบนอก ถ้าไม่มีอาคารข้างเคียงมาบดบัง จะเห็นวิวที่ค่อนข้างโล่ง ส่วนฝั่งด้านในจะมองเห็นห้องต้องข้าม ซึ่งมีวิธีออกแบบโดยการจัดให้ขาของตัว H สั้น-ยาว ไม่เท่ากันช่วยให้มีห้องที่เห็นวิวเปิดโล่งเพิ่มมากขึ้น
สําหรับพื้นที่ส่วนกลางก็จะวางอยู่ฝั่งด้านใน จะด้านเดียวหรือทั้ง 2 ด้านขึ้นอยู่กับการออกแบบค่ะ

แปลนรูปตัว O

แปลนรูปแบบนี้มักจะเห็นในโครงการระดับ Luxury ขึ้นไปนะคะ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมการจัดผังแบบนี้เราถึงบอกว่ามักจะเห็นในโครงการแพง เนื่องจากการจัดผังแบบนี้แสดงถึงการคำนึงเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จากผังก่อนหน้าพอสมควร ทั้งเรื่องของจำนวนยูนิตต่อชั้นที่มีไม่มาก (หากดีจริงแต่ละชั้นควรจะมีไม่ถึง 10 ยูนิต)  และทางเดินแบบ Single Corridor หรือทางเดินที่ไม่มีเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามเลย ซึ่งสร้างความเป็นส่วนตัวได้ดี ส่วนข้อจำกัดของแปลนนี้หากไม่มีการเว้นพื้นที่บางส่วนเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าสู่โถงทางเดินนั้นก็จะทำให้ส่วนโถงมืด ต้องอาศัยแสงจากดวงโคมแม้จะเป็นตอนกลางวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้เช่นกันค่ะ


ไลฟ์สไตล์เรากับการเลือกตำแหน่งห้องในคอนโดมิเนียม

เมื่อสำรวจตัวเองและรู้ข้อจำกัดเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงหัวข้อหลักของบทความนี้คือการเลือกตำแหน่งห้องให้ตรงกับไลฟ์สไตล์เราแล้วนะคะ ซึ่งในส่วนนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าอาจจะเขียนได้ไม่ครบตามไลฟ์สไตล์หรือความชอบของทุกคนนะคะ อย่างที่เรากล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าเราเองจะรู้ความชอบและตัวตนเราดีที่สุดค่ะ ซึ่งการเขียนครั้งนี้เราจะขอเขียนวิเคราะห์โดยอิงไลฟ์สไตล์ความชอบของคนส่วนใหญ่เป็นหลักนะคะ หากตกหล่นไลฟ์สไตล์ไหนไป หรือเพื่อนๆ คนไหนอย่างให้แนะนำ สามารถคอนเม้นท์ลงในช่องคอมเม้นท์ด้านล่างเลยค่ะ

รักความส่วนตัว

สำหรับใครที่รักความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบเสียงดังคึกคัก เราจะสอนวิธีดูโครงการและแนะนำตำแหน่งห้องดังนี้ค่ะ

  • จำนวนยูนิตทั้งโครงการ /จำนวนยูนิตต่อชั้น/ความหนาแน่นลิฟต์

อันดับแรกให้เรามองหาคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนยูนิตไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคอนโด Low Rise จะมีจำนวนยูนิตที่น้อยกว่าคอนโด High Rise เป็นส่วนใหญ่นะคะ ส่วนจำนวนยูนิตต่อชั้นนั้นควรไม่เกิน 20 ยูนิตขึ้นไป และความหนาแน่นลิฟต์นั้นก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลถึงความเป็นส่วนตัวเช่นกัน อาจจะ Effect มากเท่ากับการใช้เวลารอลิฟต์นะคะ โดยความหนาแน่นลิฟต์ที่ถือว่าไม่มากของ High Rise ควรอยู่ที่ 100 (ห้อง) : 1 (ลิฟต์ 1 ตัว) ในขณะที่ความหนาแน่นลิฟต์ของ Low Rise ซึ่งโดยทั่วไปมักมีจำนวนยูนิตน้อยกว่า High Rise อยู่แล้วควรอยู่ที่ไม่เกิน 70 : 1 ที่จะเรียกว่าความหนาแน่นของลิฟต์ไม่มาก

  • ระบบรักษาความปลอดภัย

ในเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยนั้นนอกเหนือจากความปลอดภัยที่เราได้รับแล้ว ยังได้ในส่วนของความเป็นส่วนตัวอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น โครงการที่มีการสแกนบัตรเพื่อเข้า-ออกตั้งแต่ส่วน Lobby โครงการเลยนั้น ก็จะทำให้บรรยากาศส่วน Lobby มีแต่เพียงลูกบ้านเท่านั้นที่สามารถเข้ามานั่งใช้งานได้ ในทางกลับกันหาก Lobby เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้งานได้ ไว้สำหรับรองรับแขกของลูกบ้านก็จะทำให้ส่วน Lobby ค่อนข้างคึกคักมากกว่าเป็นธรรมดานะคะ อีกกรณีนึงคือ ห้องพักที่อยู่ในชั้น Facilities หากไม่มี Double Access ที่ลูกบ้านในชั้นนี้เท่านั้นที่จะสแกนบัตรเข้าสู่โถงทางเดินส่วนห้องพักอาศัยได้ ก็จะลดทอนความเป็นส่วนตัวของลูกบ้านชั้นนี้ลงไปพอสมควรเลย เนื่องจากลูกบ้านในชั้นอื่นๆ สามารถลงมาใช้งาน Facilities ได้อยู่แล้ว ถ้าไม่มีการกั้นพื้นที่เฉพาะลูกบ้านชั้นนี้ ลูกบ้านชั้นอื่นๆ ก็สามารถเดินผ่านหน้าห้องเราได้เลย

  • Single Corridor

Single Corridor หรือโถงทางเดินที่มีเพียงห้องพักฝั่งเดียวนั้น ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับลูกบ้านภายในโครงการได้มากขึ้นนะคะ เพราะไม่มีเพื่อนบ้านฝั่งห้องตรงข้าม เปิดประตูมาไม่ต้องเจอกับคนอื่นในห้องตรงข้าม รวมไปถึงเสียงของห้องตรงข้ามด้วย ก็ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เห็นเมื่อเปิดประตูห้องทดแทนจากเพื่อนบ้านอาจจะเป็นวิวภายนอก (กรณีโครงการทำโถงทางเดินติดกระจกให้) หรือเป็นแค่กำแพงทึบธรรมดาแทนค่ะ

ตำแหน่งห้องที่เหมาะกับคนรักความเป็นส่วนตัว

เราลองลิสตำแหน่งที่เหมาะกับคนรักความเป็นส่วนตัวในทุกแบบแปลน และแบบห้องนะคะ ซึ่งในแต่ละแปลนจะแยกการจำแนกออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน (ตามสีของเส้นประ)

  • สีแดง – ตำแหน่งห้อง Basic มากที่ได้ความเป็นส่วนตัวคือห้องมุมอาคาร หรืออยู่สุดโถงทางเดินเลย แน่นอนว่าการอยู่สุดโถงทางเดินคนก็มักจะเดินผ่านน้อยอยู่แล้ว และต้องมีผนังอย่างน้อย 1 ด้าน (ส่วนใหญ่ 2 ด้าน) ที่ไม่ติดกับเพื่อนบ้านนะคะ แต่ด้วยตำแหน่งห้องนี้ของอาคารส่วนใหญ่ ทาง Developer ให้ค่าความาสำคัญว่าเป็นตำแหน่งที่ดี จึงมักวางห้องขนาดใหญ่สุดของโครงการนั้นๆ ไว้ และมักจะขายตำแหน่งห้องนี้แพงกว่าห้องตำแหน่งอื่นๆ (แม้ว่าจะ Type เดียวกัน) ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแบบห้องที่เราชอบ หรืองบประมาณไม่ถึงก็ได้ค่ะ ซึ่งหากเป็นอย่างงั้นให้ลองดูตำแหน่งห้องของสระประสีอื่นๆ ในลำดับถัดไปที่เราจะอธิบายกัน
  • สีน้ำเงิน – ตำแหน่งห้องที่อยู่ติดกับห้องเพื่อนบ้างเพียงฝั่งเดียว ซึ่งช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ดี มีเสียงรบกวนจากเพื่อนบ้านน้อยลงไป 1 ด้าน ส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับบันไดหนีไฟนะคะ
  • สีเหลือง – ตำแหน่งห้องนี้จะเหมาะสำหรับคนที่ซื้อห้องพักขนาดเล็ก ไม่ได้เป็นไซส์ใหญ่ของโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ขนาบกับเพื่อนข้างห้องทั้ง 2 ฝั่งอยู่แล้ว และมักไม่ได้อยู่ในห้องมุม วิธีดูห้องที่ได้ความเป็นส่วนตัวมากที่สุดคือห้องที่อยู่ตรงข้ามกับบันไดหนีไฟ หรือพื้นที่เปิด (เช่น โครงการไหนที่มีจัดสวนในแต่ละชั้น) เสมือนกับเราได้ Single Corridor ขนาดย่อมๆ ของเราเอง อย่างน้อยไม่ต้องเปิดประตูออกไปเจอกับเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามค่ะ

 

กลัวแดด กลัวร้อน

ขอบคุณรูปจาก SCG Building Materials 2017

สำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องแดดร้อน หรืออากาศในห้องที่อมความร้อนนั้น เราเข้าใจดีเลยค่ะ เพราะด้วยความที่ประเทศเราอยู่ในโซนใกล้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้นเรื่องของอุณหภูมิก็จะอุ่น-ร้อนอยู่ตลอดปี ทั้งนี้หากเลือกห้องที่อยู่ตำแหน่งที่รับแดดตลอดก็ส่งผลให้เราอยู่แบบไม่สบายมากนัก หรือต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียว ก็จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปด้วย ทั้งนี้หลักการง่ายๆ ในการเลือกตำแหน่งของห้องหลักๆ เลยคือ ดูจากทิศทางแดดและลม

ทิศทางแดด : โดยปกติแล้วพระอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออกในช่วงเช้า จากนั้นอ้อมมาทางทิศใต้และตกที่ทิศตะวันตก (ตามชื่อทิศ) ดังนั้นก่อนที่พระอาทิตย์จะตกในช่วงเย็นนั้น ทิศตะวันตกเยื้องไปทางทิศใต้จะได้รับแดดช่วงบ่ายที่ถือเป็นแดดที่ร้อนที่สุดไป ดังนั้นหากใครที่ซีเรียสเรื่องความร้อนนั้นควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งห้องที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ค่ะ

อีกเทคนิคนึงสำหรับผังคอนโดที่มีปีก (Wing) เช่น แปลนรูปตัว U, H, L จะมีห้องที่อยู่โซนด้านในมีตัวอาคารที่โอบล้อมอยู่ ในส่วนนี้จะช่วยบังแดดไปในตัวด้วยนะคะ ทำให้ห้องไม่โดดแดดโดยตรง

ทิศทางลม : การระบายอากาศก็เป็นอีกจุดที่หลายคนคำนึงเช่นกันในการอยู่อาศัยบนคอนโดมิเนียม หากต้องการให้ลมพัดผ่านห้องบ้างแนะนำให้เลือกห้องที่อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะเป็นทิศทางของลมประเทศไทยค่ะ แต่ต้องบอกก่อนว่าการระบายอากาศของคอนโดมิเนียมจะแตกต่างกับบ้านพอสมควร เนื่องจากห้องพักส่วนใหญ่มีหน้าต่างเปิดมาจากด้านเดียว ซึ่งลักษณะการพัดผ่านของลมนั้นจะพัดผ่านได้ดีต่อเมื่อมีทางเข้าของลมและทางออกของลมด้วย ฉะนั้นการระบายอากาศในคอนโดมิเนียมจะไม่ได้เย็นสบาย ลม Flow เทียบเท่ากับบ้านนะคะ

ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีหลายโครงการที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้โดยนำนวัตกรรม Ventilation Door (ในส่วนประตูหน้าห้อง) ที่มีช่องสำหรับระบายอากาศได้ เพื่อให้ได้รับ Fresh Air มากขึ้น

ตำแหน่งห้องที่เหมาะกับคนกลัวแดด กลัวร้อน

ตำแหน่งห้องที่เหมาะสมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันตามทิศทางแดดและลมนะคะ ห้องไหนที่มีเส้นประทั้ง 2 เส้นวงอยู่ แสดงว่าเป็นห้องที่อยู่ในทิศทางที่เหมาะสมทั้งเรื่องแดดและลมค่ะ

  • สีเหลือง = ทิศทางแดด : สำหรับตำแหน่งห้องที่โดนแดดไม่ร้อนมากนักก็จะเป็นทิศเหนือทั้งหมดนะคะ หลักๆ เวลาเลือกตำแหน่งห้องสำหรับคนกลัวร้อนให้เลือกทิศเหนือไว้ก่อนค่ะ ส่วนหากโครงการไหนที่มีจัดผังพื้นเป็นรูปตัว U, L หรือ H นั้น ก็จะมีบางห้องในทิศอื่นๆ ที่มีอาคารช่วยบังแดดไว้ให้ด้วยค่ะ ไม่จำเป็นต้องเลือกห้องทิศเหนือแต่อย่างเดียว 
  • สีน้ำเงิน = ลมพัดผ่านได้ดี : สำหรับห้องที่มีลมพัดผ่านได้ดีนั้นทั้งหมดเป็นห้องมุมอาคารที่ต้องมีช่องเปิด (หน้าต่าง) ทั้ง 2 ทิศทางขึ้นไป เพื่อช่วยให้ลมพัดผ่านได้ดี และห้องไหนที่อยู่ฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก็จะได้เปรียบเรื่องการระบายอากาศ มีลมพัดผ่านได้ดีมากกว่าห้องมุมในทิศอื่นๆ ค่ะ

ชอบวิว

ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะ ว่าหลายคนเลือกที่จะมาอยู่คอนโดมิเนียม ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามีแต่ Product รูปแบบคอนโดมิเนียมในเมืองเท่านั้นที่พอจะซื้อได้ ด้วยราคาบ้านในเมืองที่อาจจะสูงไปไกลแล้ว แต่หลายคนเลือกคอนโดแม้จะอยู่ในงบที่เท่ากันเพราะรักในการชมวิวมุมสูงนั่นเองค่ะ

ซึ่ง “วิว” นี้ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากในอาคารสูงเลยก็ว่าได้ เนื่องจากห้องพักอาศัยในคอนโดมิเนียมมักจะมีช่องเปิดเพียงด้านเดียว หรือ 2 ด้านในเนื้อที่ที่จำกัด ดังนั้นวิวจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มบรรยากาศของการพักผ่อน และการพักสายตาของผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้เราขอจำแนกประเภทวิวในคอนโดมิเนียมออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ตามภาพเลยค่ะ

  • วิวภายในอาคาร – วิวภายในอาคารส่วนใหญ่จะเป็น Facilities ภายในอาคารนั่นเองค่ะ ซึ่งมักจะฮิตวิวภายในนอาคารในโครงการ Low Rise ที่ภายนอกอยู่ติดกับอาคารเพื่อนบ้านที่มีความสูงพอๆ กัน หรือโดยรอบแล้วไม่มีความน่าสนใจมากนัก และยังไม่ได้วิวมุมสูงมากเท่า High Rise เนื่องจาก Low Rise มีความสูงสูงสุดเพียง 8 ชั้น (ไม่เกิน 23 ม.) เท่านั้นเอง ดังนั้นใครที่เลือกโครงการ Low Rise นั้นแล้วชื่นชอบวิว ให้เลือกห้องที่หันเข้าส่วน Facilities และเลือกชั้นที่อยู่สูงกว่าชั้น Facilities ไม่เกิน 3 ชั้นนะคะ
  • วิวภายนอกอาคาร – สำหรับวิวภายนอกอาคารนั้นจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ (Surrounding) ที่เราจะต้องคำนึงนะคะ โดยแบ่งย่อยเป็น 2 เรื่องด้วยกัน

  • วิวเด่นของโครงการ – อันนี้สังเกตง่ายมากค่ะ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อน่าจะรู้อยู่แล้วว่าวิวไหนเป็นวิวเด่นของโครงการนะคะ สามารถสอบถาม Sale ได้ หรือหลายคนก็จิ้มโครงการนี้มาเลยเพราะเรื่องวิวนี่เอง ยกตัวอย่าง วิวที่มีหลาย Developer จับตามองและพยายามหาที่ดินที่สามารถสร้างคอนโดเพื่อให้ได้วิวนี้นะคะ เช่น

  • วิวสวนขนาดใหญ่ (จตุจักร, สวนลุมพินี, สวนเบญจกิติ)
  • วิวแม่น้ำ (แม่น้ำเจ้าพระยา)
  • วิวเมือง (สาทร, อโศก, พระราม 9 และอื่นๆ ที่มีตึกสูงเยอะ สวยๆ)

  • วิวบล็อก – หรือการที่อาคารถูกบังวิวจากอาคารข้างเคียง ในส่วนนี้หากคอนโดมิเนียมที่เราเลือกไว้ได้สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วการจะเลือกวิวจากห้องพักอาศัยเลยก็ง่ายค่ะ แค่เราไปดูวิวจากห้องจริงเลย แต่หากคอนโดมิเนียมเรายังไม่ได้เริ่มก่อสร้างล่ะ จะต้องทำอย่างไร เราจะสอนวิธีดูง่ายๆ แต่สามารถเช็คได้จริงว่าอาคารเราจะโดนบล็อกวิวจากอาคารข้างเคียงหรือไม่ คือ

  • ใช้ Google Maps (ปรับโหมดเป็นดาวเทียม) เพื่อดูระยะห่างจากตึกสูงอื่นๆ ว่ามีระยะห่างจากอาคารประมาณเท่าไหร่ จัดอยู่ในระยะบล็อกวิวหรือไม่ หรือใกล้มากจนเสียความเป็นส่วนตัว รวมไปถึงสามารถคาดคะเนว่าตำแหน่งห้องไหนที่ไม่โดนบล็อกวิวได้ด้วยเช่นกัน
  • ลงพื้นที่จริง เป็นอีกวิธี Basic ที่ควรทำควบคู่กับการใช้ Google Maps นะคะ


ข้อจำกัด (ปัจจัยที่ทำให้ได้ตำแหน่งห้องไม่ตรงกับความต้องการ 100%)

ปิดท้ายด้วยว่าทุกครั้งที่เราจะเลือกห้องหรือตำแหน่งของห้อง ควรเลือกเผื่อเอาไว้ประมาณ 3 ตำแหน่งก็จะดีนะคะ เพราะมีหลายปัจจัยที่เราอาจจะลืมนึกถึง และส่งผลให้มาสมองตีบตันทันทีเหมือนเจอข้อจำกัดที่ทำให้ไม่ได้ห้องดังใจคิดไว้ เช่น

  1. ห้องที่อยากได้มีคนจอง/ซื้อไปแล้ว – หากเจอเหตุการณ์นี้ให้ลองดูห้องตำแหน่งเดียวกันในชั้นรองลงมา (กรณีมีการจำกัดงบ) หรือขยับไปชั้นสูงขึ้น (ราคาสูงกว่า) หรือจะเลือกห้องที่อยู่ข้างเคียงใกล้ๆ กันแทน
  2. ตำแหน่งที่อยากได้ไม่มีห้อง Type ที่ต้องการ – กรณีควรดูว่าห้อง Type ที่เราต้องการอยู่ตำแหน่งไหนของโครงการบ้าง แล้วเลือกจากจากตำแหน่งนั้นๆ ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์เรามากที่สุด ไม่ควรจิ้มตำแหน่งไว้ก่อนนะคะ ควรจะดูจาก Type ห้องที่เราต้องการก่อน
  3. งบประมาณไม่ถึง – ตัวตัดสินสุดท้ายที่ชี้ขาดจริงๆ คืองบประมาณนี่แหละค่ะ ในปัจจัยนี้สำคัญมาก เพราะเหล่า Developer จะเคาะราคาแต่ละห้องมานั้นรู้อยู่แล้วว่าตำแหน่งห้องไหนที่เด่น ดี หรือเป็นที่ต้องการมากๆ ดังนั้นตำแหน่งห้องที่คุณผู้อ่านเลือกอาจจะราคาสูงแตกต่างจากห้อง Type เดียวกันในตำแหน่งอื่นก็ได้นะคะ และสำหรับคนที่ชอบวิวมุมสูงนั้นก็เช่นกัน เพราะห้องในคอนโดมิเนียมยิ่งชั้นสูงยิ่งแพงขึ้นเป็นเรื่องปกติเลยค่ะ


สรุป ส่งท้ายบทความนี้ หวังว่าคุณผู้อ่านทุกคนจะเข้าใจทั้งความชอบ ไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่สอดคล้องกับตำแหน่งห้องกันมากขึ้นนะคะ และสำคัญยิ่งกว่านี้คือสามารถเลือกตำแหน่งห้องที่ถูกใจตัวเองได้ด้วย ทางผู้เขียนจะดีใจมากๆ เลยค่ะ หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมที่อยากแชร์ให้เพื่อนๆ ผู้อ่าน Think of Living ด้วยกันสามารถคอมเม้นท์ในบทความด้านล่างได้เลยนะคะ และเช่นเดียวกันกับคุณผู้อ่านที่อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถคอมเม้นท์มาได้นะคะ ทางทีมนักวิเคราะห์อสังหาฯ และผู้เขียนเองจะมาตอบคอมเม้นท์ให้นะคะ 🙂