Knight Frank หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการจัดอันดับท็อป 10 ประเทศที่ราคาอสังหาฯ เติบโตร้อนแรงที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2549 จนถึงปลายปี 2554 ซึ่งหากท่านผู้อ่านได้ลองคำนวณราคาดูแล้วคงจะหนาวทีเดียว และจะทราบว่าราคาของคอนโดมิเนียมเมืองไทยนั้น “ถูก” ไปถนัดตา ยกตัวอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ที่ราคาคอนโดพุ่งไปแตะแถวๆ 600,000 บาทต่อตารางเมตร ฮ่องกงที่แพงแล้วแพงอีก 1.4 ล้านบาทต่อตารางเมตร หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านสิงคโปร์ของเรา ในย่านสำคัญของเขา ราคาตลาดอยู่ที่ 770,000 บาทต่อตารางเมตร … เป็นอย่างไรละครับ คอนโดระดับ ULTIMATE CLASS ของบ้านเรายังเทียบไม่ติดฝุ่นเลย
ที่มา Knight Frank, กรุงเทพธุรกิจ
อันดับหนึ่ง “จีน” เป็นประเทศที่ราคาอสังหาฯ เพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยราคาอสังหาฯ ในเมืองหลักอย่างปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 110.9% เพราะเศรษฐกิจจีนเติบโตรวดเร็วมาก
ราคาบ้านในย่านสำคัญๆ ของเซี่ยงไฮ้ ในไตรมาส 4 ของปี 2554 อยู่ที่ 19,400 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร ส่วนในปักกิ่ง ต้นทุนที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 17,400 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร ความร้อนแรงของอสังหาฯ แดนมังกรจุดชนวนความกังวลว่า อาจทำให้เกิดฟองสบู่สินทรัพย์ ร้อนถึงทางการจีน ต้องงัดมาตรการ เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคา ทั้งจำกัดการซื้อบ้านหลายหลัง ขึ้นดอกเบี้ย และปรับเพิ่มกันสำรองของแบงก์พาณิชย์
อันดับ 2 “ฮ่องกง” ราคาอสังหาฯ บนเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้น 93.7% ในช่วง 5 ปี ขึ้นแท่นเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่มีราคาอสังหาฯ แพงเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ราคาบ้านในย่านสำคัญอยู่ที่ 47,500 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร ปัจจัย ที่ผลักให้ราคาบ้านบนเกาะฮ่องกงพุ่งขึ้นเป็นเพราะความมั่งคั่งของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และการคุมเข้มเรื่องอสังหาฯ ทำให้ชาวแผ่นดินใหญ่ แห่มาซื้อที่อยู่ในฮ่องกง จนทางการฮ่องกงต้องหามาตรการสกัด
อันดับ 3 “อิสราเอล” ราคาอสังหาฯ เพิ่ม 54.5% ราคาที่สูงมากทำให้ชาวอิสราเอลชุมนุมประท้วงหลายครั้งในปีที่แล้ว เพื่อให้รัฐบาลเข้ามาจัดการลดความร้อนแรงในตลาด ซึ่งในปีที่แล้วราคาปรับลดลง 1.2% แต่เมื่อรัฐบาลปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 3.25% เหลือ 2.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ความต้องการบ้านกลับฟื้นมาอีกครั้ง
อันดับ 4 “สิงคโปร์” ราคาอสังหาฯ พุ่ง 50.5% ครองแชมป์ตลาดอสังหาฯ ราคาแพงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรั้งที่ 3 แพงสุดในเอเชีย รองจากฮ่องกง และโตเกียว โดยราคาเฉลี่ยในย่านสำคัญอยู่ที่ 25,600 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร แดนลอดช่องเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค ความต้องการที่อยู่ของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานจึงดันให้ราคาปรับสูงขึ้น โดยชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของประชากร 5.2 ล้านคนในสิงคโปร์ ครอบครอง 18% ของบ้านใหม่ที่เปิดขายในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
อันดับ 5 “โคลัมเบีย” ราคาอสังหาฯ ปรับเพิ่ม 39.4% เป็นประเทศเดียวจากละตินอเมริกาที่ติดโผ โดยได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวรวดเร็ว ทำให้ความต้องการซื้อบ้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นกลาง ประกอบกับโคลัมเบีย สลัดภาพการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารและกลุ่มติดอาวุธ หันมาดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ราคาบ้านปรับขึ้น
อันดับ 6 “ไต้หวัน” อสังหาฯ ราคาปรับขึ้น 30.1% ในฐานะเขตเศรษฐกิจ ที่มีประชากรหนาแน่นมากแห่งหนึ่ง การขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้ผู้คนพากันกระจุกตัวในเมืองไทเป แต่ทางการงัดมาตรการภาษีมาใช้ในปีที่แล้ว ทำให้ราคาลดลง 4.1%
อันดับ 7 “นอร์เวย์” ราคาอสังหาฯ ปรับเพิ่ม 28.7% เพราะประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันแห่งนี้ไม่ได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาเหมือนกับเพื่อนบ้านในยุโรปส่วนใหญ่ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ผู้คนพากันซื้อบ้าน ยิ่งทางการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1.5% ในเดือนมีนาคม ยิ่งก่อความเสี่ยงฟองสบู่อสังหาฯ
อันดับ 8 “แคนาดา” ราคาอสังหาฯ พุ่ง 28.7% โดยยอดขายบ้านในแคนาดาเพิ่ม 8.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาบ้านในเมืองแวนคูเวอร์แพงสุด อยู่ที่ 734,207 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งประเทศ 358,261 ดอลลาร์
อันดับ 9 “มาเลเซีย” ราคาอสังหาฯ สูงขึ้น 28.5% ปีที่แล้วราคาอสังหาฯ ในย่านสำคัญของกรุงกัวลาลัมเปอร์อยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร หลังชนชั้นกลางในประเทศต้องเผชิญกับราคาที่สูงลิ่วจากผู้ซื้อต่างชาติ ทางการมาเลย์พยายามสกัดราคาที่พุ่งสูง โดยปรับเพิ่มราคาอสังหาฯ ที่ขายให้ชาวต่างชาติ 2 เท่า
อันดับ 10 “สวิตเซอร์แลนด์” ราคาอสังหาฯ เพิ่ม 27.5% สะท้อนความบูมของตลาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ราคาอสังหาฯ เฉลี่ยในเจนีวาอยู่ที่ 31,900 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร