รถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 2542 โดยมี “คีรี กาญจนพาสน์” เป็นผู้บุกเบิก ภายใต้ปีก BTS Holding
และไม่กี่ปีถัดมาเราก็มีรถไฟใต้ดินของรฟม. ที่ได้…BMCL (ทางด่วนกรุงเทพ-รถไฟฟ้ากรุงเทพ) ต่อมากลายเป็น BEM บริษัทลูกของช.การช่าง (CK) ที่มี “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” กุมบังเหียนใหญ่ เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถ
หลายคนคงเคยนึกเปรียบเทียบ ความยิ่งใหญ่ของ 2 บริษัทนี้ วันนี้เราเลยลองทำ Infographic มาให้ดูกันคร่าวๆ
เส้นทางของ BTS ในธุรกิจอสังหาฯ
“คีรี กาญจนพาสน์” ก็เช่นเดียวกับเศรษฐีคนอื่นๆ ที่ชอบสะสมที่ดิน เขามี Landbank หลายแปลงที่ถืออยู่ทั้งในนามส่วนตัวและบริษัท ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทในเครืออย่าง “ธนายง” ก็เป็นหนึ่งในรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
หลังผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ BTS Asset ก็ได้เริ่มต้นขึ้น (BTS Asset เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนายงและ BTS) ใต้บังเหียนของรุ่นลูกอย่าง “กวิน กาญจนพาสน์” โดยมี Landbank รอพัฒนากว่า 3,000 ไร่ ประเดิม 2 คอนโดแรก Abstract พหลโยธิน พาร์ค และ Abstract สุขุมวิท
กวินได้พยายามแบ่งเป็น 2 ประเภทโครงการคือ โครงการประเภทที่ตั้งอยู่ตลอดแนวรถไฟฟ้า BTS ถือเป็นการลงทุนหลัก และโครงการประเภทนอกแนว BTS เช่น ธนาซิตี้ และโรงแรมในต่างจังหวัด ถือเป็นการลงทุนรอง
แต่ไม่กี่ปีต่อมา…กวินคงได้เรียนรู้ว่า อสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดอาจไม่ใช่ทางของเขา เลยตัดสินใจจับมือกับ “แสนสิริ” กลายเป็น “BTS-Sansiri Holding” ร่วมกันพัฒนาคอนโดใกล้รถไฟฟ้าแบรนด์ The Line โดยอาศัยที่ดินของ BTS เป็นหลัก (BTS มีที่ดินติดรถไฟฟ้าเกือบ 30 ไร่) …ซึ่งปัจจุบัน ทั้งสองบริษัทได้มีโครงการร่วมทุนมูลค่ากว่า 36,000 ลบ.
จากธุรกิจรับเหมา สู่ทางด่วนและรถไฟใต้ดิน
“ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ร่วมกับพี่น้องก่อตั้ง “ช.การช่าง” ในปีพ.ศ. 2515 โดยเริ่มแรกเป็นเพียงสำนักงานเล็กๆ ในตึกแถว 2 ชั้น ปัจจุบัน “ช.การช่าง” เป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ โดยมีโครงสร้างธุรกิจหลัก 2 ประเภทคือธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคซึ่งประกอบด้วยคมนาคมระบบน้ำและพลังงาน
BEM หรือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในเครือ ที่ช.การช่างเข้าไปถือหุ้นสูงสุด ธุรกิจของบริษัทประกอบไปด้วยการให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางพิเศษและรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นฐานรากในการขยายธุรกิจผ่านการขยายเส้นทางโครงข่ายการให้บริการ ทั้งในระบบทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าในอนาคต