ราคาคอนโดมิเนียมในทำเลสุขุมวิทตอนต้นไปถึงเอกมัยยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง โดยล่าสุดจากผลวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่าราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียมตั้งแต่สุขุมวิทซอย 1 – 63 ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 181,800 บาทสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 15% และมีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้นเรื่อยๆตามต้นทุนที่ดินซึ่งมีจำกัดโดยเฉพาะแปลงติดริมถนนใหญ่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายหันมาให้ความสนใจทำเลสุขุมวิทตอนปลายอย่างอ่อนนุชไปจนถึงสำโรง ด้วยจุดเด่นหลายประการไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง ต้นทุนราคาที่ดิน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่พรั่งพร้อม ในด้านทำเลนั้น อ่อนนุช-แบริ่ง-สำโรงสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่เมืองชั้นในอย่างสุขุมวิท เพลินจิต และสีลมได้สะดวกโดยรถไฟฟ้า BTS ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการหลากหลายรูปแบบในบริเวณนี้ ปัจจุบันโครงการ Mixed-use ที่น่าจับตามองในทำเลนี้ได้แก่
- Whizdom 101 ไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์แห่งแรกของเมืองไทยที่รวบรวมทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงานพร้อม co-working space พื้นที่ค้าปลีก และสวนสาธารณะขนาดใหญ่ไว้บนพื้นที่กว่า 350,000ตร.ม. ปากซอยสุขุมวิท 101 โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นท์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัดโครงการ Whizdom 101 พร้อมเปิดให้บริการเฟสแรก Innovation Lifestyle Complex พื้นที่ 40,000 ตร.ม. ในเดือนตุลาคม 2561 นี้
- Bangkok Mall โครงการเมกะโปรเจกต์จากเดอะมอลล์กรุ๊ป และบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด พื้นที่พัฒนาขนาด 100 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด ฝั่งตรงข้ามไบเทคบางนา ภายในมีศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์อาคารสำนักงานให้เช่า ภายใต้แนวคิด City within the City พื้นที่รวม 650,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่าง M Tower อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก สูง 21 ชั้น พื้นที่ทั้งหมดกว่า 14,500 ตร.ม. ติดถนนสุขุมวิท 62 ใกล้บีทีเอสบางจาก และภิรัช คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ทั้งนี้ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางในพื้นที่อ่อนนุช-แบริ่ง-สำโรงยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่พลิกโฉมบริเวณดังกล่าวไปสู่ทำเลที่คึกคักยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ส่วนต่อขยายแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งเชื่อมต่อกับสายสีเหลือง หัวหมาก – สำโรง ที่สถานีสำโรง โดยรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 และ 2564 ตามลำดับ (แหล่งที่มา: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย)
กราฟที่ 1
อุปทานสะสมในพื้นที่ศึกษาระหว่างปี 2552 – 2560
อุปทานสะสมเพิ่มจาก 57,622 ยูนิตในปี 2559 เป็น 62,361 ยูนิตในปี 2560 เติบโตเฉลี่ย 8.2% ต่อปี
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมบริเวณอ่อนนุช – แบริ่ง – สำโรงซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทซอย 77 ถึงถนนเทพารักษ์ และถนนสุขุมวิทซอย 50 ถึงถนนปู่เจ้าสมิงพราย ณ สิ้นไตรมาส 4 พ.ศ. 2560 มีจำนวนอุปทานสะสมทั้งสิ้นประมาณ 62,361 หน่วยในด้านอุปสงค์ คอนโดมิเนียมที่เปิดขายในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อโดยโครงการที่เปิดตัวระหว่างปี 2553 – ปี 2560 มีอัตราการขายเฉลี่ยประมาณ 96% ในขณะที่โครงการที่เปิดตัวในปี 2552 นั้นปิดไปการขายไปหมดแล้ว ทั้งนี้หากโฟกัสเฉพาะโครงการที่เปิดตัวใหม่ในปี 2560 มีอัตราการขายเฉลี่ยประมาณ 65% ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย สอดคล้องกับจำนวนอุปทานที่เข้ามาในตลาดซึ่งมีปริมาณลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จากผลวิจัยของฝ่ายวิจัย ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่าไฮไรส์คอนโดมิเนียมยังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ซื้อคอนโดมิเนียมย่านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนจากยอดขายโครงการแนวสูงทั้งหมดที่เปิดตัวในปี 2560 ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่า 60% ทุกโครงการ และบางโครงการมียอดขายสูงถึง 90%
กราฟที่ 2
อุปทานแบ่งตามเกรด
กราฟที่ 3
สถิติสะสมของคอนโดมิเนียมในพื้นที่ศึกษา ระหว่างปี 2552 – 2560
อุปสงค์สะสมเพิ่มจาก 52,789 ยูนิตในปี 2559 เป็น 55,845 ยูนิตในปี 2560 เติบโตเฉลี่ย 5.8% ต่อปี
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกด้านราคาขายเป็นรายทำเล พบว่าเมื่อเทียบกับเอกมัย ราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียมในทำเลอ่อนนุช บางนา แบริ่ง-สำโรง ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันเอกมัยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 154,500 บาทต่อ ตร.ม. ในขณะที่อ่อนนุช บางนา แบริ่ง-สำโรงมีราคาขายเฉลี่ยต่อ ตร.ม. อยู่ที่ประมาณ 105,600 บาท 86,600 บาท และ 63,500 บาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นชัดเจนขึ้นว่าทำเลอ่อนนุช บางนา และแบริ่ง-สำโรง มีราคาขายต่ำกว่าเอกมัยถึง 32% 44% และ 59% ตามลำดับ
ทำเลนี้จึงเป็นทีน่าจับตามองในด้านการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอุปสงค์และอุปทานคอนโดมิเนียมในอนาคตอันใกล้ หนุนเนื่องโดยปัจจัยบวกหลายอย่างในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคมนาคมขนส่งที่จะสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมไปถึงการขยายตัวและเปิดตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-use development) ในทำเลดังกล่าว ส่วนราคาขายของคอนโดมิเนียมย่านนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับไม่สูงมากเมื่อเทียบกับทำเลใกล้เคียงอย่างทองหล่อและเอกมัย จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่ว่าจะในแง่การลงทุนฝั่งผู้ประกอบการ การซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองของผู้ที่กำลังมองหาคอนโดมิเนียมใกล้เมือง และการซื้อเพื่อปล่อยเช่าหรือขายต่อของนักลงทุน
กราฟที่ 4
ราคาเสนอขายเฉลี่ย/ตร.ม. ของอุปทานในพื้นที่ศึกษา
กราฟที่ 5
เปรียบเทียบอุปทานสะสมระหว่างปี 2552 – 2560 ยอดขาย ณ ปัจจุบัน และราคาเสนอขายเฉลี่ยต่อ ตร.ม. ของอุปทานในพื้นที่ศึกษา