จากการที่ได้สัมผัสโดยตรงและจากข้อมูลต่างๆที่ผู้คนใช้ค้นหา ตลาดอสังหาฯหลังน้ำท่วมน่าจะมุ่งเน้นไปในแนวดิ่ง ใจกลางเมืองหรือไม่ก็ต่างจังหวัด ที่ไม่ถูกผลกระทบน้ำท่วมในปี 54 นี้ แต่เราจะคิดเดามั่วซั่วเอาเองตามอำเภอใจก็ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการ “ทึกทักไปเอง” โดยใช้ความคิดเห็นของเราแทนความคิดเห็นของคนส่วนรวม หรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นทฤษฎีที่จะบอกว่า “น้ำลด คอนโดผุด” มันเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร ก็ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์
หลักฐานชิ้นแรก ที่เราเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ จำนวนยอดแวะของลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการคอนโดมิเนียมทั้งหลายกลับเยอะขึ้น และมาจากทำเลที่ไม่คุ้นเคยเสียอีก เช่น คนลำลูกกา สายไหมมาดูคอนโดย่านดินแดง-สุขุมวิท, คนที่จะซื้อบ้านเดี่ยวแถวรามอินทราเกิดยกเลิกกระทันหันมาเอาคอนโดแถวแจ้งวัฒนะบริเวณแถวเซ็นทรัลที่น้ำไม่ท่วม หรือคนบางบัวทองมาดูคอนโดทำเลบางนา-แบริ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วคนพวกนี้น้อยมากที่จะคิดย้ายเข้าเมือง เนื่องจากบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์รอบนอกเมืองให้พื้นที่กว้างกว่ามาก และการที่คุ้นชินทำเลอยู่แล้ว ไม่น่าจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน การย้ายเข้าเมืองต้องมีเรื่องของการเดินทาง สถานที่ทำงาน และเหตุปัจจัยอีกหลายประการมาประกอบ จึงจะตัดสินใจเช่นนั้น แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ที่เห็นอย่างมันไม่ใช่ นั่นแสดงว่าคนเหล่านี้อาจซื้อ “คอนโด” ใจกลางเมือง หรือบริเวณที่น้ำไม่ท่วม เอาไว้เป็น “ที่พักแห่งที่สอง” ป้องกันตัวเองหากมีปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน
หลักฐานชิ้นที่สอง จะเห็นว่าการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ประเภท “คอนโด” สูงขึ้นมาก ทั้งจาก Foxbee.com และ ThinkofLiving.com ซึ่งการค้นหาทั้งหลายนั้นจะวนเวียนอยู่กับแนวสถานีรถไฟฟ้าที่เชื่อมถึง เมื่อลองดูจากข้อมูลทั้งหมดจะพบว่าการค้นหา “คอนโดมือสอง” สูงถึง 50-65% ของยอดการค้นหาทั้งหมด
หลักฐานชิ้นที่สาม ในวันนี้ (22 พ.ย. 54) เมื่อผมได้อ่านบทความจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เรื่อง “สถานการณ์อสังหาฯหลังน้ำลด” จึงมั่นใจว่า ความเห็นของ Think of Living ตรงกับผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์อีกหลายๆฝ่าย ดังนี้
อ้างอิง นสพ. Dailynews
CB Richard Ellis
วิกฤติน้ำท่วมจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการด้านที่พักอาศัยในเรื่องของทำเลที่ตั้ง และลักษณะที่พักอาศัย ทำเลที่ตั้งย่านใจกลางธุรกิจ หรือซีบีดี ซึ่งได้แก่ ลุมพินี เพลินจิต สาทร สีลม และสุขุมวิทตอนต้น จะได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจากเป็นเขตศูนย์กลางธุรกิจที่จะได้รับการป้องกันเป็นพิเศษ ความต้องการที่พักอาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียมที่เป็นอาคารสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนต้องการซื้อเพื่อใช้เป็นบ้านหลังที่สองในย่านใจกลางเมือง เพื่อเป็นที่พักสำรอง หากเกิดปัญหาวิกฤติน้ำท่วมขึ้นมาอีก
ในอนาคต ผู้ที่จะซื้อที่พักอาศัย จะให้ความสำคัญกับการออกแบบโครงการที่คำนึงถึงการป้องกันน้ำท่วม และจะพิจารณามาตรการในการป้องกันน้ำท่วมของแต่ละอาคารเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในตลาดบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะโครงการใหม่ จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อด้วยการออกแบบโครงการที่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมขึ้นในอนาคต
Colliers International ประเทศไทย
ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติน้ำท่วม จะทำให้ราคาที่ดินลดลงในระยะสั้น ราว 2-3 ปี เนื่องจากความวิตกกังวลของผู้คน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่จะเข้าไปช้อนซื้อที่ดินมาเก็บไว้ การอพยพออกนอกเมืองของคนกรุงเทพฯในครั้งนี้ เอื้อประโยชน์ต่อตลาดโรงแรม และตลาดเช่าที่พักอาศัย ในย่านใจกลางเมือง และจังหวัดใกล้เคียง ในทางตรงกันข้าม โรงแรมระดับบนในกรุงเทพฯ จะมีอัตราการเข้าพักที่ต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกการจองห้องพักของนักท่องเที่ยว อันเป็นผลจากการประกาศเตือนเรื่องการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ครั้งนี้จะไม่เหมือนกับช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 17 พ.ค. 54 ซึ่งผู้ซื้อจะกระโดดเข้าสู่ตลาดในทันที ส่วนใหญ่จะระมัดระวังมากขึ้น มีการชะลอการตัดสินใจซื้อบ้าน สำหรับผู้ที่วางเงินดาวน์ไปแล้ว อาจมีการทิ้งดาวน์ในพื้นที่ที่โดนน้ำท่วม โดยพื้นฐานนิสัยของคนไทย จะไม่นิยมย้ายถิ่นฐาน หลังน้ำลดจะทำการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และหาทางป้องกันหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในปีหน้า แต่จะมีการมองหาบ้านหลังที่ 2 ไว้เป็นที่อพยพสำรองมากขึ้น คอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว ในแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ยังคงได้รับความนิยม แต่การออกแบบตัวบ้านอาจเปลี่ยนไป จะเน้นเรื่องการป้องกันน้ำท่วมมากขึ้น ตลาดมือสองคอนโดมิเนียม จะกลับมาบูมอีกครั้ง คนส่วนใหญ่มองหาบ้านพักหลังที่สองเพิ่มมากขึ้น คอนโดมิเนียมในเมือง จะขายดีมากขึ้น ขณะที่บ้านพักต่างจังหวัด ก็จะมีความต้องการและราคาที่สูงขึ้น
KNight Frank ประเทศไทย
ปัญหาน้ำท่วมกรุงทำให้เจ้าของโครงการทั้งหลาย เลือกสร้างคอนโดมิเนียมในบริเวณที่น้ำเข้าไม่ถึง ทำเลที่มีศักยภาพจะเป็นบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณลุมพินี ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้คลอง
ราคาที่ดินในบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาอุทกภัยมีโอกาสที่จะกลับมาอีกในอนาคต รูปแบบลักษณะของการสร้างตึกก็จะต้องออกแบบให้ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม การดีไซน์โครงสร้างตึกใหม่ ๆ จะไม่มีชั้นจอดรถชั้นใต้ดิน เนื่องจากการก่อสร้างมีราคาสูง และไม่ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม
นอกจากนี้ ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯทำให้คนกรุงส่วนใหญ่ อพยพไปเมืองตากอากาศริมทะเล ทำให้ความนิยมซื้อบ้านหลังที่สองในเมืองแถบชายทะเล เช่น พัทยา หัวหิน และชะอำจะสูงขึ้น.