รีวิวฉบับที่ 2018 ….. สวัสดีค่ะ รีวิวฉบับนี้ถือเป็นฉบับพิเศษ ต้อนรับปีใหม่นี้เลย คราวนี้เราจะพาไปชมตึกเสร็จของแฟลตดินแดงใหม่ ที่อยู่อาศัยที่สร้างมาเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ โครงการนี้ดูแลโดยการเคหะแห่งชาติ และจะมีระยะเวลาก่อสร้างและปรับปรุงยาวนานร่วมสิบปีเลย หลายๆคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าแฟลตดินแดงที่เราเคยได้ยินมานานนั้นเป็นอย่างไร หรืออาจเคยได้ยินข้อมูลมาบ้าง คราวนี้ตึกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าแฟลตดินแดงโฉมใหม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ข้อมูลโครงการ

ทำเลที่ตั้ง

 

บนถนนมิตรไมตรี ใกล้กับถนนอโศก-มนตรีและถนนวิภาวดี-รังสิต ทำเลนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทำเลใจกลางกรุงเทพ และยังเป็นอีกหนึ่งทำเลสำคัญที่มีผู้คนอยู่อาศัยกันมานาน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่ถูกเรียกว่า ” แฟลตดินแดง ” เป็นที่อยู่อาศัยจำนวนทั้งหมด 94 อาคาร มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 36,000 คน

ความเป็นมาของแฟลตดินแดง

ที่อยู่อาศัยถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 หรือปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยจุดเริ่มต้นของแฟลตดินแดงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2493 จากกรมประชาสงเคราะห์ที่ช่วยพัฒนาและก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (รายได้ไม่เกิน 1,500 บาทต่อครัวเรือน ณ ขณะนั้น) บนที่ทิ้งขยะเดิมของกรุงเทพมหานครฯ ลักษณะเป็นบ้านไม้ 1-2 ชั้น จนมาในปี 2506 จึงเริ่มก่อสร้างในรูปแบบของแฟลต เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ใต้ถุนโล่ง โดยกรมประชาสงเคราะห์ และมีการเคหะแห่งชาติเข้ามารับช่วงต่อในปี 2516 และก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึงปี 2535

แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายปี หลายอาคารย่อมเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา แฟลตดินแดงเองก็เช่นกัน ตัวอาคารที่ทรุดโทรมลง และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนลดลง ทั้งในด้านสุขภาพและจิตใจอีกด้วย ตัวเราเองที่เป็นคนภายนอกพอพูดถึงคำว่าแฟลตดินแดง หลายคนอาจจะพาลนึกถึงแหล่งเสื่อมโทรม กลุ่มอาคารที่สกปรก หรือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม โดยที่เราก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าภายในแฟลตดินแดงที่แท้จริงเป็นเช่นไร ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เราเป็นแค่คนชั้นกลางที่ขับรถผ่านไปมา แต่ไม่เคยทำความเข้าใจและสัมผัสชุมชนนั้นจริงๆ และด่วนตัดสินใจจากสิ่งที่ได้ยินเท่านั้น

หลังจากที่เราได้ไปพูดคุยกับทางการเคหะ และ ศึกษารายละเอียดของแผนพัฒนา ปรับปรุงแฟลตดินแดงแล้วนั้น เราที่เป็นคนนอกได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และรับรู้ถึงความตั้งใจของการเคหะที่นอกจากการปรับปรุงที่อยู่อาศัยแล้ว ยังสามารถพยายามช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนนั้นได้อีกด้วย

แผนการพัฒนาชุมชนแฟลตดินแดง

ในการปรับปรุงพื้นที่ของแฟลตดินแดงนั้น จะเลือกย้ายผู้อยู่อาศัยที่อยู่ในอาคารที่ทรุดโทรมมากที่สุดมายังอาคารที่สร้างใหม่ก่อน จึงจะทำการทุบและรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อสร้างอาคารแฟลตดินแดงเฟสใหม่ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้

  • ระยะที่ 1 : แปลง G มี 1 อาคาร 334 ยูนิต ปัจจุบันสร้างเสร็จและย้ายผู้อยู่อาศัยเข้าเรียบร้อยแล้ว
  • ระยะที่ 2 : แปลง A1 และ D1 รวม 2 อาคาร 1,247 ยูนิต สถานะปัจจุบันอยู่ที่ระยะนี้ กำลังยื่นขอ EIA เพื่อขออนุญาตก่อสร้างอยู่ค่ะ คาดว่าช่วงปีนี้หรือปี 2563 จะเริ่มก่อสร้างโครงการระยะนี้กัน
  • ระยะที่ 3 : มีจำนวน 5 อาคาร รวม 3,333 ยูนิต
  • ระยะที่ 4 : จำนวน 3 อาคาร รวม 1,632 ยูนิต

ถ้าเราลองรวมจำนวนห้องพักอาศัยทั้งหมด 4 ระยะ จะอยู่ที่ 6,546 ยูนิต และจากการสำรวจจำนวนครัวเรื่องที่ต้องรื้อย้ายจะมีอยู่ทั้งหมด 5,864 ครัวเรือน นั่นแปลว่าจะมีจำนวนห้องเหลือ เพื่อปล่อยให้คนนอกเช่าได้เช่นกันค่ะ ซึ่งแรงจูงใจในการอยู่อาศัยที่แฟลตดินแดงนี้คือราคาค่าเช่าห้องที่ถูกมาก ตั้งแต่ 3 ร้อยกว่าบาท (สำหรับผู้อยู่อาศัยที่ทำสัญญาเดิม) ไปจนถึง 3 พันกว่าบาท (สัญญาที่เปลี่ยนมือจากรุ่นพ่อแม่ มายังรุ่นลูก) ส่วนผู้อยู่อาศัยอื่นๆหรือคนนอกที่สนใจจะเช่าอยู่ที่แฟลตดินแดง อาจจะต้องรอหลังจากผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายเสร็จสิ้นก่อนแล้วถึงมีโอกาสเช่าอยู่ที่แฟลตดินแดงนี้ได้นะคะ ส่วนราคาค่าเช่าห้องของผู้อยู่อาศัยอื่นๆ อาจจะต้องรอรายละเอียดเพิ่มเติมอีกที นอกจากราคาที่เป็นมิตรกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว สภาพแวดล้อมรอบๆแฟลตดินแดงยังถือเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ดึงดูดผู้คนให้มาอยู่อีกด้วย เพราะเดินทางง่าย อาหารการกินพร้อม ส่วนในแฟลตดินแดงใหม่นี้จะมีเก็บค่าบริหารจัดการเพิ่มเติมจากค่าเช่ารายเดือน เป็นเหมือนค่าส่วนกลางตร.ม.ละ 25 บาท (หรือ 825 บาทต่อเดือน)

สรุปประเภทผู้อยู่อาศัยในแฟลตดินแดง

  1. ผู้อยู่อาศัยเดิม สัญญาแรก จ่ายค่าเช่าห้อง + ค่าส่วนกลาง เริ่มต้น 1,286 บาทต่อเดือน
  2. ครอบครัวผู้อยู่อาศัยเดิม สัญญาเปลี่ยนรุ่น ราคาค่าเช่าเพิ่มประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
  3. บุคคลอื่นๆ ราคาค่าเช่าห้องยังไม่มีข้อมูลออกมาค่ะ

โดยข้อ 1,2 จะถูกทยอยย้ายเข้าอาคารใหม่ตามแผน ส่วนตำแหน่งของห้องหักอาศัยไม่สามารถเลือกได้ จะเกิดจากการจับฉลากเท่านั้น ยกเว้น ผู้สูงอายุที่ทางการเคหะต้องการให้ระบุชั้นเพื่อสะดวกในการดูแล และกลุ่มคนในข้อ 3 จะเริ่มมีสิทธิ์เช่าหลังจากผู้อยู่อาศัยเดิมและคาดว่ามีการแยกอาคารออกจากผู้อยู่อาศัยเดิมค่ะ

การเปลี่ยนแปลง

แน่นอนว่าเมื่อย้ายบ้านหรือย้ายที่อยู่อาศัย รูปแบบการใช้ชีวิตหรือวิถีการดำเนินชีวิตของเราต้องเปลี่ยนแน่นอน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือรูปแบบอาคารที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เราขอลองสรุปการเปลี่ยนแปลงของอาคารที่เห็นได้ชัดจากภายนอกมาให้ดูกันนะคะ

  1. ความสูงของตึก จากตึกสูง 5 ชั้น เป็นตึกสูง 28 ชั้น
  2. โครงการเปิด พื้นที่แต่ละอาคารต่อเนื่องกัน กลายเป็นโครงการปิด มีรั้วรอบขอบชิด
  3. มีพื้นที่ส่วนกลางของตัวเอง
  4. มีระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งรปภ. 24 ชั่วโมง , ติดตั้ง CCTV มากกว่า 88 จุด และการเข้าอาคารที่ต้องใช้ระบบ Key Card

ส่วนวิถีชีวิตของหลายๆคนต้องก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเช่นกัน เช่น เดิมทีหลายๆครอบครัวกั้นพื้นที่ใต้ถุนที่สมควรจะเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมมาเป็นพื้นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว หรือการทิ้งขยะที่เดิมทีที่บางห้องโยนขยะลงมาจากระเบียงห้องพักของตัวเองเอาดื้อๆ ทำให้เกิดความสกปรก และความไม่เป็นระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลกับคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย ดังนั้นผู้อยู่อาศัยเองจึงต้องจัดการกับข้าวของตัวเองให้เรียบร้อยด้วย แต่เราเชื่อว่ามนุษย์เองมีความสามารถในการปรับตัวอยู่แล้ว และการเปลี่ยนแปลงหลายๆครั้ง ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกันค่ะ

สิ่งที่การเคหะพยายามสร้าง ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ทางการเคหะต้องการแก้ปัญหาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นที่แฟลตดินแดงเก่าด้วย ดังนั้น ขั้นตอนออกแบบอาคารก็จะคำนึงถึงปัญหาที่พบ เช่น การต่อเติมลูกกรงเหล็กที่ระเบียงห้อง ความสกปรกของการทิ้งขยะ จุดอับสายตา มาเป็น Criteria หรือ เกณฑ์ในการออกแบบอาคารใหม่อีกด้วยค่ะ และนอกจากรูปแบบอาคารที่ออกแบบมา ยังพยายามที่จะสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ หรือการสร้าง Community ที่ดีขึ้นให้กับคนในชุมชน มีการรวมกลุ่มของคนภายในโครงการ เพื่อทำภารกิจร่วมกัน เช่น กลุ่มจัดการขยะ กลุ่มปลูกผัก กลุ่มอาสาต่างๆ ที่นอกจากจะทำให้ชุมชนรวมกลุ่มได้มากขึ้น สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ แบบที่เราไม่เห็นความสัมพันธ์รูปแบบนี้ในคอนโดมิเนียมสมัยใหม่ โดยทางการเคหะแห่งชาติก็จะช่วยในการรวมกลุ่ม จัดอบรม สร้างความรู้ เผลอๆกลายเป็นอาชีพได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มได้อีกด้วย

ซึ่งในความเป็นจริง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าแต่ละโครงการที่ทางการเคหะแห่งชาติพยายามผลักดันนั้น จะประสบความสำเร็จเต็มที่ 100% หรือไม่ คนที่ให้ความร่วมมือเป็นแค่ผู้สูงวัยหรือคนที่ผูกพันธ์กับชุมชนเท่านั้นหรือเปล่า? แต่เราชื่นชมความตั้งใจดีของทั้งคนในชุมชนและการเคหะฯ ที่จะช่วยพัฒนาชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่นโยบายที่พูดออกสื่อเท่านั้น แต่มีการกระทำที่เริ่มปฏิบัติกันจริงๆแล้วด้วยค่ะ

สภาพแวดล้อมรอบแฟลตดินแดง

อย่างที่บอกไปว่าเราได้ไปเห็นมากับตาแล้วกับโครงการแฟลตดินแดงตึกแรกที่สร้างเสร็จ ดังนั้นเราจึงขอพาผู้อ่านไปเห็นบรรยากาศของชุมชนแฟลตดินแดงรูปแบบใหม่กัน โดยจะขอพาไปดูบรรยากาศรอบๆก่อน แล้วถึงจะพาไปดูตัวโครงการจริงกันนะคะ ที่อยากให้ดูบรรยากาศรอบๆด้วย เพราะอยากให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตของคนแถวนี้ด้วยค่ะ

ถนนมิตรไมตรีเป็นถนนที่เชื่อมมาจากถนนอโศก-ดินแดง เป็นที่ตั้งของกระทรวงแรงงาน และสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น-ดินแดง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของแฟลตดินแดง แปลง G ซึ่งเป็นอาคารแรกที่สร้างเสร็จในระยะที่ 1 จากโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงนี้ค่ะ

บรรยากาศของถนนจะเป็นถนน 4 เลน มีต้นไม้ใหญ่อยู่ทั้งสองฝั่งของถนน มีทางเท้าเดินสบาย มีบรรยากาศที่ดูร่มรื่น และมีร้านอาหารข้างทางอยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะตรงข้ามกระทรวงแรงงาน ที่อยู่เยื้องๆจากโครงการไป ถือว่าเป็นที่ตั้งที่ดูมีชีวิตชีวา เกิดจากการใช้ชีวิตของคนจำนวนมากที่อยู่แถวนี้ค่ะ

ข้างๆกับแปลง G จะเป็นมัสยิดที่มีชาวมุสลิมทำกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ

ฝั่งตรงข้ามกับแปลง G จะเป็นศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ถือว่าใกล้กับแฟลตดินแดงมาก ซึ่งผู้ที่อยู่อาศัยในแฟลตดินแดงส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ที่เช่าอยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม บางท่านอยู่อาศัยมาทั้งชีวิตด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นอายุอานามของหลายๆคนก็ค่อนข้างสูงแล้ว ดังนั้นการที่มีศูนย์บริการผู้สูงอายุอยู่ไม่ไกล ถือว่าเป็นตัวช่วยเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนได้เช่นกัน

 

รายละเอียดโครงการ

 

ตัวอาคารจะเป็นอาคารสูง 28 ชั้น ในแง่การออกแบบถือว่าดูดีเหมือนกันนะคะ เราชอบการที่มีระเบียงยุบ-ยื่นออกมาจากผนัง ทำให้อาคารไม่ดูเรียบจนเกินไป

และที่น่าสนใจคือการนำเอาบล็อกช่องลมสี่เหลี่ยมมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของตัวอาคารเลย ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่วยระบายอากาศได้ดี

ตัวบล็อกช่องลมนี้ที่ชั้นล่างๆจะเป็นผนังของพื้นชั้นที่จอดรถ ส่วนชั้นบนๆจะเป็นผนังระเบียง ตรงนี้มีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาจากที่อยู่อาศัยเดิมคือ แต่เดิมพื้นที่ระเบียงของทุกห้องจะมีการต่อเติมลูกกรงเหล็กเพิ่มออกมา บางห้องยื่นออกจากพื้นที่ระเบียงด้วย ซึ่งทางผู้อยู่อาศัยก็ใช้ทั้งป้องกันโจร (เดิมเป็นตึก 4 ชั้น แถมเป็นอาคารเปิดใครจะปีนมาระเบียง บุกเข้าห้องนอนก็สามารถทำได้ง่ายๆเลย ผู้อยู่อาศัยก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการติดลูกกรงเหล็กตรงระเบียงนี้แหละค่ะ) และยังเป็นพื้นที่สำหรับตากผ้าได้อีกด้วย ทีนี้ตอนออกแบบตึกใหม่ถ้าจะมีการต่อเติมแบบเดิมคงไม่ดีแน่ นอกจากจะดูไม่เรียบร้อยแล้ว ยังสามารถเกิดอันตรายได้ด้วยถ้าน้ำหนักของลูกกรงมาก และการต่อเติมไม่ได้มาตรฐาน เพราะแรงลมบนอาคารสูงกับอาคารเตี้ยต่างกันมาก เพราะฉะนั้นจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการออกแบบระเบียงด้วยบล็อกช่องลมไปเลย ลมเข้าได้ แสงเข้าได้ ระบายอากาศได้ด้วย และดูเรียบร้อยจากภายนอก ปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัยภายในค่ะ

แฟลตดินแดงเดิมจะเป็นเหมือนกลุ่มอาคาร ไม่มีรั้วรอบ ทำให้แต่ละอาคารไม่ได้ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเท่าที่ควร เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเดินเข้า-ออกได้ ซึ่งพื้นที่เปิดก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือปฏิสัมพันธ์ของคนระหว่างอาคารก็จะมีมากขึ้น (Connectivity ภายในชุมชน) แต่ข้อเสียอย่างที่บอกไปคือเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สิน ก็อาจจะมีเรื่องจิตสำนึกความเป็นเจ้าของพื้นที่ เช่นถ้าเรารู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ภายในโครงการเป็นโครงการของเรา เราก็อยากจะดูแลให้สะอาดมากขึ้นด้วย ช่วยกันดูแลนั่นเอง ดังนั้นในอาคารใหม่การออกแบบจึงมีรั้วรอบขอบชิด มีทางเข้า-ออกชัดเจน เหมือนกันคอนโดมิเนียมทั่วๆไปที่ขายเลยค่ะ

ตัวบล็อกช่องลมก็นำมาใช้ออกแบบทางเข้านี้ด้วย ซึ่งทั้งรถและคนจะมีทางเข้า-ออกอยู่ทางเดียว มีป้อมยามอยู่ด้านหน้า นอกจากนี้ภายในโครงการนี้หรือแปลง G ที่เราเห็นจะมีติดตั้ง CCTV เอาไว้มากกว่า 88 จุด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการนี้

เข้ามาทางซ้ายมือหลังป้อมยามจะมีสวนภายในโครงการอยู่ด้วยค่ะ เป็นสวนที่ดูร่มรื่นมาก เพราะปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ค่อนข้างเยอะ

มีทางเดินทั้งแบบที่เป็นทางราบและบันไดให้สามารถเดินวนออกกำลังกายได้ ตรงนี้เราชอบนะคะ เพราะผู้สูงอายุก็สามารถมาเดินออกกำลังขาด้วยก็ได้ ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะต้องราบหมดแบบ universal design แต่จะมีขั้นบันไดเล็กๆให้ผู้สูงอายุลองยกขาขึ้นลงบ้างก็ดีเหมือนกันค่ะ นอกจากทางเดินแล้วก็จะมีพื้นที่บริเวณขอบกระบะต้นไม้ ที่สามารถนั่งเล่นได้ด้วย

เลยพื้นที่สวนเข้ามาจะเป็นอาคารตั้งอยู่ตรงกลาง มีทางเดินรถรอบๆ ตรงนี้รถสามารถขับสวนกันได้รอบตึกเลยนะคะ ในกรณีที่เป็นรถสาธารณะจะต้องขับไปทางซ้ายมือ จะมี Drop-off ที่วนหน้าตึกได้ แต่ถ้าจะขึ้นลานจอดรถก็ขับตรงไปได้เลย ส่วนรอบๆอาคารก็ยังสามารถจอดรถใต้ตึกได้อยู่ค่ะ ตอนที่ไปดูจำนวนรถก็ยังไม่เยอะมากนะคะ และมีพื้นที่สำหรับจอดมอเตอร์ไซค์ด้วยค่ะ

ที่จอดรถจะอยู่ที่ชั้น 1-6 ค่ะ ทางขึ้นลงจะอยู่จุดเดียวคือตรงไปอยู่ซ้ายมือ

เดิมทีระบบการจัดการขยะของคนที่อยู่ในแฟลตดินแดงเก่าจะมีช่องบริเวณระเบียงห้องพักอาศัยให้โยนขยะลงมาเลย แต่ว่าพอโยนลงมาถุงที่ใส่ขยะก็จะแตก ส่งกลิ่นบ้าง สกปรกบ้าง ในอาคารใหม่นี้เลยเป็นระบบแบบที่ทุกคนต้องนำขยะของตัวเองลงมาทิ้งข้างล่างค่ะ โดยจะมีกลุ่มอาสาที่ช่วยดูแลเรื่องขยะให้โดยเฉพาะ มีการแยกขยะ และแยกพื้นที่สำหรับทิ้งขวดพลาสติกไว้ด้วย ในเรื่องความสะดวกสบายของคนที่อยู่อาศัยในห้องอาจจะต้องลำบากขึ้น แต่ก็ต้องช่วยกันปรับวิถีการใช้ชีวิตเพื่อให้ภายในโครงการเราน่าอยู่มากขึ้น พื้นที่ต่างๆก็จะได้สวยสะอาดน่าใช้งานในระยะยาวค่ะ

ที่จอดรถบนอาคารจะจำกัดความสูงของรถที่ขึ้นได้อยู่ที่ 2 เมตรนะคะ มีไฟติดไว้เป็นระยะช่วยส่องสว่าง ตอนไปดูที่จอดรถไม่เต็มนะคะ ส่วนใหญ่ก็จะมีรถมอเตอร์ไซค์ค่อนข้างมาก

ใต้อาคารก็ยังมีที่จอดรถอยู่เหมือนกัน รถกระบะหรือรถตู้ที่หลังคาสูงอาจจะต้องมาจอดใต้อาคารอาคารหรือรอบๆอาคารแทน ที่น่าสนใจคือสภาพแวดล้อมรอบๆอาคารถูกจัดด้วยพื้นที่สีเขียวค่อนข้างเยอะเลย อย่างเช่นต้นไม้ใหญ่และพุ่มไม้รอบๆกำแพง ที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้ภายในโครงการดูร่มรื่นด้วย

และจะมีพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่มาให้โดยเฉพาะ อย่างน้อยถ้าคนที่คิดอยากจะสูบบุหรี่ชั้นล่างมาสูบที่จุดเดียวกัน การดูแล ทำความสะอาดก็จะง่ายขึ้นด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดไม่กำหนดจุดเอาไว้ บางทีเราอาจะเห็นก้นบุหรี่หล่นรอบๆอาคารเลยก็ได้นะคะ

เดินมาดูด้านข้าง ตรงนี้จะถูกจัดให้เป็นจุด Drop-off เรียกรถสาธารณะก็ให้วนเข้ามาส่งตรงนี้ได้ พื้นที่ด้านใต้จะมีห้องทำงานของนิติบุคคลอาคารอยู่ค่ะ

มองขึ้นไปดู อาคารออกแบบมาดูน่าสนใจนะคะ มีส่วนที่ยื่นออกมาด้วยเป็นห้องอเนกประสงค์

หน้าทางเข้าอาคารจะมีพื้นที่ใต้อาคารอยู่ มีร่มเงาและมีที่นั่งอยู่เล็กน้อย ตรงนี้ลมดีมากเลยค่ะ นั่งแล้วเย็นสบาย ลมพัดผ่านไม่ต้องอาศัยแอร์ ส่วนตัวอาคารจะเข้าจากประตูที่เห็นทางซ้ายมือนะคะ คนที่จะเข้าจะต้องมี Key Card เพื่อ Scan เข้า ด้านในจะมีพี่รปภ.นั่งอยู่ช่วยดูแลความเรียบร้อยด้วยอีกคนค่ะ

เข้ามาจะเป็น Mail Box แยกห้องให้ค่ะ

ที่นี่จะมีลิฟต์โดยสารให้อยู่ 3 ตัว (มีลิฟต์ Service หรือลิฟต์ดับเพลิงแยกอีก 1 ตัว) เทียบกับจำนวนยูนิตที่มีอยู่ 334 ยูนิตถือว่าไม่หนาแน่นมากค่ะ ไม่ต้องรอนาน

จุดที่น่าสนใจอีกจุดคือการออกแบบที่อิงหลัก universal design หรือพื้นปุ่มๆที่มีความหมายว่าหยุด (ให้คนที่พิการหรือสายตาเรือนรางสามารถรับรู้ได้ว่าต้องหยุดหรือทางที่เดินอยู่ถึงจุดที่ต้องเลี้ยวแล้วนะ)

ขึ้นมาชั้น 2 จะมีพื้นที่ที่จัดเป็นนิทรรศการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแฟลตดินแดง ที่มาที่ไป ขั้นตอนการปรับปรุงโครงการต่างๆ ส่วนนี้ทำออกมาได้สวยงามดีเลยนะคะ บุคคลภายนอกสามารถเข้าชมพื้นที่ส่วนนี้ได้ค่ะ

ส่วนตัวมองว่าประโยชน์ของนิทรรศการนี้ไม่ใช่จัดไว้โชว์เฉยๆ แต่คนที่จะได้ประโยชน์จริงๆจะเป็นคนที่อยู่อาศัยที่แฟลตดินแดงมากกว่า ที่จะเข้าใจว่าทำไมพวกเขาต้องย้ายบ้าน ประโยชน์ที่พวกเขาจะได้คืออะไร และพื้นที่บริเวณนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง เห็นภาพรวมในระยะยาวด้วยค่ะ

นอกจากจะทำความเข้าใจที่มาที่ไปแล้ว ยังจะได้เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นหน้าตาของอาคารที่จะเกิดขึ้นในระยะที่ 2 หรือเฟสถัดไปที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ด้วย

และที่น่าสนใจอีกอย่างคือความพยายามสร้าง Smart Community ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถอยู่กันได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน เช่น การคำนึงถึงความปลอดภัย , สภาพแวดล้อม , การประหยัดพลังงาน , การจัดการของเสีย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ามองจากมุมมองของคนทั่วไปหรือคนภายนอกอาจจะมีอคติบ้างว่าเป็นแค่ทฤษฎีรึเปล่า? จะทำได้จริงหรือ? แต่ส่วนตัวแล้วเรามองว่าลองกำหนดวิธีทำมาก่อน ลองลงมือทำ ถ้าได้ไม่ถึง 100% ของสิ่งที่คิดไว้ก็ไม่เป็นไร เราสามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาด แล้วนำมาปรับปรุงกันได้ ดีกว่าไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้เลย จริงไหมคะ?

ที่ชั้น 6 จะมีห้องอเนกประสงค์อยู่ เป็นห้องที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย เหมาะกับการสร้างกิจกรรมร่วมกันของคนในอาคาร ที่เกิดขึ้นแล้วก็เช่นกิจกรรมสวดมนต์ร่วมกันในวันพระ หรือจะเป็นกิจกรรมอย่างร้องคาราโอเกะ หรือจะวันปีใหม่ก็จัดงานเล็กๆร่วมกัน มีพื้นที่หลังเวทีให้ด้วยนะคะ

ขึ้นมาอีก 1 ชั้นจะมีสวนอยู่ที่ชั้นนี้ค่ะ โดยพื้นที่สวนนี้จะปลูกต้นไม้สูงเยอะเลย ตอนนี้ต้นไม้ยังอาจไม่โตเต็มที่ และยังเป็นฤดูใบไม้ร่วงอีกด้วย แต่ถ้าต้นไม้โตน่าจะร่มรื่นพอดู มานั่งเล่นใต้ร่มไม้ได้สบายเลยค่ะ

ที่บอกไปตอนต้นว่าระเบียงห้องจะนำเอาบล็อกช่องลมมาใช้ ทำให้มองเข้าไปดูเรียบร้อย จากที่เห็นคือมีคนอยู่อาศัยเต็มทั้งโครงการแล้วนะคะ

อีกพื้นที่ที่น่าสนใจคือชั้นดาดฟ้าค่ะ ที่ชั้นนี้จะปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้ จุดประสงค์คือเอาไว้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารให้กับคนในชุมชน ตอนที่ได้ฟังครั้งแรกเราไม่ได้รู้สึกว่าแปลกใหม่อะไร เคยเห็นในคอนโดมิเนียมทั่วๆไปอยู่เหมือนกัน แต่พอขึ้นมาดูแล้วค่อนข้างประทับใจเลยนะคะ เพราะพื้นที่ทั้งดาดฟ้ากลายเป็นแปลงผักจริงจังมาก

ที่สำคัญคือคนในอาคารนี่แหละค่ะ ที่แบ่งหน้าที่กันมาดูแล ปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ แบ่งเวรกันชัดเจน และไม่ใช่ใครก็จะขึ้นมาที่ชั้นนี้ได้นะคะ จะมีเวลาเปิด-ปิดด้วยค่ะ ผักที่ปลูกบอกได้เลยค่ะว่าหลากหลายมาก ตั้งแต่ผักสวนครัวเอาไปทำต้มยำทำแกงได้ หรือจะเป็นผักสลัด ดอกไม้ ผลไม้ มีไปจนถึงบ่อปลาดุกเลยค่ะ

นอกจากนี้จะมีพื้นที่นั่งเล่นอยู่ด้วย อากาศดี ลมดี วิวดีด้วยค่ะ

ลองดูวิวกันซักนิดดีกว่า หันไปที่ทิศตะวันออกฝั่งถนนรัชดาภิเษก

หันไปทางทิศใต้ เห็นตึกใบหยกด้วย

หันไปทางทิศตะวันตกจะเป็นทางไปอนุสาวรีย์ชัยฯ

ทางทิศเหนือจะเป็นกลุ่มอาคารแฟลตดินแดงเดิม ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 ในอนาคตค่ะ (คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างบางส่วนปีนี้แล้วนะ)

เห็นพื้นที่รอบๆและส่วนกลางของแฟลตดินแดงกันไปแล้ว เดี๋ยวเราจะพาไปดูห้องพักอาศัยกันค่ะ ก่อนที่จะเข้าห้องมาดูที่ทางเดินหน้าห้องกันก่อน เราชอบที่มีแสงสว่างทั้งสองฝั่งของปลายทางเดิน ที่ช่วยให้ทางเดินสว่าง ในเวลากลางวันก็ไม่ต้องเปิดไฟ

แบบห้อง

ห้องพักอาศัยของที่นี่จะมีอยู่แบบเดียว ขนาด 33 ตร.ม. ใครจะได้อยู่ห้องไหน ตำแหน่งใดอาศัยการจับฉลากเอานะคะ รูปแบบห้องพักจะแยกพื้นที่แต่ละฟังก์ชันออกเป็นสัดส่วน คือเข้าไปในห้องจะเจอกับห้องนั่งเล่น ถัดเข้าเป็นเป็นห้องนอนปิด เป็นสัดส่วน อีกฝั่งจะเป็นห้องน้ำ และห้องครัว โดยที่ห้องครัวจะเชื่อมต่อกับระเบียง ติดมุ้งลวดให้เรียบร้อย ระบายอากาศได้ค่ะ

ในแต่ละห้องของแฟลตดินแดงจะไม่จำกัดจำนวนผู้อยู่อาศัยนะคะ แต่ผู้อยู่อาศัยเดิมที่มีจำนวนสมาชิกในบ้านมากกว่า 5 คน (หรือมี 6 คนขึ้นไป) สามารถยื่นเรื่องขอเช่า 2 ห้องได้ค่ะ เห็นจำนวนสมาชิกในบ้านเยอะ เราอาจนึกภาพตามได้ว่าบางครอบครัวทุกพื้นที่จะต้องใช้งานแบบ Multi-Function หรืออเนกประสงค์กันจริงๆ กินข้าว นอนเล่น ดูทีวีในพื้นที่เดียวกันค่ะ

มาดูตัวห้องกันต่อ สิ่งที่น่าสนใจจุดแรกที่เห็นเลยคือประตูทางเข้าที่จะมีอยู่ 2 ชั้น เป็นประตูเลื่อน มีกรงเหล็กและมุ้งลวดอยู่ชั้นนอก และประตูทึบลูกบิดหมุนอยู่ด้านใน ที่ทำแบบนี้เหตุผลส่วนหนึ่งคือการใช้งานภายในห้องของผู้อยู่อาศัย หลายๆคนไม่มีแอร์นะคะ ดังนั้นการระบายอากาศภายในห้องจึงจำเป็นมาก บางห้องถ้าอยู่อาศัยเองก็จะเปิดประตูทึบไว้ ปิดแค่ประตูที่เป็นมุ้งลวด ลมจากภายนอกก็จะพัดเข้ามาได้ง่ายขึ้น ห้องเย็นขึ้นด้วยค่ะ

ส่วนที่เป็นมุ้งลวดสามารถหาแม่กุญแจมาล็อกเองได้ด้วยทั้งจากภายนอกและภายใน

เข้ามาภายในห้องจะเป็นห้องเปล่าๆแบบนี้ รูปแบบห้องภายในโครงการจะมีอยู่แบบเดียวและขนาดเดียวคือ 33 ตร.ม. เลือกตำแหน่งห้องเองไม่ได้นะคะ ใช้วิธีจับฉลากเอา ที่น่าสนใจคือการแบ่งพื้นที่ใช้งานภายในห้องที่ดูแล้วค่อนข้างเป็นสัดส่วนดี แยกห้องนอน ห้องน้ำ ครัว และพื้นที่นั่งเล่นออกจากกันชัดเจน

วัสดุภายในห้องจะเป็นกระเบื้องเซรามิค ผนังทาสีขาว ไฟซาลาเปา ความสูงห้องอยู่ที่ 2.4 เมตร ส่วนแรกที่จะเจอคือห้องนั่งเล่นที่มีขนาดกว้าง 3.2 x 3.6 เมตร

ครอบครัวไหนสมาชิกเยอะพื้นที่ตรงนี้อาจจะถูกจัดเป็นที่นอนด้วยก็ได้ ในแต่ละห้องจะถูกเรียกว่าครัวเรือน ซึ่งแปลว่าไม่จำกัดจำนวนผู้อยู่อาศัยในห้องนะคะ แต่ว่าถ้าใครอยากเช่า 2 ห้องจะมีเงื่อนไขคือครอบครัวนั้นต้องมีสมาชิกเกิน 6 คน (แล้วก็อย่าไปหลอกนะคะ เพราะทางการเคหะฯก็จะทำการสำรวจเรื่อยๆ ตามความเป็นจริง)

ข้างๆพื้นที่นั่งเล่นจะเป็นห้องน้ำ ตรงนี้ระหว่างประตูทางเข้าและห้องน้ำจะมีพื้นที่เล็กๆเป็นมุมสำหรับวางชั้นวางของ เก็บรองเท้ากำลังดีเลยค่ะ

ภายในห้องน้ำเรามองว่าทำออกมาค่อนข้างดีเลย มีพัดลมระบายอากาศให้ ใต้อ่างล้างหน้าก็ทำ Built-in ดูเรียบร้อยสวยงาม ที่สำคัญคือมีราวจับไว้ให้ อำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ

อ่างล้างหน้าและสุขภัณฑ์จะได้ของ Cotto ค่ะ ฝังครึ่งหนึ่งในเคาน์เตอร์ บนเคาน์เตอร์ก็วางข้าวของเครื่องใช้ได้

พื้นที่อาบน้ำจะได้ฝักบัวอาบน้ำมา รอบๆก็มีติดราวจับไว้ให้อีกด้วย

พื้นที่อาบน้ำขนาดประมาณ 93 x 80 ซม.ค่ะ ใช้งานสบาย หมุนตัวสะดวก

ฝักบัวของ Prema มีที่วางสบู่ของ Cotto

ต่อไปจะพาไปดูห้องนอนกันนะคะ จากผังห้องของแฟลตดินแดงเดิมจะเป็นห้องโล่งๆยาวลึก แต่ผังแบบใหม่จะมีห้องนอนที่แบ่งพื้นที่ชัดเจน

ภายในห้องนอนมีขนาด 2.85 x 3 เมตร วางเตียง หรือปูฟูก วางตู้เสื้อผ้าหรือชั้นวางของได้ค่ะ อยู่สบายเลย พื้นที่พักผ่อนที่เป็นห้องปิดก็จะได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

มีหน้าต่างอยู่ข้างๆ ถ้าเราเปิดประตูและหน้าต่างของห้องนอน และปิดเฉพาะประตูมุ้งลวดด้านหน้า ลมก็จะพัดเข้า-ออกภายในห้องได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

ไปต่อกันที่ครัวกัน ภายในครัวกับส่วนนั่งเล่นจะไม่ได้มีประตูกั้นนะคะ เป็นครัวเปิด

ตรงนี้จะมีที่ว่างเอาไว้วางชั้นวางของหรือตู้เย็นได้ หรือจะเป็นโต๊ะทานข้าวเล็กๆก็ได้ และจะมีเคาน์เตอร์ครัวก่อมาให้แบบนี้ ส่วนประตูจากครัวออกไปยังระเบียงจะเป็นประตู 2 ชั้น เป็นประตูทึบและมุ้งลวด เพื่อให้ระบายอากาศภายในครัวได้ดี นอกจากนี้คือข้างๆเคาน์เตอร์ครัวจะมีหน้าต่างบานเกล็ด หมุนเปิด-ปิดได้ ช่วยระบายอากาศเพิ่มค่ะ

เคาน์เตอร์ครัวที่ให้มายาว 1.5 เมตร กรุกระเบื้องทั้งบนเคาน์เตอร์และผนังด้านหลัง เวลาทำครัวมีคราบอะไรก็ทำความสะอาดได้ง่าย

ใต้เคาน์เตอร์มีที่วางของอยู่ จะเอาถังขยะมาวางไว้ใต้นี้ก็ได้ค่ะ หรือเก็บพวกถัง กะละมัง ก็วางได้พอดี ดูเรียบร้อย

ออกมายังระเบียงตัวระเบียงที่บอกไปคือ แทนที่จะเป็นราวกันตก แต่จะเป็นผนังที่ก่อด้วยบล็อกช่องลม ช่วยให้ลมพัดเข้าได้ดีและดูเรียบร้อยเมื่อมองจากภายนอก

ด้านบนมีท่อระบายอากาศ และมีระแนงติดไว้ เผื่อห้องไหนติดแอร์ก็ยก Condensing unit ไปแขวนไว้ด้านบนได้

ระเบียงตรงนี้สามารถกลายเป็นพื้นที่ซักล้างได้ มีก็อกน้ำ ท่อระบายน้ำพร้อม ซักผ้าตากผ้าได้ค่ะ

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับบทความนี้ ส่วนตัวเรามองว่าแฟลตดินแดงเป็นที่อยู่อาศัยที่สร้างมาเพื่อคนรายได้น้อยจริงๆ ซึ่งในปัจจุบันที่อยู่อาศัยต่างๆเหมือนจะทำมาเพื่อชนชั้นกลางไปจนถึงคนระดับบนมากกว่า ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโปรเจคที่น่าสนใจ น่าศึกษา และน่านำมาเล่าให้ผู้อ่านของ Thinkofliving อ่านและเห็นภาพไปพร้อมๆกัน

สิ่งที่เราว่าน่าสนใจอาจจะไม่ใช่เรื่องความสวยงาม เรื่องวัสดุ เรื่องสุนทรียศาสตร์ในการใช้ชีวิตหรือใช้พื้นที่ส่วนกลางต่างๆ แต่หัวใจของที่อยู่อาศัยในแฟลตดินแดงคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะไม่ว่าจะรายได้มากหรือน้อยทุกคนก็มีสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในที่ที่มีความปลอดภัย ความสะอาดเท่าๆกัน และการที่สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยดี ก็จะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นด้วย คนที่อยู่อาศัยก็จะมีกำลังในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีอย่างเท่าเทียมกันด้วยค่ะ

แล้วเจอกันใหม่ในบทความต่อไปนะคะ
ขอบคุณทุกคนค่ะ

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving